บางคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องของสินเชื่อแบบบอลลูนกันมาบ้างแต่ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร หรือบางคนก็อาจจะไม่เคยได้ยินหรือรู้จักเลยด้วยซ้ำ วันนี้เราจะมาแถลงไขเรื่องของสินเชื่อแบบบอลลูนกัน ว่าเป็นสินเชื่อรูปแบบไหนกัน
ที่มาของสินเชื่อแบบบอลลูน
ที่มาของชื่อบอลลูนก็มาจากรูปแบบของสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระคืนรายเดือนเป็นในระยะเวลาที่กำหนดเป็นงวด ๆ ละเท่ากัน แต่จะมีเงินก้อนที่ต้องจ่ายคืนในงวดสุดท้ายที่มากกว่าค่างวดรายเดือนที่จ่ายมาก่อนหน้านั้น เงินก้อนในงวดสุดท้ายที่ต้องจ่ายมากกว่ามีลักษณะเหมือนเป็นบอลลูนที่ใหญ่ตอนปลายขึ้นมานั่นเอง ในเมืองนอกสินเชื่อแบบบอลลูนมักจะใช้กันในการปล่อยสินเชื่อบ้านและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในประเทศเราที่เห็นมีสินเชื่อแบบบอลลูนส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อการเช่าซื้อรถยนต์
เดิมสินเชื่อแบบบอลลูนในประเทศไทยจะใช้กันเฉพาะในการเช่าซื้อรถยนต์ที่มีราคาแพง อย่างรายแรก ๆ ที่ใช้ก็จะเป็นยี่ห้อบีเอ็มดับเบิ้ลยู แต่ในระยะหลังมานี้หลายค่ายรถยนต์ก็นำสินเชื่อแบบบอลลูนนี้มาเป็นโปรแกรมทางเลือกในการผ่อนรถยนต์ของลูกค้า โดยจะใช้ตั้งชื่อของสินเชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น สินเชื่อผ่อนแบบสบายดี สินเชื่อแคมเปญเบา ๆ โดนใจ เป็นต้น ซึ่งที่จริงก็คือสินเชื่อแบบบอลลูนนั่นเอง
ลักษณะของสินเชื่อแบบบอลลูน
มาดูตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจสินเชื่อบอลลูนกันมากขึ้นดีกว่า
สมมติว่าเราจะซื้อรถยนต์เงินผ่อนคันหนึ่งในราคา 1,124,000 บาท เงินดาวน์ 337,200 บาท ยอดจัดไฟแนนซ์ คือ 786,800 บาท
หากเป็นสินเชื่อผ่อนรถยนต์แบบธรรมดา เลือกผ่อน 4 ปี ค่างวดที่ต้องจ่ายจะเท่ากับ 18,031 บาทต่อเดือน จ่ายเท่ากับทุกงวดไปเวลา 48 เดือน แต่หากเป็นการผ่อนแบบบอลลูน งวดที่ 1-47 จะผ่อนอยู่ที่เดือนละ 9,248 บาท และในงวดสุดท้ายงวดที่ 48 จะต้องจ่ายเงินก้อนคืน 515,048 บาท (อ้างอิงจากตารางผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ของฮอนด้า)
จากตัวอย่างข้างต้น หากเลือกสินเชื่อแบบบอลลูนค่างวดที่เราจะต้องจ่ายทั้งหมด 48 งวดเป็นเงิน (9,248×47) + 515,048 = 949,704 บาท คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด 162,904 บาท ส่วนสินเชื่อแบบธรรมดาค่างวดที่ต้องจ่ายทั้งหมดเท่ากับ 18,031 x 48 = 865,488 บาท คิดเป็นดอกเบี้ย 78,688 บาท
หากเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายของสินเชื่อแบบบอลลูนและสินเชื่อแบบธรรมดาจะเห็นว่าสินเชื่อแบบบอลลูนคิดดอกเบี้ยมากกว่าอยู่กว่าเท่าตัวทีเดียว แต่ภาระในการผ่อนรายเดือนช่วงแรกของสินเชื่อแบบบอลลูนก็น้อยกว่าสินเชื่อแบบธรรมดาอยู่เกือบครึ่งหนึ่งเช่นกัน
ทางเลือกในการจัดการเงินก้อนบอลลูนงวดสุดท้าย
สินเชื่อแบบบอลลูนยังมีความยืดหยุ่นให้กับผู้เช่าซื้อสามารถเลือกโปรแกรมในการปิดสัญญาสินเชื่อบอลลูนได้ถึง 3 วิธีด้วยกัน
- วิธีแรก คือ เมื่อผ่อนแบบบอลลูนรายเดือนมาจนถึงงวดสุดท้ายและผู้เช่าซื้อจ่ายเงินก้อนงวดสุดท้ายเรียบร้อย ก็จะได้กรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของรถยนต์
- วิธีที่สอง คือ เมื่อผ่อนชำระรายเดือนมาจนถึงงวดสุดท้าย ผู้เช่าซื้อสามารถเลือกผ่อนเงินก้อนบอลลูนในงวดสุดท้ายนั้นต่อไปได้ โดยใช้เงื่อนไขและข้อตกลงใหม่ เช่น ดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนคืนเมื่อถึงเวลานั้น กรณีเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อจะใช้รถยนต์คันดังกล่าวต่อไป
- วิธีที่สาม คือ ผู้เช่าซื้อสามารถนำรถยนต์คันที่ใช้อยู่มาเปลี่ยนเป็นคันใหม่ใหม่ โดยขายรถยนต์คืนให้กับบริษัทนำเงินมาปิดสัญญาเก่า เงินส่วนต่างให้นำมาเป็นเงินดาวน์ของรถยนต์คันใหม่
สินเชื่อทั้งสองแบบ คือ แบบบอลลูนและแบบธรรมดาก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป เรามาดูสรุปกันดีกว่า ว่าข้อดีข้อเสียของสินเชื่อแบบบอลลูนมีอะไรบ้าง
ข้อดีของสินเชื่อแบบบอลลูน
- เพิ่มความยืดหยุ่นในการผ่อนค่างวดต่อเดือนให้กับผู้เช่าซื้อรถยนต์
- ช่วยให้ผู้เช่าซื้อสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น
- มีทางเลือกในการปิดสัญญาถึง 3 แบบคือเลือกจ่ายเงินก้อนเพื่อได้กรรมสิทธิ์ทันที, เลือกผ่อนรถยนต์ต่อ หรือเลือกนำรถยนต์มาเปลี่ยนเป็นคันใหม่
- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนรถยนต์บ่อย ๆ เช่น ทุก 4-5 ปี เงินผ่อนค่างวดรายเดือนเปรียบได้กับเป็นค่าเช่าในการใช้รถยนต์
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการผ่อนรายเดือนน้อยและแพลนว่าจะมีรายได้เป็นก้อนเข้ามาในอนาคต
ข้อเสียของสินเชื่อแบบบอลลูน
- ดอกเบี้ยแพงกว่ามากสำหรับค่างวดรายเดือนที่ผ่อนแบบบอลลูน
- หากเลือกผ่อนเงินก้อนบอลลูนต่อก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อไปอีก
- หากต้องการปิดค่างวดก่อนกำหนดจะไม่มีส่วนลดดอกเบี้ย
- ไม่สามารถใช้ร่วมกับส่วนลดดอกเบี้ยในกรณีอื่น ๆ ได้
- หากไม่สามารถหาเงินก้อนมาจ่ายงวดสุดท้ายได้จะต้องขายรถยนต์คืนให้กับบริษัท