บัตรเครดิต ได้กลายเป็นสิ่งอำนวยสะดวกแทนการใช้เงินสดของผู้คนในปัจจุบันมานานหลายปีแล้ว การพกบัตรเครดิตไว้ในกระเป๋าสตางค์สักใบก็ช่วยให้ไม่ต้องพกเงินเป็นจำนวนมาก ช่วยในเรื่องของความปลอดภัยในการต้องพกเงินสดด้วยเช่นกัน การสมัครบัตรเครดิตก็ไม่ยากเพียงแค่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ธนาคารกำหนดไว้ เช่น มีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ไม่เคยมีประวัติหนี้เสีย เพียงแค่นี้ก็สามารถเป็นเจ้าของบัตรเครดิตได้แบบง่าย ๆ
แต่อย่างไรก็ตามการใช้บัตรเครดิตก็ยังมีปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยอยู่บ้าง อย่างในกรณีที่เราทำกระเป๋าสตางค์หายหรือกระเป๋าโดนขโมยไป และแน่นอนว่าบัตรต่าง ๆ รวมถึงบัตรเครดิตของเราที่อยู่ในกระเป๋าก็ย่อมสูญหายหรือถูกขโมยไปด้วย คนที่ขโมยหรือเก็บกระเป๋าได้ก็อาจนำบัตรเครดิตของเราไปรูดซื้อสินค้า
ปัญหาก็คือใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ?
หากมีการใช้บัตรที่ถูกขโมยไปจะเป็นธนาคารเจ้าของบัตรที่ต้องรับผิดชอบ หรือจะเป็นผู้ถือบัตรที่ไม่ได้เป็นคนรูด ทางธนาคารก็แน่นอนต้องมองว่าเป็นเพราะผู้ถือบัตรรับผิดชอบดูแลบัตรของตนเองได้ไม่ดี จึงทำให้ถูกขโมยไปสร้างความเสียหายขึ้นดังนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะที่ทางด้านเจ้าของบัตรก็มองในมุมว่าบัตรเครดิตหายแบบสุดวิสัย แถมเงินนั้นเราเองก็ไม่ได้เป็นคนใช้ด้วยจะให้เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดเลยก็คงจะไม่ไหวเหมือนกัน
เจ้าของบัตรหลายคนที่มีปัญหาเรื่องบัตรเครดิตหายหรือถูกขโมยไปและหัวขโมยนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า แม้เจ้าของบัตรจะโทรไปที่ธนาคารเพื่ออายัดบัตรเครดิตแล้ว แต่ธนาคารก็ยังยืนยันที่จะให้เจ้าของบัตรเป็นผู้รับผิดชอบในจำนวนเงินเหล่านั้นอยู่ดี ธนาคารมักอ้างถึงข้อกำหนดที่อยู่ในเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตว่าในกรณีที่บัตรสูญหาย ถูกโจรกรรมหรือมีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีบัตรโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัตร เจ้าของบัตรจะต้องแจ้งให้ธนาคารทราบทันทีเพื่อระงับการใช้บัตรรวมถึงยกเลิกรหัสกดเงินสด เมื่อได้รับแจ้งธนาคารจะทำการระงับการให้บริการบัตรเครดิตดังกล่าวภายใน 5 นาที แต่อย่างไรเจ้าของบัตรจะต้องรับผิดชอบในจำนวนหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งดังกล่าวหากมีผู้นำบัตรเครดิตไปใช้
เงื่อนไขและข้อกำหนดนี้ธนาคารจะระบุไว้ในสัญญาการใช้บัตรเครดิตที่เจ้าของบัตรมักไม่ค่อยได้อ่านกัน และก็เป็นเงื่อนไขนี้เองที่ธนาคารมักกล่าวอ้างถึงอยู่เสมอในกรณีที่เกิดความเสียหายจากบัตรเครดิตหายหรือถูกขโมยให้เจ้าของบัตรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ในฐานะของผู้ถือบัตรแน่นอนย่อมไม่มีใครอยากที่จะต้องรับผิดชอบกับเงินที่เราไม่ได้เป็นคนใช้ แต่จะทำอย่างไรดีในเมื่อเกิดเหตุแบบนี้แล้วและทันทีที่ทราบก็ได้โทรแจ้งอายัดบัตรเรียบร้อยแล้ว แต่ธนาคารก็ยังให้รับผิดชอบกับหนี้ที่เราไม่ได้เป็นคนก่ออยู่ดี ผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่ที่ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายเมื่อธนาคารอ้างถึงเงื่อนไขในสัญญาก็ยอมที่จะจ่ายเงินไปแต่โดยดี ส่วนบางคนที่ไม่อยากจ่ายหรือไม่มีเงินจ่ายก็กลัดกลุ้มว่าจะทำอย่างไรดี ที่จริงแล้วเรื่องบัตรเครดิตหายแล้วมีความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้มีกรณีฟ้องศาลและมีคำพิพากษาออกมาหลายคดีด้วยกัน คำพิพากษาในคดีเหล่านี้เองที่จะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องของความรับผิดชอบต่อหนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิตถูกขโมยได้ มาดูตัวอย่างคำพิพากษาเหล่านี้กัน
คำพิพากษาศาลฎีกา 2840/2550
คดีนี้เป็นการฟ้องร้องของธนาคารซึ่งโจทก์ให้ผู้ถือบัตรซึ่งเป็นจำเลยชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากบัตรเครดิตที่ถูกขโมยไป จำเลยได้แสดงหลักฐานและมีการนำสืบพยานจนทำให้ศาลเห็นว่าบัตรเครดิตของจำเลยหายไปจริง และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรตามจำนวนเงินที่ธนาคารเรียกร้องมา ศาลฎีกาจึงตัดสินดังนี้ จำเลยต้องรับผิดชอบในหนี้บัตรเครดิตที่เกิดจากการที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของจำเลยไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอมหรืออนุญาต แต่การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกขโมยไปย่อมแสดงว่าจำเลยไม่ได้ยินยอมหรืออนุญาตให้มีการใช้บัตรเครดิตนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ ซึ่งคดีนี้จำเลยชนะติดต่อกันทั้งสามศาล
คำพิพากษาศาลฎีกา 1989/2552
คดีนี้เป็นการฟ้องร้องของธนาคารต่อจำเลยที่เป็นผู้ถือบัตรเครดิตให้จ่ายหนี้ในขณะที่จำเลยไม่จ่ายโดยอ้างว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตร เนื่องจากได้เดินทางไปฮ่องกงและบัตรเครดิตได้สูญหายไปในระหว่างนั้น มีผู้ขโมยบัตรเครดิตของจำเลยไปและปลอมลายมือชื่อเพื่อใช้บัตรเครดิตนั้นเพื่อรูดซื้อสินค้า โดยโจทก์ได้อ้างถึงข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดในกรณีบัตรเครดิตสูญหาย ถูกขโมย หรือถูกใช้โดยบุคคลอื่นด้วย โดยจำเลยได้โทรแจ้งเรื่องบัตรหายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลาประมาณบ่ายสามโมง ในขณะที่ยอดหนี้ที่รูดจากบัตรไปเป็นการรูดที่ร้านเจมาร์ท เซ็นทรัลลาดพร้าว ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลา 11.05 น. ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ถือแจ้งอายัดบัตรกับทางธนาคาร ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดชอบต่อหนี้นี้ จำเลยยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
เรื่องต่อเนื่องถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาได้พิจารณาเงื่อนไขและข้อกำหนดการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ว่าเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมหรือไม่ โดยศาลฎีกาได้พิจารณาเห็นว่าข้อกำหนดข้อ 8 ที่ให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีบัตรสูญหายหรือถูกโจรกรรมก่อนที่จะแจ้งอายัดบัตรกับธนาคารนั้น ขัดแย้งกันเองกับข้อกำหนดในข้อ 6 ที่บอกไว้ว่า ธนาคารจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตร หากผู้ถือบัตรปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือไม่ได้เป็นผู้รับบริการ อีกทั้งโจทก์ยังมีช่องทางอื่นในการแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้ เนื่องจากหากโจทก์ทำการตรวจสอบว่าลายมือชื่อของผู้ใช้บัตรในเซลล์สลิปไม่ตรงกับลายมือที่แท้จริงของจำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตร โจทก์ก็สามารถไปไล่เบี้ยเอากับร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บหนี้จากจำเลยได้ ร้านเจมาร์ทเองก็ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อในเซลล์สลิปก่อน ซึ่งหากลายมือชื่อไม่ตรงก็มีสิทธิปฏิเสธไม่รับบัตรเครดิตได้อยู่แล้ว ศาลฎีกาจึงตัดสินให้จำเลยไม่มีความผิดไม่ต้องชำระหนี้ให้กับโจทก์ เนื่องจากข้อตกลงเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 นั้นไม่เป็นธรรม
จากกรณีตัวอย่างของคำพิพากษาในเรื่องของบัตรเครดิตสูญหายจะเห็นว่าผู้ถือบัตรไม่ต้องรับผิดชอบในจำนวนหนี้ที่เราไม่ได้ก่อขึ้น แต่แม้จะมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานแบบนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ข้อกำหนดเงื่อนไขในสัญญาแกมบังคับให้ผู้ถือบัตรเป็นผู้ต้องจ่ายคืนหนี้อยู่ดี หากผู้ถือบัตรต้องการความเป็นธรรมจากกรณีดังกล่าว ไม่สามารถตกลงกับทางธนาคารได้ ก็ต้องให้กฎหมายช่วย แต่สิ่งสำคัญก็คือทันทีที่ทราบว่าบัตรเครดิตหายหรือถูกขโมยไป ขอให้โทรแจ้งอายัดบัตรเครดิตกับทางธนาคารทันทีเพื่อให้ธนาคารระงับการใช้บัตรเครดิตทันก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้น และเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดก่อนเพื่อเป็นหลักฐานไว้ด้วย