สืบเนื่องจากกระทู้ต้นเรื่อง http://pantip.com/topic/35577118 ที่เจ้าของกระทู้ได้เข้ามาเล่าเรื่องราวการเป็นหนี้ของครอบครัว โดยได้เกริ่นว่าครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวเกษตรกรทำนาและปลูกพืชไร่พืชสวน มีจ้างคนงาน 15 ครอบครัว พ่อของเธอได้ไปกู้ยืมเงินมาเพื่อเป็นเงินลงทุนทำเกษตรจากเจ้าหนี้หลายคนรวมเป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท เริ่มกู้เงินปี 2557 ก็ส่งดอกมาตลอดไม่เคยขาด จนเมื่อเกษตรที่ทำอยู่เริ่มมีปัญหาในปี 2559 เศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม 59 ที่ผ่านมา ทำให้เริ่มไม่สามารถจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้รายหนึ่งได้ พ่อเธอได้กู้เงินมาจากเจ้าหนี้รายนี้ 300,000 บาท โดยมีการทำสัญญาเงินกู้ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 จ่ายดอกเบี้ยอาทิตย์ละ 3,000 บาท
เมื่อพ่อของเธอเริ่มไม่จ่ายหนี้โดยขอผัดผ่อนออกไปก่อนเพราะเศรษฐกิจแย่จริง ๆ แต่เจ้าหนี้รายนี้ก็ไม่ยอมคอยตามทวงเงินพ่อของเธอตลอด แม้ว่าพ่อของเธอจะพยายามอธิบายว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะจ่ายคืนแน่นอนทุกบาททุกสตางค์ เจ้าหนี้ก็ไม่ยอมบอกว่าอย่างไรก็ต้องการเงินคืน ล่าสุดเจ้าหนี้มาเพื่อบอกว่าขอให้ทำสัญญาใหม่เพราะสัญญาเก่าหายไป พ่อของเธอก็ยอมทำสัญญาฉบับใหม่ระบุเงินต้นที่กู้เป็นเงิน 300,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้กับเจ้าหนี้รายนี้ไป
ต่อมาปรากฏว่าเจ้าหนี้รายนี้ได้ส่งเอกสารจากทนายมาที่บ้านเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากพ่อของเธอ โดยในจดหมายได้ระบุให้คืนเงิน 200,000 บาท ภายในเวลา 15 วัน เจ้าของกระทู้สงสัยว่าเจ้าหนี้รายนี้สามารถทวงเงินด้วยวิธีแบบนี้ได้ด้วยหรือ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงเรื่องดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่ออาทิตย์ถือว่าผิดกฎหมายด้วยหรือไม่
เรามาวิเคราะห์แยกเป็นประเด็นกัน
- สัญญากู้เงินเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 บัญญัติไว้ว่า
“การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งและลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเจ้าหนี้ต้องการฟ้องร้องเพื่อให้ได้เงินคืนจากลูกหนี้ เมื่อสัญญาฉบับเดิมที่ทำไว้หายไป จึงต้องให้ลูกหนี้ทำสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมาจึงจะใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้นั่นเอง
- คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่ามีความผิด
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ 3 ต่ออาทิตย์ที่พ่อของเจ้าของกระทู้ต้องจ่ายอาทิตย์ละ 3,000 บาทต่อเงินต้น 300,000 บาทที่ยืมถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูว่ากฎหมายกำหนดการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ไว้อย่างไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ได้กำหนดไว้ว่าให้ผู้กู้สามารถเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หากมีการคิดดอกเบี้ยเกินกว่านั้นให้ถือว่าข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่ส่วนของเงินต้นก็ยังสามารถที่จะเรียกร้องดำเนินคดีกันได้ต่อไป นอกจากนั้นการคิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดผู้ให้กู้ถือว่ามีความผิดทางอาญาโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนในกรณีนี้ที่เจ้าของกระทู้เล่าว่าพ่อของเธอหลังจากกู้เงินมา 300,000 จ่ายคืนดอกเบี้ยอาทิตย์ละ 3,000 บาท จ่ายมาเป็นปี ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 240,000 บาท ซึ่งหนี้นอกระบบกับการจ่ายคืนแบบนี้ถือว่าจ่ายคืนเฉพาะดอกเบี้ยไม่มีการหักเงินต้น และหากไม่มีเอกสารหลักฐานลูกหนี้ก็จะไม่อ้างถึงเงินที่จ่ายไปแล้วนี้ได้ และก็ดูเหมือนว่าการที่เจ้าหนี้ส่งเอกสารจากทนายมาโดยระบุยอดหนี้ที่ 200,000 บาทก็เป็นการลดเงินต้นให้พ่อของเจ้าของกระทู้ลงถึง 100,000 บาท จากยอดเงินต้นเดิมที่ 300,000 บาทแล้วด้วย
การที่พ่อของเจ้าของกระทู้ยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาหลายปีเป็นเงิน 240,000 บาทนั้น เมื่อถึงตอนฟ้องร้องต่อศาลจะเรียกเงินนี้คืนหรือจะให้นำเงินจำนวนนี้ไปหักจากดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดเงินต้นไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ (อ้างอิงฎีกา 11645/2554)
- สัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้เจ้าหนี้มีสิทธิ์เรียกชำระหนี้เมื่อไหร่ก็ได้
ที่เจ้าของกระทู้สงสัยว่าเจ้าหนี้สามารถส่งเอกสารจากทนายมาเพื่อให้พ่อของเธอชำระหนี้มูลค่า 200,000 บาทภายใน 15 วัน สามารถทำได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 203 ได้บอกไว้ว่า
“ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน…”
หากดูตามข้อกฎหมายจะเห็นว่าเจ้าหนี้รายนี้มีสิทธิ์เรียกชำระหนี้ภายใน 15 วัน ตามเอกสารได้ เพราะในสัญญาไม่ได้ระบุระยะเวลาในการกู้ยืมไว้นั่นเอง ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้คืนตามจำนวนที่กู้ยืมมาภายในกำหนด หากไม่มีเงินคืนเจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาลได้เพราะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้
สรุปจากกรณีนี้การส่งเอกสารจากทนายของเจ้าหนี้เพื่อมาทวงหนี้กับพ่อของเจ้าของกระทู้ถือว่าทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหนี้ยังถือว่ามีคุณธรรมที่ช่วยลดเงินต้นให้ถึง 100,000 บาท หากเจ้าของกระทู้และครอบครัวไม่ต้องการยุ่งยากให้เรื่องถึงศาลก็จะต้องหาเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อคืนให้กับเจ้าหนี้ภายใน 15 วัน หากไม่สามารถหาเงินได้ทันก็จะต้องพูดคุยเพื่อผ่อนผันในเรื่องของเวลาออกไปหรืออาจขอแบ่งชำระหนี้เป็นงวด ๆ ในกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เพราะการที่พ่อของเจ้ากระทู้หยุดส่งดอกเบี้ยไปเฉย ๆ แบบนี้ เจ้าหนี้ที่ไหนก็ต้องไม่สบายใจแน่ ๆ แต่หากพูดคุยหรือตกลงกันไม่ได้ เจ้าของกระทู้ก็ต้องยอมรับกับการต้อให้เรื่องไปตกลงกันในชั้นศาลต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : เจ้าหนี้ – ลูกหนี้ ต้องรู้ พ.ร.บ. ทวงหนี้ให้สิทธิ์อะไรบ้าง ?