ในตอนนี้ ไม่ว่าหันไปทางไหน คนรอบตัวก็มีแต่คนทำประกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันรถ ประกันอัคคีภัย ฯลฯ ในเมื่อใคร ๆ ก็ทำ แสดงว่ามันคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความรู้จักกับประกันภัยให้มากขึ้นกันดีไหมคะ
ประกันภัยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ประกันภัยเกิดขึ้นได้เพราะในช่วงชีวิตของคนเรามีความเสี่ยงเกิดขึ้นมากมาย และความเสี่ยงเหล่านี้หากไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ดี เมื่อความเสี่ยงได้แปรเปลี่ยนเป็นปัญหาเมื่อไหร่ อาจเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมากมาย
ซึ่งวิธีที่จะจัดการกับความเสี่ยง สามารถแบ่งได้เป็น 4 วิธีหลักๆ ได้แก่
จะเห็นได้ว่า การทำประกันภัย ถือเป็น 1 ใน 4 ประเภท ของการจัดการความเสี่ยง ซึ่งโดยปกติแล้ว เราจะเลือกการจัดการความเสี่ยง โดยการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันภัย ก็ต่อเมื่อ ความเสี่ยงนั้นมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่ำ แต่หากเกิดขึ้นเมื่อให้จะส่งผลกระทบสูงต่อชีวิตและทรัพย์สิน นั่นเอง
ความเสี่ยงที่ต้องเจอในช่วงชีวิต
หลาย ๆ ท่านอาจจะคุ้นเคยกับการทำประกันชีวิต ซึ่งเป็นการทำประกันภัยประเภทหนึ่ง ภายใต้แนวคิดเรื่องการจัดการความเสี่ยงภัยส่วนบุคคล (สามารถอ่านเรื่องความเสี่ยงและประกันชีวิตได้ที่ : เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อประกันชีวิต ) แต่นอกจากเรื่องความเสี่ยงส่วนบุคคลแล้ว เรายังต้องเผชิญความเสี่ยงในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จักความเสี่ยง และการประกันภัย ในทุกมุมมองกันค่ะ
1. ความเสี่ยงภัยส่วนบุคคล
- ความเสี่ยงที่ผู้อยู่ในอุปการะจะไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เนื่องจากผู้หารายได้หลักของครอบครัวเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- ความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่พอใช้ในยามเกษียณเนื่องจากมีอายุยืนนาน
- ความเสี่ยงที่จากการมีสุขภาพไม่ดีหรือทุพลภาพ ซึ่งอาจส่งผลให้มีเงินไม่พอใช้จ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาล และขาดรายได้จากการทำงาน
- ความเสี่ยงภัยจากการว่างงาน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดรายได้สำหรับยังชีพ
2. ความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน
สำหรับคนที่มีทรัพย์สิน ก็จะเกิดความเสี่ยงที่ทรัพย์สินนั้นจะถูกทำให้เสียหาย โดยความเสียหายมี 2 ประเภท
- ความเสียหายโดยตรง :
คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยตรงกับ ทรัพย์สินนั้น ๆ เช่น ร้านขายของ เกิดเพลิงไหม้ ความเสียหายโดยตรงก็คือมูลค่าความเสียหายที่นับเป็นตัวเงินได้ทั้งหมด
- ความเสียหายโดยอ้อม หรือความเสียหายต่อเนื่อง :
เป็นความเสียหายที่สืบเนื่องมาจากความเสียหายโดยตรง เช่น การขาดรายได้จากกิจการเนื่องจากร้านขายของถูกไฟไหม้ เป็นต้น
3. ความเสี่ยงภัยตามความรับผิด
คือความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำบางอย่างซึ่งส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่น คุณหมอเกิดความเลินเล่อในขณะผ่าตัดลืมมีดผ่าตัดไว้ในท้องคนไข้ทำให้คนไข้เกิดโรคแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิต เป็นต้น
4. ความเสี่ยงภัยอันเนื่องมาจากความผิดพลาดของผู้อื่น
คือความเสี่ยงที่ผู้อื่นไม่ทำตามข้อตกลงที่เคยให้ไว้ ทำให้เกิดผลกระทบทางลบ เช่น ไม่สามารถย้ายเข้าคอนโดได้ เนื่องจากโครงการไม่สามารถสร้างคอนโดได้เสร็จตามกำหนดการ
จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงที่สำคัญในชีวิตเรามีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ซึ่งวิธีการจัดการความเสี่ยงอาจจะแตกต่างกันออกไปตามดุลยพินิจของแต่ละคน เพราะแต่ละคนอาจมองถึงผลกระทบ และ โอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากความเสี่ยงที่ว่านั้น มากหรือน้อยแตกต่างกัน สำหรับคนที่มองว่า ความเสี่ยงใดมีผลกระทบที่รุนแรงและมีโอกาสจะเกิดต่ำ การทำประกันภัยถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงเรื่องต้นทุน และเรื่องสภาพคล่อง ประกอบด้วย และหากเลือกที่จะจัดการความเสี่ยงโดยการทำประกันภัยแล้ว ก็ไม่ควรละเลยในการระมัดระวังตัวสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เช่น ทำประกันสุขภาพแล้ว ก็ควรจะรักษาสุขภาพให้ดีโดยการออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีประโยชน์ , ทำประกันอาชีพแพทย์แล้ว ก็ต้องมีสติในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ เป็นต้น เพราะการทำประกันภัย เป็นเพียงเครื่องช่วยให้ปัญหาทุเลาลงเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวแก้ปัญหาเสียทีเดียว