ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เราเห็นข่าวการประกาศปิดตัวของนิตยสารถึง 2 เล่มด้วยกัน เริ่มจากนิตยสารสกุลไทยที่ออกมาประกาศปิดตัวไปในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยถ้อยแถลงการณ์ของสกุลไทยรายสัปดาห์ที่ชี้แจงผ่านหน้าเฟซบุ้คได้บอกว่าเป็นเหตุผลในเรื่องเศรษฐกิจ เอเย่นต์ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายนิตยสารลดลง ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ทำให้คณะผู้บริหารจำเป็นต้องตัดสินใจยุติการจำหน่ายนิตยสารสกุลไทย ฉบับสุดท้ายที่จะวางจำหน่ายจะเป็นวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559 ถือเป็นการปิดฉากนิตยสารเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 61 ปีไปอีกเล่มหนึ่ง
ไล่เลี่ยกันนิตยสารพลอยแกมเพชรก็ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ้คแฟนเพจเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยเป็นข้อความสั้น ๆ บอกว่า พลอยแกมเพชรปิด ฉบับสุดท้ายเป็นฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ได้มีสำนักข่าวที่ติดต่อสอบถามไปยังนิตยสารก็ได้รับคำตอบว่าเป็นไปตามภาพที่เห็นในเฟซบุ้ค นับตั้งแต่นิตยสารพลอยแกมเพชรออกวางจำหน่ายตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันก็นับเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว ก็ถือเป็นการปิดฉากตำนานนิตยสารแฟชั่นไทยไปอีกหนึ่งเล่ม
ใครที่เคยอ่านนิตยสารทั้งสองเล่มนี้หรือคนที่เป็นแฟนประจำอย่างเหนี่ยวแน่นคงจะรู้สึกใจหาย เสียดายไม่น้อยกับการปิดตัวของนิตยสารที่ตัวเองชื่นชอบ ทั้งนิตยสารสกุลไทยจะเป็นแนวอนุรักษ์แบบไทย ๆ เนื้อหาด้านในที่คนนิยมตามอ่านจะเน้นอ่านนิยาย ส่วนนิตยสารพลอยแกมเพชรนั้นชัดเจนว่าเป็นนิตยสารแฟชั่น แต่ก็มีคอลัมน์แบบมีสาระให้อ่านอยู่เหมือนกัน
ที่จริงเรื่องการปิดตัวนิตยสารไม่ได้เพิ่งมีเป็นครั้งแรก แต่นับย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ปี 2554 นิตยสารต่างก็ทยอยเริ่มปิดตัวกันไปทีละเล่มสองเล่ม นับถึงวันนี้ก็ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ที่ธุรกิจหนังสือโดยเฉพาะนิตยสารมียอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง เนื่องจากผู้คนหันไปเลือกอ่านหนังสือผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น ความต้องการอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ นั้นก็เลยลดน้อยถอยลงไป
รายได้สำคัญของนิตยสารนั้นมาจากสองทาง หนึ่งคือรายได้จากการจำหน่ายหนังสือและสองคือรายได้จากค่าโฆษณา ซึ่งเม็ดเงินรายได้จากการลงโฆษณานั้นถือว่าเยอะกว่ามาก แต่เมื่อนิตยสารขายได้น้อยลงทำให้ต้องลดการผลิตลง รายได้จากการจำหน่ายน้อยลง ส่งผลให้รายได้จากโฆษณาน้อยลงไปด้วย เพราะใครจะลงโฆษณากับนิตยสารที่ขายได้น้อยหรือขายไม่ดี ธุรกิจหรือบริษัทต่าง ๆ เขาเลือกที่จะเอางบโฆษณาไปลงกับช่องทางอื่นที่เข้าถึงผู้อ่านได้ดีกว่า
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ยอดจำหน่ายนิตยสารลดลงนอกเหนือจากเรื่องของเศรษฐกิจแล้วก็มีเรื่องของคนอ่านที่มีพฤติกรรมในการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนไป ในยุคดิจิทัลแบบนี้คนอ่านสามารถเลือกอ่านข่าวหรือบทความต่าง ๆ ได้จากหน้าเว็บไซต์ทั่วไป โดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เลือกอ่านมากเท่าไรก็ได้ จะอ่านในเวลาใดและสถานที่ใดก็ได้อีกเช่นกัน การอ่านผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟนหรือไอแพดจึงถือว่าสะดวกกว่ามาก ในปัจจุบันบทความประเภทไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว แนะนำร้านอาหาร แนวนี้เนื้อหาบนเว็บไซต์ยังทำได้ดีกว่าที่นิตยสารเคยทำมาก่อนด้วยและการอ่านผ่านหน้าจอเป็นช่องทางที่ผู้อ่านสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เขียนโดยสามารถกดไลค์หรือเขียนคอมเม้นท์ถึงข่าว เรื่องราวหรือบทความที่เราอ่านได้ทันที นอกจากนั้นหากบทความใดที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ เราก็สามารถแชร์แบ่งปันทำให้ข่าว บทความหรือเรื่องราวนั้น ๆ เข้าถึงผู้คนได้แบบไร้ขีดจำกัด
ด้วยเหตุผลที่ว่ามาจึงทำให้นิตยสารทุกเล่มต่างก็ต้องพยายามดิ้นรนและปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ยุคดิจิทัลเช่นในปัจจุบัน นิตยสารเล่มไหนที่สามารถปรับตัวได้ก็อยู่รอดผ่านพ้นไปได้ แต่นิตยสารเล่มไหนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็ต้องปิดตัวกันไป กลยุทธ์ที่นิตยสารส่วนใหญ่ใช้เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในยุคดิจิทัลเท่าที่เราเห็นกันก็มีดังนี้
- นิตยสารแจกฟรี เป็นการเปลี่ยนจากการจัดจำหน่ายนิตยสารมาเป็นนิตยสารแบบแจกฟรีแทน รูปเล่มก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสม รายได้ก็จะมาจากทางเดียวคือค่าโฆษณาเท่านั้น ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นิตยสารจะดิ้นเพื่อให้อยู่รอดได้ เพราะเป็นการทำให้การอ่านนิตยสารในแบบรูปเล่มนั้นฟรีไม่เสียสตางค์เหมือนกับแบบที่ผู้อ่านเลือกอ่านทางออนไลน์ ซึ่งเหตุผลหลักที่ผู้อ่านส่วนใหญ่บอกกัน ก็คือ เรื่องของการอ่านฟรีแบบไม่เสียเงินนี้เองที่เขาจะเลือกกัน นิตยสารแบบแจกฟรีที่ทำแล้วประสบความสำเร็จสร้างรายได้จากค่าโฆษณาอย่างมากมาย ก็มี M2F ของเครือบางกอกโพสต์
- เปลี่ยนไปทำ E-Magazine เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาผ่านทางหน้ากระดาษไปเป็นผ่านทางออนไลน์แทน รูปแบบการดำเนินธุรกิจของนิตยสารในส่วนอื่น ๆ ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น จำนวนพนักงานอาจจะไม่ต้องใช้มากเท่าเดิม เป็นต้น หรืออาจเลือกเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเป็นคนทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์แทนไปเลย
- ลดขนาดของนิตยสารลง บางเล่มก็ปรับตัวด้วยการลดจำนวนหน้ากระดาษต่อเล่มลง บางเล่มก็ปรับตัวด้วยการลดความถี่ในการออกนิตยสารจากเดือนละ 2 ครั้ง เหลือเดือนละ 1 ครั้งหรือนานกว่านั้น รวมถึงการพยายามปรับรูปแบบของเนื้อหาภายในเล่มให้นิตยสารกลายเป็นเหมือนกับหนังสือที่ควรค่าแก่การสะสมสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายด้วย
- เน้นเนื้อหาเชิงลึกและประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์ อีกวิธีในการปรับตัวก็คือต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์นิตยสารโดยอาจให้อ่านฟรีบ้างและให้ติดตามต่อในนิตยสารฉบับเต็ม แต่วิธีนี้จะใช้ได้สำเร็จก็ต่อเมื่อเนื้อหาของบทความต้องเป็นเชิงลึกแบบไม่สามารถหาอ่านได้ทั่วไปตามหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่น่าจะมีผู้อ่านยอมเสียเงินเพื่อซื้อนิตยสารของเรามาอ่านเช่นกัน หากว่าสามารถเลือกอ่านเรื่องราวแบบเดียวกันได้ทางอินเทอร์เน็ตแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย