ได้ยินข่าวล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ทายาทโรงแรมชื่อดังย่านถนนวิทยุอย่าง โรงแรมสวิสโซเทล ปาร์คนายเลิศตัดสินใจหยุดดำเนินกิจการโรงแรมและขายที่ดินที่เป็นของบรรพบุรุษตกทอดมาให้กับธุรกิจเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็ทำให้อดนึกถึงธุรกิจครอบครัวธุรกิจอื่น ๆ ไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรกันบ้าง เมื่อธุรกิจได้เดินทางเปลี่ยนผ่านมาถึงยุคของรุ่นลูกรุ่นหลาน เหล่าทายาทจะสามารถรักษาธุรกิจของต้นตระกูลไว้ได้นานแค่ไหนกัน
สำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยที่ถือเป็นธุรกิจระดับประเทศที่เรารู้จักกันดีก็มี ธุรกิจเครือเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ธุรกิจเครือซีพีของตระกูลเจียรวนนท์ ธุรกิจน้ำเมาของตระกูลภิรมย์ภักดี ธุรกิจสื่อของตระกูลวัชรพลหรือตระกูลมาลีนนท์ เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ก่อนจะกลายมาเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ อย่างในปัจจุบันก็เคยผ่านการเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่เป็นธุรกิจบริหารกันเองภายในครอบครัวมาก่อน ก่อนที่จะขยายกลายมาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล อย่างเช่น ในปัจจุบัน กรรมการบริหารชุดปัจจุบันของธุรกิจดังกล่าวไม่ใช่เป็นรุ่นบุกเบิกแต่เป็นรุ่นทายาทที่บางธุรกิจก็เป็นรุ่นลูก บางธุรกิจก็เป็นรุ่นหลาน ส่วนบางธุรกิจก็เป็นรุ่นเหลนแล้ว
ไม่เพียงแค่ธุรกิจที่พูดมาข้างต้นเท่านั้น ธุรกิจในประเทศไทยอีกกว่า 80% ถือเป็นธุรกิจครอบครัวที่เริ่มดำเนินกิจการกันเองภายในครอบครัวก่อนที่จะขยายกิจการออกไปและได้เปลี่ยนมือจากรุ่นสู่รุ่น บางธุรกิจแม้เปลี่ยนมือเปลี่ยนผู้บริหารมาเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน ธุรกิจก็ยังคงเติบโตขยายปีกออกไปได้ยิ่งใหญ่กว่าในรุ่นพ่อแม่ บางธุรกิจเมื่อเปลี่ยนมือแล้วกลับไม่ประสบความสำเร็จต้องล้มหายตายจากไปก็มีมากมายเช่นกัน
การศึกษาชี้ว่าธุรกิจครอบครัวจะอยู่ถึงแค่เจเนอเรชั่นที่ 4 เท่านั้น
PricewaterhouseCoopers ได้เคยทำการศึกษาเรื่องของธุรกิจครอบครัวไว้เมื่อปี พ.ศ. 2555 ผลจากการศึกษาพบว่า ธุรกิจครอบครัวมีอัตราการอยู่รอดไปถึงรุ่นที่ 2 คิดเป็นอัตราร้อยละ 30 ของรุ่นที่ 1 เมื่อผ่านมือไปถึงรุ่นที่ 3 อัตราการอยู่รอดจะเหลือเพียงแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น และเมื่อถึงรุ่นที่ 4 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจเหลือเพียงแค่ร้อยละ 4 เท่านั้นเอง ซึ่งผลการศึกษาของ PricewaterhouseCoopers นี้ สอดคล้องกับทฤษฎีที่เรียกว่า Buddenbrook Syndrome ซึ่งเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับวัฏจักรของธุรกิจครอบครัวที่บอกไว้ว่าธุรกิจครอบครัวนั้นจะล่มสลายเมื่อสืบทอดไปถึงทายาทรุ่นที่ 4 เท่านั้น
ทฤษฎี Buddenbrook Syndrome ได้บอกเอาไว้ถึงเหตุผลของการเสื่อมถอยและล่มสลายของธุรกิจครอบครัวเมื่อธุรกิจสืบทอดไปยังทายาทรุ่นที่ 4 เอาไว้ว่าเกิดจากเหตุผลดังต่อไปนี้
- ความสนใจในธุรกิจครอบครัวของทายาทมีน้อยลง ธุรกิจก่อกำเนิดขึ้นมาจากคนในรุ่นบุกเบิก เมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงรุ่นของทายาทซึ่งไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเอง ความสนใจที่จะทำธุรกิจจึงไม่มากเท่ากับรุ่นบุกเบิก
- ทายาทของธุรกิจไม่มีความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัว ทายาทบางคนไม่ชอบทำธุรกิจเหมือนรุ่นพ่อแม่ แต่ชอบที่จะทำอาชีพอื่นที่ตนเองถนัดหรือชอบมากกว่า
- ความยากในการสืบทอดธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การดำเนินธุรกิจในรุ่นทายาทย่อมต้องไม่เหมือนในรุ่นบุกเบิก การแข่งขันที่มีมากขึ้น กฎเกณฑ์ข้อกำหนดต่าง ๆ บางครั้งก็เปลี่ยนไป ส่งผลให้ต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นความยากและความท้าทายสำหรับทายาทที่จะทำให้สำเร็จได้
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะอธิบายถึงการจากไปของหลายธุรกิจครอบครัวได้เป็นอย่างดี รวมถึงธุรกิจโรงแรมสวิสโซเทล ปาร์คนายเลิศที่เพิ่งเป็นข่าวไปด้วย จากปัจจัยการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมที่ถือว่าสูงมาก โอกาสในการทำกำไรจึงทำได้ยากมาก ทายาทต้องบริหารโรงแรมภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ เมื่อไม่สำเร็จจึงต้องเปลี่ยนโมเดลในการทำธุรกิจเพื่อให้เหมาะกับทางของตัวเอง ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจหยุดกิจการโรงแรมและขายที่ดิน ก็ได้เคยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดก็ได้ว่าจ้างทีมบริหารมืออาชีพจากสวิสโซเทลเพื่อเข้ามาบริหารโรงแรม แต่สุดท้ายก็ยังไปไม่รอด
จากการศึกษาธุรกิจครอบครัวของ PricewaterhouseCoopers ได้มีการสรุปจุดอ่อนที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่ประสบความสำเร็จเอาไว้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยดังนี้
- บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่ได้แยกออกจากกันชัดเจนระหว่างครอบครัวและธุรกิจ
- ไม่มีรูปแบบการบริหารที่ชัดเจน ให้ความสำคัญตัวบุคคลมากกว่าระบบ
- ตัดสินใจเรื่องของธุรกิจบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าเหตุผล
การพัฒนาให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะล่มสลายเมื่อเปลี่ยนผ่านมือสู่รุ่นของทายาท ธุรกิจใดที่มีความพร้อมในการส่งต่อธุรกิจสู่มือของทายาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นระบบแล้ว ก็เรียกว่าเป็นธุรกิจที่สามารถก้าวผ่านปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเสื่อมถอยหรือล่มสลายลงได้สำเร็จ ขั้นตอนที่จะช่วยให้สามารถส่งต่อธุรกิจถึงมือของทายาทได้สำเร็จตามที่ศาสตราจารย์ Mary B. Rose ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ธุรกิจของมหาวิทยาลัย Lancaster เคยบอกไว้ ก็คือ การกำหนดระบบการสืบทอดธุรกิจไว้อย่างชัดเจนโดยจะต้องให้ทายาทที่มี ความสามารถในการบริหารธุรกิจได้เป็นผู้เข้ามาบริหาร หากไม่มีทายาทคนใดที่มีความพร้อมในการเข้ามาบริหารได้เลย ก็จำเป็นต้องมีขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทายาทคนใดคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของธุรกิจได้ และในระหว่างนั้นก็อาจจำเป็นต้องใช้นักบริหารที่เป็นมืออาชีพเข้ามาดำเนินธุรกิจให้
ความสามัคคีของทายาทในตระกูลก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจของครอบครัวอยู่รอดได้ด้วย มีคนเคยทำการศึกษาปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเครือเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ประสบความสำเร็จเช่นในปัจจุบันว่าเกิดจากการที่กลุ่มเซ็นทรัลเลือกใช้ระบบ Family Council หรือสภาครอบครัวที่ทุกคนช่วยกันตั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ร่วมกันในการดำเนินธุรกิจ และมีการจัดสรรผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ลงตัว จึงทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตมาได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิงข้อมูล www.industry.go.th/industry/index.php/th/knowledge/item/10603-2016-05-23-05-38-40