ณ เวลานี้ไม่ใช่แค่เพียงการเฝ้าระวังเรื่องน้ำจะทะลักเข้าท่วมบ้านในหน้าฝนเท่านั้น แต่มีสัญญาณเตือนบางอย่างให้พนักงานในบางอุตสาหกรรมต้องเตรียมเฝ้าระวังเรื่องความอยู่รอดด้วยเช่นกัน
เพราะล่าสุด สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ได้ออกมาเผยตัวเลขการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พบว่า เพียงแค่ 2 เดือนแรกของปี 59 มีผู้ขอรับเงินทดแทนมากถึง 123,087 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับผู้ขอรับเงินทดแทนในปี 58 แทบจะตลอดทั้งปีที่จำนวน 123,536 คน โดยจากการสำรวจล่าสุดเมื่อปลายเดือน ส.ค. 59 ที่ผ่านมา มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไปแล้วรวมทั้งสิ้น 161,012 คน
สาเหตุยอดตกงานพุ่ง คืออะไร
จากตัวเลขน่าตกใจของการขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน หลายคนคงอยากรู้คำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นในเศรษฐกิจบ้านเรา จึงทำให้เกิดผลพวงเช่นนี้ ซึ่งแหล่งข่าวของ สปส. ได้ชี้แจงให้เห็นว่า เป็นเพราะในช่วงปลายปี 58 ต่อกับต้นปี 59 มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้ปิดกิจการลง ทั้งด้วยเหตุผลการย้ายฐานการผลิต ประสบกับภาวะขาดทุน และการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคน จึงทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานไปบางส่วน ซึ่งถึงแม้ตัวเลขคนว่างงานจะไม่ถึงขั้นวิกฤติแต่อย่างใด แต่กระทรวงแรงงานเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีการเฝ้าระวังจับตา พร้อมกับติดตามผลสถานการณ์การจ้างงาน ว่างงาน และเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มสิ่งทอ และยานยนต์ ที่มีแนวโน้มจะจ้างงานลดลง ซึ่งในปีนี้พนักงานในธุรกิจประกอบยานพาหนะได้แจ้งขอรับเงินทดแทนไปแล้วกว่า 7,000 คน เมื่อเทียบกับปี 58 ทั้งปี มีพนักงานในกลุ่มธุรกิจนี้ขอรับเงินทดแทนไปจำนวนประมาณ 4,000 กว่าคน นับเป็นยอดที่เพิ่มขึ้นสูงมากทั้งที่ยังไม่หมดปี 59 ด้วยซ้ำ
จับตา อุตสาหกรรมไหน จ้างงานลดลง
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาแถลงถึงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การจ้างงาน ว่างงาน และเลิกจ้าง พร้อมกับเผยข้อมูลที่สำรวจได้จนถึงเดือน ส.ค. 59 ว่า ธุรกิจที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่
- การก่อสร้าง
- การผลิตซ่อมวิทยุ
- โทรทัศน์ชิ้นส่วน
- สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
- การผลิตท่อโลหะที่ใช้ในการก่อสร้าง
สำหรับสาเหตุที่สถานประกอบการหลายแห่งต้องเลิกจ้างงาน เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดทุนหรือยอดการสั่งซื้อของลูกค้าลดลง โดยกระทรวงแรงงานก็ได้มีการเฝ้าระวังใน 4 จังหวัด คือ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และชลบุรี ขณะที่อุตสาหกรรมที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ การผลิตสิ่งทอ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน นั่นเอง
ส่วนในจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานถึงเดือน ส.ค. 59 ที่มีทั้งหมด 161,012 คน แบ่งเป็นกรณีต่างๆ ได้ ดังนี้
- เลิกจ้าง 29,068 คน
- สมัครใจลาออก 125,427 คน
- สิ้นสุดสัญญาจ้าง 6,517 คน
โดยทั้งหมดแบ่งเป็นประเภทธุรกิจได้ ดังนี้
- การค้า 31,853 คน
- ผลิตภัณฑ์จากโลหะ 18,593 คน
- การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 12,150 คน
- การก่อสร้าง 9,390 คน
- ผลิตภัณฑ์เคมี น้ำมันปิโตเลียม 8,616 คน
- การขนส่ง การคมนาคม 7,682 คน
- ผลิต-ประกอบยานพาหนะ 7,042 คน
- การผลิตสิ่งทอถัก เครื่องประดับ 6,813 คน
- อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ 2,831 คน
- ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ การพิมพ์ 2,699 คน
- การสำรวจ การทำเหมืองแร่ 2,591 คน
- ผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 2,008 คน
- การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 1,865 คน
- การทำป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ 1,675 คน
- สาธารณูปโภค 533 คน
- ประเภทกิจการอื่นๆ 38,494 คน
- ไม่สามารถแยกประเภทกิจการได้ 6,177 คน
ขอบคุณภาพประกอบ : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ถึงแม้สถานการณ์การจ้างงาน ว่างงาน หรือเลิกจ้างในบางธุรกิจจะอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง แต่ในฐานะคนทำงาน หากคุณไม่เลือกงาน หรือมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับจนมากเกินไป พร้อมกับเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ โอกาสงานดีๆ ก็คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
ที่มา