สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีความห่วงใยเจ้าของรถยนต์ที่ต้องทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจเพิ่มเติม แนะให้คุณตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด หลังพบว่า ในขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นนายหน้า / ตัวแทนประกันภัย หลอกขายประกันภัยรถยนต์ในหลายจังหวัด
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) (นายประเวช องอาจสิทธิกุล) กล่าวว่า ในปัจจุบันรถที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 35 ล้านคัน ทำให้พวกมิจฉาชีพอาศัยเป็นแหล่งหารายได้ด้วยการหาข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ ที่ใกล้หมดอายุ เพื่อติดต่อเจ้าของรถแล้วหลอกขายกรมธรรม์ประกันภัยรถด้วยการยื่นข้อเสนอจูงใจ อย่างเช่น การลดเบี้ยประกันภัย ในขณะที่มีการความคุ้มครองเพิ่มขึ้น อย่างนี้เป็นต้น
ทางสำนักงาน คปภ. แนะนำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ ควรที่จะศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ อย่างเช่น การสอบถามชื่อ – นามสกุล เลขที่ใบอนุญาตตัวแทน / นายหน้าประกันภัย พร้อมชื่อบริษัทที่รับทำประกันภัย และควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยของบริษัทเดิม กับบริษัทอื่น รวมถึงเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวแทน / นายหน้าประกันภัย ให้สอบถามไปยังบริษัทที่ประสงค์จะทำประกันภัย และเมื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว ขอให้เรียกใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ขอแนะนำให้คุณติดต่อกลับมายังบริษัทที่รับประกันภัย เพื่อยืนยันว่าบริษัทได้รับประกันภัยเรียบร้อยแล้ว
ทั้ง เลขาธิการ คปภ. ยังกล่าวเสริมอีกว่า หากคุณที่เป็นเจ้าของรถได้รับการติดต่อจากตัวแทน / นายหน้าประกันภัยในการทำประกันภัยรถขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ตามคำแนะนำข้างต้น ควรทำประกันภัยรถเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนถึงวันหมดอายุกรมธรรม์ หรือติดต่อทำประกันภัยรถกับบริษัทที่ให้ความคุ้มครองอยู่ก่อนแล้วก็ได้ สำหรับเจ้าของรถที่ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และจะทำประกันภัยรถภาคสมัครใจเพิ่มเติม คุณต้องทำประกันภัยเป็นบริษัทเดียวกัน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด การเคลมค่าสินไหมทดแทนจะสะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนในการติดต่อบริษัทประกันภัย รวมทั้งขอให้ตรวจสอบวันหมดอายุขอกรมธรรม์ด้วย ซึ่งจะทำให้คุณได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยตลอดเวลา
ใบอนุญาตตัวแทน / นายหน้าประกันภัย แบบใหม่
คปภ. ได้พัฒนารูปแบบใบอนุญาตตัวแทน / นายหน้าใหม่ให้มีขนาดได้มาตรฐาน พกง่าย แยกเป็น 4 สีตามประเภทธุรกิจ อาทิ สีเขียว เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนประกันชีวิต, สีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนวินาศภัย, สีม่วง เป็นสัญญาลักษณ์ตัวแทนนายหน้าประกันชีวิต และสีน้ำเงิน เป็นสัญญาลักษณ์นายหน้าวินาศภัย
เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) (นางจันทรา บูรณฤกษ์) เปิดเผยว่า ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะกระทำการเป็นตัวแทน หรือนายหน้าต้องได้รับใบอนุญาติจากนายทะเบียนและต้องแสดงใบอนุญาตทุกครั้ง ที่มีการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัย หรือ รับเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทนั้น ทางสำนักงาน คปภ. ได้พัฒนารูปแบบใบอนุญาตเป็นตัวแทน / นายหน้าประกันชีวิต ประกันวินาศภัยใหม่ ให้มีขนาดมาตรฐาน สะดวกต่อการพก คงทนถาวร ซึ่งจะทำให้ผู้ถือใบอนุญาตมีความภาคภูมิใจ และพร้อมที่จะแสดงตนต่อผู้ที่ติดต่อ หรือทำธุรกิจด้วย
รวมถึงยังทำให้สังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้เป็นเจ้าของใบอนุญาตนั้น ๆ อันจะส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณให้สูงขึ้นอีกด้วย โดยรูปแบบใบอนุญาตใหม่ จะมีแถบสีอยู่ที่ด้านบนเพื่อแสดงว่าเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัยประเภทไหน
นางจันทรา ยังกล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับข้อมูลที่ควบถ้วน ถูกต้องจากการซื้อประกันภัยจากตัวแทน / นายหน้า ประกันภัยที่มีคุณภาพ ทั้งนี้คุณต้องทำการตรวจสอบด้วยว่า เป็นตัวแทน / นายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ขณะที่ตัวแทน / นายหน้าประกันภัยเอง สามารถตรวจสอบสถานะใบอนุญาตที่จะต้องต่ออายุใบอนุญาตครั้งต่อไป เป็นครั้งที่เท่าไร เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการอบรมให้สอดคล้องกับประกาศสำนักงาน คปภ. ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 โดยสามารถตรวจสอบสถานะตัวแทน / นายหน้าประกันภัยได้จากทางเว็บไซต์ของสำนักงาน (คปภ.) www.oic.or.th หรือที่สายด่วนประกันภัย 1186
นอกจากนี้ กฎหมายประกันภัยฉบับใหม่กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ต้องการเป็นตัวแทนประกันภัย นอกจากต้องยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนแล้ว ยังต้องผ่านหลังสูตรการอบรมจากสำนักงาน คปภ. หรือหน่วยงานที่ คปภ. เห็นชอบก่อน จึงจะสามารถขอรับหรือต่อใบอนุญาตได้ เป็นการยกระดับวิชาชีพตัวแทนนายหน้าให้เป็นมืออาชีพ
โดยหลักสูตรการอบรมที่สำนักงาน คปภ. ประกาศกำหนดเน้นหลักใหญ่ 3 ข้อด้วยกัน
- ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการประกันชีวิต ประกันวินาศภัย
- ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
- จรรยาบรรณสำหรับอาชีพ ตัวแทน นายหน้าประกันภัย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ตัวแทน นายหน้าควรรู้
หลักสูตรการอบรมขอรับ / ต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทน นายหน้าประกันวินาศภัย มี 5 หลักสูตรด้วยกันดังนี้
- ขอรับใบอนุญาต 6 ชั่วโมง
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 1 (ต่ออายุ 1 ปี) 6 ชั่วโมง
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 2 (ต่ออายุ 1 ปี) 6 ชั่วโมง
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 3 (ต่ออายุ 5 ปีครั้งแรก) 11 ชั่วโมง
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 4 เป็นต้นไป 30 ชั่วโมง
หลักสูตรการอบรมขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต มี 4 หลักสูตรด้วยกัน คือ
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 1 (ต่ออายุ 1 ปี) 10 ชั่วโมง
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 2 (ต่ออายุ 1 ปี) 10 ชั่วโมง
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 3 (ต่ออายุ 5 ปีครั้งแรก) 10 ชั่วโมง
- ขอต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 4 เป็นต้นไป 50 ชั่วโมง
ในส่วนของสถาบันที่จัดหลักสูตรอบรม นอกจากสำนักงานคปภ. แล้วในส่วนประกันชีวิตมี 16 แห่งได้แก่
- บ. อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จก.(เอไอเอ)
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเปิดอบรมทั้งตัวแทน และนายหน้าประกันชีวิต
- สถาบันประกันภัยไทย เปิดอบรมทั้งตัวแทน และนายหน้าประกันชีวิต
- บ.กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต จก.
- บ. แอ๊ดวานซ์ไลฟ์ แอสชัวรันส์ จก.
- บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิตจำกัด (เอเอซีพี)
- บ.เอซ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ จก.
- บมจ.แมนูไลฟ์ประกันชีวิต (ประเทศไทย)
- สมาคมประกันชีวิตไทย
- บ.เมืองไทนประกันชีวิต จก.เปิดอบรมทั้งตัวแทน และนายหน้าประกันชีวิต
- บ.ไอเอ็นจีประกันชีวิต จก.
- บ.ไทยประกันชีวิต จก.
- บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต ซึ่งเปิดอบรมทั้งตัวแทน และนายหน้าประกันชีวิต
- บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย)
- สมาคมนายหน้าประกันภัยไทยที่เปิดอบรมสำหรับนายหน้าประกันชีวิต
ในส่วนวินาศภัยก็มี 9 แห่งด้วยกัน ที่เปิดอบรม ซึ่งประกอบด้วย
- บจ.มิตรแท้ประกันภัย
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สถาบันประกันภัยไทย
- บจ.ทีอาร์ เทรนนิ่ง แอนค์คอนซัลติ้ง
- บจ.วิริยะประกันภัย
- บจ.เอซไอเอ็นเอ โอเวอร์ซีส์ อินชัวรันซ์
- บจ.อาคเนย์ประกันภัย
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์
- สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย
อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการตรวจสอบใบอนุญาตตัวแทน หรือ นายประกันภัย คุณสามารถเข้าไปตรวจสอบผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) www.oic.or.th