บัตรเครดิต เป็นบัตรที่ธนาคารพาณิชย์ อย่างเช่น SCB และ Citibank หรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) อย่างเช่น KTC และ AEON ออกให้แก่ลูกค้าผู้ถือบัตร โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อใช้ชำระสินค้า หรือบริการโดยใช้บัตรเครดิตแทนเงินสด ภายใต้วงเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้ออกบัตร หลังจากนั้นผู้ถือบัตรค่อยผ่อนชำระเงินสดคืนให้แก่ผู้ออกบัตรในภายหลังต่อไป และบัตรเครดิตใช้ในยามฉุกเฉิน ในการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า (Cash Advance) จากเครื่อง ATM หรือ Counter ธนาคารมาใช้ล่วงหน้าได้ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้เงินสด และดอกเบี้ยให้แก่ผู้ออกบัตรเครดิต
ประเภทของบัตรเครดิต มีอะไรบ้าง
บัตรเครดิตนั้นสามารถ จำแนกออกมาได้ 2 ประเภทด้วยกันคือ บัตรเครดิตเพื่อธุรกิจ และบัตรเครดิตร่วม
- บัตรเครดิตเพื่อธุรกิจ (Business Card / Corporate Card) เป็นบัตรเครดิตที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตออกให้ตามความประสงค์ และคำขอของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือบริษัท โดยทางหน่วยงาน หรือบริษัทที่ขอบัตรจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต อย่างเช่น บริษัทอาจขอทำบัตรเครดิตให้กรรมการบริษัทถือไว้ เพื่อใช้ในการเลี้ยงรับรองลูกค้า อย่างนี้เป็นต้น
- บัตรเครดิตร่วม (Co-Branded) ที่ธนาคารออกร่วมกับบริษัท หรือร้านค้า เป็นบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารร่วมกับบริษัท หรือร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกัน เพื่อให้ผู้ถือบัตรเครดิตได้รับส่วนลด หรือสิทธิพิเศษจากการใช้บัตรที่บริษัท หรือร้านค้านั้น ๆ อย่างเช่น บัตรเครดิตร่วมแอมเวย์-กสิกรไทย เป็นต้น
บัตรเครดิตถูกจำแนกออกมาได้ 4 ระดับ ได้แก่
- บัตรพื้นฐาน “คลาสสิค” เป็นบัตรพื้นฐานที่ผู้เริ่มใช้บัตรเครดิต สมัครแล้วจะได้รับเป็นบัตรนี้ เพราะฐานเงินเดือนที่ใช้ในการสมัครน้อยกว่า ผู้ที่ใช้บัตรเครดิตประเภทอื่น ๆ
- บัตรระดับกลาง “โกลด์” เป็นบัตรเครดิตที่ผู้สมัครมีฐานรายได้สูงกว่าบัตรพื้นฐาน และมีสิทธิพิเศษตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งอาจจะมากกว่าบัตรเครดิตพื้นฐาน โดยการแยกตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน อย่างเช่น บัตรเฉพาะสำหรับผู้หญิง เป็นต้น
- บัตรระดับสูง “ไทเทเนี่ยม” เป็นบัตรเครดิตที่ให้สิทธิพิเศษ และผลประโยชน์กับผู้ถือบัตรเครดิตสูงกว่าบัตรเครดิตทั้ง 2 ประเภทแรก อย่างเช่น เพิ่มความคุ้มครองประกันภัยให้ด้วย แต่ก็จะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าด้วยเช่นกัน
- บัตรระดับ Exclusive (บางแบรนด์ก็เรียกกันต่อท้ายประมาณว่า “บียอนด์” หรือ “วิสดอม” และอื่น ๆ) เป็นบัตรเครดิตที่กำหนดรายได้ขั้นต่ำ หรือสินทรัพย์ของผู้ถือบัตรสูงที่สุด พร้อมให้สิทธิพิเศษและผลประโยชน์แก่ผู้ถือบัตรมากที่สุด อย่างเช่น การคุ้มครองประกันภัยวงเงินสูง สิทธิประโยชน์บางอย่างที่พิเศษกว่าบัตรอื่น ๆ เช่น ใช้ Executive Lounge ที่สนามบินได้ แต่ก็จะมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงที่สุดด้วยเช่นกัน
นอกจากการแยกตามประเภทและระดับของบัตรเครดิตข้างต้นแล้ว ปัจจุบันแต่ละสถาบันทางการเงิน ก็มีการสร้างลักษณะเด่นให้กับบัตรเครดิต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น บัตรเครดิตที่เน้นการสะสมแต้มการบินเพื่อท่องเที่ยว บัตรเครดิตที่เน้นส่วนลดพิเศษกับห้างสรรพสินค้า บัตรเครดิตที่เน้นการได้ส่วนลดตามร้านอาหารต่าง ๆ เป็นต้น
7 เรื่องพื้นฐานของบัตรเครดิตที่ควรรู้
ธุรกิจบัตรเครดิต เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น คุณก็ถือเป็นคนหนึ่งในฐานะผู้บริโภคจะต้องได้รับความคุ้มครองจากทางราชการในระดับหนึ่ง แต่ในการใช้บัตรเครดิตนั้น หากรู้จักบริหารและใช้อย่างถูกต้อง ก็จะมีประโยชน์มากมาย แต่หากคุณใช้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลเสียตามมาได้ ทั้งนี้คุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตพื้นฐานทั้ง 7 ข้อก่อนค่ะ
- ต้องมีคุณสมบัติขั้นต่ำตามที่กำหนด
ผู้ที่มีความต้องการทำบัตรเครดิต นั้นต้องมีรายได้ประจำรวมกันไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน หรือหากไม่มีรายได้ประจำ (ประกอบอาชีพอิสระ) ก็ต้องมีเงินฝากในระดับหนึ่ง อย่างเช่น มีเงินฝากประจำกับธนาคารไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เป็นต้น หากคุณไม่มีทั้งรายได้ประจำ หรือเงินฝาก แต่มีความต้องการใช้บัตรเครดิต ก็สามารถขอสมัครเป็น “บัตรเสริม” ภายใต้ “บัตรหลัก” ก็ได้ โดยผู้ที่ถือบัตรหลักต้องระลึกว่า “ตนจะต้องรับผิดชอบชำระหนี้ของคนที่ถือบัตรเสริมทั้งหมดด้วย
- วงเงินที่จะได้รับอนุมัติให้ใช้ได้
เมื่อคุณขอบัตรเครดิตในครั้งแรก วงเงินสูงสุดจะได้รับอนุมัติสำหรับการซื้อสินค้า และบริการไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หรือไม่เกิน 10% ของยอดเงินฝากประจำ ตามกฏแบงค์ชาติ
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
บัตรเครดิตแต่ละธนาคารจะคิดแตกต่างกัน โดยการเรียกเก็บจะขึ้นอยู่กับประเภทของบัตรเครดิต โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 800 – 1,000 บาทสำหรับบัตรพื้นฐาน, 1,500 – 2,000 บาท สำหรับบัตรระดับกลางกึ่งสูง และ 4,000 – 8,000 บาทสำหรับระดับสูง ซึ่งหลายธนาคารจะมีการงดเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวในปีแรก หรือใน 2 – 3 ปีแรก หากผู้ถือบัตรฯ ใช้บัตรตามเงื่อนไขที่กำหนด เป็นต้น นอกจากนี้ทางธนาคารยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับบริการอื่น ๆ อย่างเช่น ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด ค่าธรรมเนียมในการออกบัตรใหม่ ค่าธรรมเนียมในการขอใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิต เป็นต้น
- ระยะเวลาชำระคืน โดยปลอดดอกเบี้ย (Grace Period)
โดยปกติแล้วการใช้บัตรเครดิตนั้น ไม่ต้องชำระเงินสดทันที สำหรับระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่ธนาคารผู้ออกบัตร ไม่คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ผู้ถือบัตรชำระผ่านบัตรเครดิต ประมาณ 45 – 55 วัน สำหรับระยะเวลาดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับธนาคารผู้ออกบัตรแต่ละแห่งจะกำหนด หากคุณไม่ชำระเงินคืนให้ครบภายในวันที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี ยอดเงินดังกล่าวก็จะถูกคิดดอกเบี้ยโดยจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ทำรายการ (วันที่รูดบัตร) เป็นต้นไป
- การเบิกเงินสดล่วงหน้า (Cash Advances)
ถือเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งที่คุณสามารถใช้ได้ โดยการกดจากตู้ ATM หรือเบิกจากเคาน์เตอร์ธนาคารได้ ซึ่งการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าจะถูกคิดดอกเบี้ยทันทีนับจากวันที่กดเงินสดออกไป (ไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเหมือนการใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของ) ทั้งนี้ ควรตรวจสอบค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยสำหรับการเบิกเงินสดเหล่านี้ด้วย เพื่อให้คุณสามารถบริหารจัดการชำระเงินคืนได้ทันเวลา การเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าผู้ถือบัตรสามารถเบิกเงินสดได้ 100% ของวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต โดยคิดค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดล่วงหน้า 3% ของจำนวนเงินที่เบิก (และบวกด้วย VAT เพิ่มอีก 7% บนจำนวนค่าธรรมเนียม 3% นี้ด้วย)
- จำนวนผ่อนชำระขั้นต่ำ
หากถึงเวลากำหนดชำระแต่ละงวดแล้ว คุณมีเงินไม่เพียงพอ ก็สามารถชำระขั้นต่ำได้ในงวดนั้น โดยจะต้องชำระไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างงวดนั้น (หรือไม่น้อยกว่า 500 บาทหรือ 1,000 บาทแล้วแต่ผู้ออกบัตรเครดิตจะกำหนด) ถือว่าคุณยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ แต่จำนวนเงินที่คุณชำระไม่เต็มก็จะเสียดอกเบี้ยต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะชำระส่วนที่เหลือหมด
- ดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม
เมื่อคุณใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดฉุกเฉินล่วงหน้าจากตู้ ATM หรือคุณใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าแล้วจ่ายไม่ครบเต็มจำนวนในแต่ละงวด คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ย ดอกเบี้ยผิดนัด หรือค่าปรับตามอัตราที่ผู้ออกบัตรเครดิตกำหนด
อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจการใช้บัตรเครดิตพื้นฐานดีกว่า ใช้บัตรเครดิตโดยไม่รู้และไม่เข้าใจ นั่นอาจทำให้คุณเสียเงินมากและไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจากการใช้บัตรเครดิตนี้ได้ค่ะ สำหรับบทความหน้า เราจะมีคำนวณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ทั้งการรูดชำระสินค้าผ่านบัตร และการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า เพื่อให้คุณนำสามารถประมาณการชำระเงินคืนในวันครบกำหนดได้อย่างลงตัวที่สุดค่ะ