มีแต่คนพูดถึงเรื่องของการซื้อกองทุนว่าควรเริ่มต้นซื้ออย่างไรดี ซื้อกองทุนไหนดี มีวิธีการเลือกกองทุนอย่างไร กองทุนแบบมีเงินปันผลกับไม่มีแบบไหนดีกว่ากัน ฯลฯ แต่น้อยคนนักที่จะพูดถึงเรื่องของการขายกองทุน ว่าแล้วเมื่อไหร่ล่ะที่เราควรขายกองทุนดี มีนักลงทุนจำนวนมากที่หลังจากซื้อกองทุนแล้ว ก็ถือไว้ยาว มีทั้งไม่ได้สนใจ ไม่ได้คิดจะขายและก็ไม่รู้ว่าจะขายตอนไหนดี
บางคนก็บอกว่า ควรขายกองทุนเมื่อมีกำไร แต่ถ้ากองทุนนั้นยังทำผลงานได้ดีอยู่ล่ะ ขายออกไปแม้ว่ามีกำไรก็จริง แต่ถ้ามูลค่ากองทุนสูงขึ้นไปอีก เราจะไม่เสียดายเหรอ บางคนก็บอกว่า กองทุนที่ถืออยู่ตั้งแต่ซื้อไม่เคยเห็นกำไร ขาดทุนสลับกับเท่าทุนมาตลอด แบบนี้ขายหนีเลยดีกว่าหรือไม่
ที่จริงแล้วเรื่องเมื่อไหร่ควรขายกองทุนดี เป็นเรื่องของการตัดสินใจเรื่องการเงินที่เป็นส่วนบุคคลจริง ๆ ไม่มีสูตรหรือกฎเกณฑ์อะไรตายตัว เหตุผลหนึ่งก็คือไม่มีใครกำหนดหรือคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้อง ว่ามูลค่าของกองทุนที่เราถืออยู่จะมากขึ้นหรือลดลงอย่างไร นักลงทุนที่เจอกับสถานการณ์เดียวกันอาจตัดสินใจแตกต่างกันก็ได้
การซื้อหรือขายกองทุนบ่อย ๆ เมื่อเห็นว่ามีกำไรแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะนึกถึงเรื่องสำคัญ คือ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายกองทุนด้วย กองทุนบางกองมีค่าธรรมเนียมในการซื้อ บางกองก็ไม่คิด แต่ส่วนใหญ่ทุกกองทุนจะมีค่าธรรมเนียมตอนขาย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าที่ซื้อหรือขาย การซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ จึงอาจได้ผลกำไรไม่คุ้มกับค่าธรรมเนียมก็ได้
ถึงแม้ว่าจะไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ตายตัวว่าเราควรจะขายกองทุนเมื่อไหร่ดี แต่อย่างน้อยก็มีแนวทางที่พอจะเป็นคำแนะนำสำหรับนักลงทุนนำไปคิดพิจารณาเพื่อตัดสินใจได้ ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องเจอกับสถานการณ์เหล่านี้ ก็เป็นเวลาที่เราน่าจะขายกองทุนออกไปหรือยัง
-
เมื่อได้กำไรตามเป้าหมาย
เป้าหมายการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนทุกคนต้องตั้งไว้ก่อนเลือกลงทุน การลงทุนในกองทุนรวมก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราได้ตั้งเป้าหมายผลตอบแทนของกองทุนไว้ แล้วกองทุนทำผลงานได้ตามเป้าหมาย ก็สามารถพิจารณาขายกองทุนนั้นออกไปได้ เช่น ถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่าถ้ากำไร 20% หรือ 30% แล้วจะขาย เมื่อถึงเป้าก็ให้ขายทำกำไรออกไป มีนักลงทุนหลายคนใช้กลยุทธ์เลือกขายเฉพาะส่วนที่เป็นกำไร โดยเก็บเงินต้นถือเป็นกองทุนรวมไว้ต่อไป ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีถ้าแนวโน้มการทำผลงานของกองทุนนั้นยังไปได้ดีอยู่ แต่ถ้าเป้าหมายการซื้อกองทุนคือต้องการเงินปันผลหรือต้องการถือระยะยาว ก็ควรยึดเป้าหมายตามนั้น เพราะที่จริงแล้ว จากการศึกษาจะพบว่าการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าส่วนใหญ่แล้วจะต้องลงทุนในระยะยาว
-
เมื่อต้องการปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม
การมอนิเตอร์และคอยปรับพอร์ตในการลงทุนของเราอยู่เป็นระยะหรือที่เรียกว่า Re-balancing จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงชีวิตของเรา เช่น ถ้าเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่ปีจะเกษียณ แต่เรามีพอร์ตการลงทุนในหุ้นและกองทุนหุ้นมากถึง 50% ถ้าเราต้องการปรับพอร์ตการลงทุนในกองทุนหุ้นที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงลงให้เหลือ 25% เพื่อไปลงทุนในทรัพย์สินอื่นที่มีความเสี่ยงต่อเงินต้นน้อยลง เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ ก็อาจเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเลือกขายกองทุนออกไปบ้าง เป็นต้น
-
เมื่อกองทุนนั้นดูไม่เวิร์คอีกต่อไป
หลายกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนที่ดี มีผลงานบริหารจนมูลค่าของกองทุนเพิ่มมากขึ้นและให้ผลตอบแทนที่ดี แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่การบริหารกองทุนเริ่มไม่ดี ผลตอบแทนเริ่มตกต่ำ การปรับตัวต่อภาวะผันผวนของตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจไม่ทันท่วงที ไม่สามารถรักษาผลงานบริหารกองทุนที่ดีไว้ได้ในระยะยาว ถ้าจะเทียบกับหุ้นรายตัวก็เหมือนกับว่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว กองทุนนั้นก็อาจไม่เวิร์คสำหรับเราอีกต่อไป ทางเลือกหนึ่งก็คือควรขายกองทุนนั้นออกไป แล้วหากองทุนอื่นที่น่าสนใจลงทุนแทน
-
เมื่อมีช่องทางการลงทุนอื่นที่น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อลงทุนไปแล้ว เราก็ยังจะต้องคอยดูและเปรียบเทียบการลงทุนอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีช่องทางใหม่ ๆ ที่สามารถทำกำไรได้ดีกว่ากองทุนที่ถืออยู่ โดยที่ต้องไม่ลืมพิจารณาเรื่องความเสี่ยงด้วย การเลือกขายกองทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เช่น นำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือทำธุรกิจที่น่าสนใจที่เรามีความถนัดและกำลังมาแรง เป็นต้น
แม้ว่าคำแนะนำสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมที่มีคนบอกไว้คือควรถือไว้ในระยะยาวเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า แต่ในระหว่างที่ลงทุน นักลงทุนก็ไม่ควรละเลยในการติดตามข่าวสารการลงทุนและผลตอบแทนของกองทุนที่ถือไว้อย่างสม่ำเสมอด้วยว่า ยังทำผลงานได้ดี ให้ผลตอบแทนที่ดี จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ปรับตัวรับความผันผวนได้เร็ว ก็ยังถือไว้ต่อได้ แต่ถ้ากองทุนเริ่มมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่ากองทุนประเภทเดียวกันติดต่อกันหลายปี การเลือกขายกองทุนออกไปก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรือถ้าอยู่ในสถานการณ์ตามที่ว่ามาข้างต้น ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมในการคิดพิจารณาเพื่อขายกองทุนออกไปเช่นกัน