เรื่องของการลงทุนนั้นเป็นการวางแผนการเงินเฉพาะส่วนบุคคลที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ เพราะรายได้ ค่าใช้จ่ายและภาระต่าง ๆ ของแต่ละคนไม่เท่ากัน การศึกษาแนวทางการลงทุนหรือการแบ่งเงินเพื่อลงทุนจากผู้ที่มีประสบการณ์แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเองอย่างเหมาะสมเป็นวิธีที่ดีที่เราจะได้ไม่ต้องลองถูกลองผิดเอง
สำนวนไทยที่ว่า “ผิดเป็นครู” ก็บอกให้เรารู้อยู่แล้วว่า แม้การแบ่งเงินลงทุนที่ถูกต้องจะเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาเรียนรู้ แต่ประสบการณ์ที่ผิดพลาดจากการแบ่งเงินลงทุนก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเช่นกัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องศึกษาเพื่อให้รู้ว่าไม่ควรทำตามและที่ไม่ควรทำตามนั้นเป็นเพราะอะไร
ปีใหม่แล้วต้องวางแผนการลงทุนกันใหม่ค่ะ ลองทบทวนพฤติกรรมการลงทุนของเราในปีที่ผ่านมาดูว่ามีข้อผิดพลาดประการใดหรือไม่ ถ้ามีก็ขอให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขในปีใหม่นี้เป็นช่วงเวลาดีๆที่จะได้ทบทวนบางสิ่งบางอย่างและแก้ไขให้ถูกต้องกันค่ะ มาสำรวจกันค่ะว่าพฤติกรรมการลงทุนของเราในช่วงปีที่ผ่านมานั้นเป็นแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า
-
ลงทุนแบบไม่กระจายความเสี่ยง
เช่น เลือกลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวเพราะคิดว่าถนัดและรู้มากที่สุดแล้ว ที่สำคัญอยากรวยเร็ว ๆ ไม่อยากไปนั่งรอผลตอบแทนนิด ๆ หน่อย ๆ จากเงินฝากธนาคารหรือตราสารหนี้ เลยลงทุนในหุ้นทั้ง 100% การแบ่งเงินลงทุนแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงมาก ถ้าตลาดเกิดผันผวนขึ้นเมื่อไหร่อย่าว่าแต่หวังผลตอบแทน แม้แต่มูลค่าเงินลงทุนของเราอาจลดลงมากอีกด้วย
-
ลงทุนแบบไม่ดูวัย
เช่น คนที่อายุยังน้อยสามารถเลือกลงทุนที่เสี่ยงได้มากหน่อยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่ดันเอาเงินไปเก็บในธนาคารหรือซื้อแต่ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ถ้าเป็นแบบนี้ก็เหมือนกับว่าแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรเลย หรืออย่างคนที่เข้าใกล้วัยเกษียณ แต่ว่าหัวใจยังวัยรุ่นอยู่ พอร์ตลงทุนยังเทหนักไปที่หุ้น ถือว่าเสี่ยงต่อมูลค่าเงินต้นมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงน่าจะปรับพอร์ตให้มีความเสี่ยงต่ำลงเพราะชีวิตเราจะหวือหวามากไม่ได้แล้ว
-
กู้เงินมาลงทุน
บางคนเห็นคนอื่นลงทุนแล้วได้กำไรเยอะก็นึกอยากลงทุนบ้างแต่เงินเราไม่มี ทีนี้ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องไปกู้เงินมาลงทุนด้วยความเข้าใจว่าอย่างไรก็กำไรแน่ ๆ การกู้เงินมาลงทุนแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงมากเพราะเสี่ยงถึง 2 ต่อด้วยกัน เสี่ยงทั้งจากการลงทุนเองอยู่แล้วที่พวกผลตอบแทนมาก ๆ ก็จะมีความผันผวนมาก มีโอกาสที่มูลค่าเงินลงทุนจะสูญหายไปก็มากด้วย แล้วยังต้องมาคืนทั้งเงินต้นทั้งดอกเบี้ยที่กู้มาอีก เรียกว่าเจ็บหนักทีเดียว
-
ลงทุนโดยไม่คำนึงถึงสภาพคล่อง
สำหรับบางคนก็ต้องเรียกว่าถึงขั้นบ้าลงทุนหนัก มีเงินไม่ได้เอาไปลงทุนเสียหมดจนเหลือเงินไม่พอไว้ใช้จ่ายที่จำเป็นหรือเหลือเงินไม่เพียงพอสำหรับสภาพคล่องในช่วง 3-6 เดือน หรือบางคนก็บ้าซื้อแต่ประกันชีวิตอย่างเดียวก็มี แล้วส่วนใหญ่ประกันชีวิตก็มักจะยาว ถึงจะส่งค่าเบี้ยประกันไม่นาน แต่ก็มีช่วงเวลาที่ต้องทิ้งเงินไว้อีกหลายปี ถึงเวลาเงินไม่พอใช้กลายเป็นต้องไปหากู้เขามาเสียอีกทั้งที่จริงตัวเองก็มีเงิน
-
ลงทุนตามคนอื่น
โดยที่ไม่ดูว่าเหมาะสมกับเราหรือเปล่า คนอื่นเฮไหน เราก็เฮตาม พฤติกรรมแบบนี้ก็ถือเป็นพฤติกรรมการแบ่งเงินผิดๆอีกอย่างหนึ่ง ใครว่ากองทุนไหนดีเราก็ซื้อตาม เพื่อนชวนซื้อประกันชีวิตเราก็ซื้อตาม เพื่อนชวนซื้อ LTF เราก็ซื้อตาม คือพูดง่าย ๆ ว่าซื้อตามเพื่อนหมด โดยที่ไม่ได้ดูเลยว่าพอร์ตการลงทุนของเรามีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้างแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้เงินที่แบ่งลงทุนไปอาจไม่ได้บริหารให้สอดรับกับความเสี่ยงก็ได้
-
ลงทุนแล้วไม่ติดตาม
ข้อนี้มีหลายคนเป็นนะคะ ลงทุนอะไรไว้แล้วก็ทิ้งไปเลย กะว่าให้เป็นการลงทุนระยะยาวไปเลยรึเปล่า ทั้งที่จริงบางจังหวะของการลงทุนอาจเป็นจังหวะที่ดีในการขายทำกำไรก็ได้ เมื่อผ่านช่วงนาทีทองนั้นไปแล้วก็อาจต้องรออีกนานกว่าจะมีจังหวะที่ดีแบบนั้นอีก เงินที่ถูกแบ่งเพื่อไปลงทุนโดยที่เราไม่ได้ติดตามผลก็เป็นการลงทุนแบบผิด ๆ เหมือนกัน
-
ลงทุนแต่สิ่งที่ตัวเองถนัด
เช่น คนที่ถนัดและมีความรู้ในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็เลือกนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบมากมาย โหมซื้อแต่คอนโด ซื้อตึก ซื้ออพาร์ทเมนท์หรือซื้อบ้านเต็มไปหมดโดยไม่เผื่อเงินไปลงทุนรูปแบบอื่นบ้างซึ่งในที่นี้หมายถึงการลงทุนที่เราอาจไม่ต้องใช้เวลาดูแลมากเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์และยังเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย อย่างเช่น ช่วงตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ผลตอบแทนรวมของเราก็จะไม่โดนกระทบมากนัก
- ลงทุนโดยที่ไม่ดูจังหวะ การลงทุนในสินทรัพย์บางประเภท เช่น กองทุน ทองคำ หรือ หุ้น ควรต้องดูจังหวะสักนิด ไม่ใช่คิดว่าจะเข้าซื้อเมื่อไหร่ก็ได้เพราะอย่างไรก็จะถือยาวอยู่แล้ว ควรศึกษาและดูจังหวะการเข้าลงทุนสักหน่อย แน่นอนว่าไม่มีใครคาดการณ์ได้หรอกว่าจะได้ซื้อที่จุดต่ำสุด แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรเข้าซื้อในจุดสูงสุด เพราะเป็นจุดที่กว่ามูลค่าการลงทุนของเราจะพลิกกลับมาทำกำไรต้องรอเวลานาน
นี่แหละค่ะการแบ่งเงินลงทุนแบบผิด ๆ ที่เราไม่ควรทำตาม แต่ก็ควรศึกษาไว้เพื่อนำไปใช้วางแผนลงทุนให้กับตัวเองในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้อย่างถูกวิธีกันค่ะ