นับวันสถานการณ์คนรวยจนในประเทศไทยยิ่งนับวันจะห่างไกลกันเหลือเกิน คนรวยก็รวยล้นฟ้า ใช้ชีวิตหรูหราสุขสบายส่วนคนจนก็จนจนแทบจะไม่มีอะไรกิน แถมยังมีหนี้สินมากมายอีกด้วย ว่ากันว่าความเหลี่ยมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยนี้มีรายได้ต่างกันถึง 22 เท่า
จากการสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จากการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 1,212 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 95 มีหนี้สิน ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 8 ปี และดูเหมือนว่าหนี้สินพวกนี้เกิดจากการนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ และตามด้วยกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ และกู้เพื่อนำมาใช้คืนเงินกู้รายอื่นอีกที นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 119,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้นอกระบบถึงกว่า 60 % ด้วยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 12.5 % ต่อเดือน หรือปีละ 150% ส่วนเงินกู้ในระบบจะมีประมาณร้อยละ 39% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8.43% และเมื่อมองถึงความสามารถในการใช้หนี้พวกเขาจะใช้ได้อยู่ที่ประมาณ 8,000กว่าบาท ซึ่งก็กินเงินเดือนเกินครึ่งไปแล้ว จึงจะเห็นได้ว่าถึงเงินเดือนจะออกก็ไม่ได้สามารถนำมาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขหรือใช้จ่ายอย่างเพียงพอได้เลย
หันมาดูฝั่งคนรวยบ้าง ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินฝากในประเทศไทยมีทั้งหมดเกือบ 12 ล้านล้านบาท แต่ล้วนกระจุกอยู่ในกลุ่มคนรวยที่มีเงินฝากระดับ 15 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 99.9 %
ยิ่งรัฐบาล ประกาศเลื่อนการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงเหลือ 1 ล้านบาท เป็น 11 สิงหาคม ปี 2563 จากกำหนดการเดิม 11 สิงหาคม ปี 2559 นี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้ผู้ฝากเงินสามารถทยอยปรับตัวเพื่อรองรับกับวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้าได้ อีกทั้งยังได้เปลี่ยนวงเงินการคุ้มครองเงินฝาก ซึ่ง 2 ปีนี้ รัฐยังคุ้มครองวงเงินฝากให้อยู่ที่ 15 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน จากนั้นในรอบ 1 ปีต่อๆไปจะลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 10 ล้านบาท 5 ล้านบาท และปีที่ 5 จะลดคุ้มครองอยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งระดับการคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทยนี้ คิดเป็นสัดส่วน 72.8 เท่าของรายได้ต่อหัวของประชากร ถือว่าเป็นระดับที่สูงกว่าหลายประเทศมากเมื่อเทียบกับ ประเทศมาเลเซียที่อยู่ 6.7 เท่าของรายได้ประชากรต่อหัว หรือประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ระดับ 3.8 เท่าของรายได้ประชากรต่อหัว เป็นต้น จึงเป็นประโยชน์ต่อคนรวยมากเข้าไปอีก
ทั้งนี้นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของการมีรายได้เหลื่อมล้ำกัน ผลมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ทำให้คนมีความรู้มากขึ้นเข้าถึงการพัฒนาทักษะได้มากขึ้นจึงทำให้ได้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันเพิ่มขึ้น สำหรับสัดส่วนของรายได้คือ ประชากรที่มีรายได้สูงสุดคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้เองจะมีรายได้ห่างจากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดถึง 22 เท่า จึงถือว่าเป็นช่องว่างที่สูงมากและต้องรีบแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน พบว่า การถือครองที่ดินของกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุดถือครองที่ดินอยู่ถึง 61.5% ส่วนประชากรอีก 90% ถือครองที่ดินรวมกันพียง 38.5% ส่วนเงินฝากธนาคารก็เป็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือยอดสูงๆอยู่ที่กลุ่มคนรวย นอกจากนี้ยังพบอีกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ครอบคลุมมาถึงคุณภาพของการบริการ ด้านการศึกษารวมถึงด้านสาธารณสุขด้วย
อย่างไรก็ดีผลการสำรวจในปีนี้พบว่าคนจนในประเทศไทยหรือกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,644 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 4.85 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของประชากรทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีจำนวน 7.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 10.53% ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่าลดลงไปถึง 2.25 ล้านคน ซึ่งถึงแม้ปัญหาความยากจนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงว่าบางกลุ่มจะกลับลงไปอยู่ในกลุ่มยากจนต่อไปอีก หากภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 26.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของประชาชนที่มีรายได้น้อยที่สุด โดยกลุ่มเกือบจนจะมีรายได้สูงกว่า 2,644 บาท แต่ต่ำกว่า 3,173 บาท มีอยู่ 5.6 ล้านคน และกลุ่มมีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาท มีจำนวน 16.5 ล้านคน ซึ่งกลุ่มพวกนี้จะต้องคอยจับตาดูและระมัดระวังพร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ต้องการให้มีการสร้างอาชีพและการสร้างโอกาสทางอาชีพและทำให้มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น รัฐบาลจึงต้องช่วยเหลืออุดหนุนและลดรายจ่าย ให้กับพวกเขา พร้อมทั้งควรออกกฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสนับสนุนให้ดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย สำหรับภาวะสังคมไตรมาศที่ 3/2559 พบว่ามีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.62 แสนคน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ 0.94%
นอกจากการช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้วคงต้องพยายามให้กลุ่มคนยากจนหรือมีรายได้น้อยช่วยตัวเองให้ได้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงจะเป็นปัญหาแบบนี้คู่กับสังคมไทยนานแสนนาน เพราะพบว่าคนที่มีรายได้น้อยหรือคนจนนั้นมีมากในสังคมไทย และก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เท่าทุกวันนี้ ซึ่งก็ต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไปด้วย