ปัญหาที่ชาวมนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องเจอบ่อย ๆ ก็คือ เงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน หรือ ใช้เงินเดือนชนเดือน ชักหน้าไม่ถึงหลังตลอด ทำให้ไม่มีเงินเก็บเหลือในบัญชี รายจ่ายก็เพิ่มมากขึ้นในทุกเดือน ทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ และค่าบัตรเครดิต ซึ่งเงินเดือนเพียง 15,000 บาทจึงไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนในยุคสมัยใหม่นี้
เราเข้าใจปัญหานี้ และหาทางออกให้สำหรับมุนษย์เงินเดือนทุกคน ที่มีปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือ “การบริหารเงินเดือน 15,000 บาทให้มีเงินเหลือ” และมีพอใช้จนถึงสิ้นเดือนแบบสบาย ๆ ไม่ต้องกังวลเหมือนดังเดือนที่ผ่าน ๆ มาอีกต่อไป
เทคนิคการบริหารเงินเดือนแบบง่าย ๆ
-
ปีแรกของการได้รับเงินเดือน ควรจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายทั้งหมด
การจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายเป็นเรื่องแรกที่สำคัญ ควรเริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1ของเดือน จนถึงวันสินเดือน แล้วนำมาสรุปว่าคุณใช้จ่ายไปมากน้อยเท่าไหร่ ใช้มากเกิน หรือยังพอเหลือเก็บ เทคนิคง่าย ๆ คือให้คุณคำนวณรายจ่ายตายตัวในแต่ละเดือน อย่างเช่น ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ค่าอาหารในแต่ละมื้อ ค่าซื้อของใช้จำเป็น นำมาหารเฉลี่ยรวมกันว่าภายในหนึ่งเดือน ควรใช้เงินจำนวนเท่าไหร่
-
จดบันทึกหนี้สินทั้งหมด
หากต้องการผ่อนชำระสินค้าต่าง ๆ อย่าลืมทำตารางกำหนดวันจ่ายค่างวด หรือดอกเบี้ยเอาไว้ด้วย โดยอาจจะจดไว้ที่ปฏิทิน บันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือ หรือจดเพิ่มเติมไว้ในสมุดบันทึกรายรับ – รายจ่ายด้วยเลยก็ได้ เพื่อป้องกันการลืมวันชำระ และสามารถกันเงินไว้ใช้หนี้ในส่วนนี้ได้ กฎของการเป็นหนี้ คือ “ตรงต่อเวลา” โดยการชำระหนี้ให้ตรงเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการเสียดอกเบี้ยแบบเท่าตัว
-
เริ่มออมเงินทันที
หลักการง่าย ๆ ที่หลายคนคงทราบดี ก็คือ “ต้องออมก่อนใช้” โดยการแบ่งเงินออมไว้อย่างน้อย 10% ของรายได้ อย่างเช่น เงินเดือน 15,000 บาท ให้กันเงินออกมาทันที 1,500 บาท หรือหากใครไม่แน่ใจว่าตัวเองจะไม่ใช้เงินจำนวนนี้ได้ เราแนะนำให้เปิดบัญชีเงินฝากประจำเพื่อตัดเงินส่วนนี้ไว้ในบัญชีออมเงินในอนาคตของคุณแทน หรือใช้เทคนิคที่เคยทำกันสมัยเด็ก ก็คือการหยอดกระปุกออมสิน เพียงวันละ 50 บาท เมื่อครบเดือนจึงค่อยนำไปฝากธนาคาร ภายใน 1 ปีคุณก็จะมีเงินเก็บ 18,000 บาท และหากคุณออมอย่างนี้ไปจนครบ 15 ปี คุณก็จะมีเงินออม 270,000 บาทเลยทีเดียว
-
ทำเงินออมให้งอกเงย
เมื่อคุณมีเงินออมได้ระยะหนึ่ง ก็ควรที่จะ “ให้เงินทำงาน” คือ การที่นำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออม การทำประกัน หรือการลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ในข้อนี้คุณต้องเข้าใจ และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนที่คุณสนใจให้ดี สำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น เราขอแนะนำให้ นำเงินออมไปลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า และที่สำคัญใช้เงินลงทุนไม่มาก ก็สามารถร่วมลงทุนได้ พร้อมรับผลตอบแทนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย หรือเงินปันผล ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกองทุนนั้น ๆ ด้วย
นอกจากกองทุนรวมแล้ว ผู้ที่มีรายได้ประจำสามารถสร้างเงินให้งอกเงยได้ด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างเช่น การทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ หรือพันธบัตร ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยเช่นกัน ทั้งนี้ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นคุณควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
-
วางแผนกับภาษี
ผู้ที่มีเงินได้ ไม่ว่าจะมาจากที่ใด ก็ต้องมีการเสียภาษีด้วยกันทั้งนั้น แต่ใครจะเสียภาษีมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนภาษีอย่างไร การวางแผนด้านภาษีนั้น ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ก็คือ จะต้องใช้สิทธิทุกอย่างที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ การวางแผนภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มุนษย์เงินเดือนทุกคนต้องให้ความสนใจ เพราะนอกจากคุณจะเสียภาษีน้อยลงแล้ว คุณยังมีเงินเหลือไว้ใช้อย่างอื่นอีกด้วย ซึ่งการลดหย่อนภาษี ก็มีทั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อเลี้ยงชีพ (RMF) หรือประกันชีวิต ที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ คุณจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลให้ดี เพื่อเวลายื่นภาษีจะได้นำมาลดหย่อดภาษีในปีนั้นของคุณได้
-
บริหารเงินส่วนที่เหลือ
หลังจากที่คุณกันเงินไว้ออม หักค่าใช้จ่ายจำเป็น ใช้หนี้ และการลงทุนแล้ว หากคุณยังเหลือเงินอีกนิดหน่อย ก็สามารถบริหารเงินส่วนนี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด อย่างเช่น การไปซื้อของที่คุณอยากได้, ไปเที่ยว, หรือไปพักผ่อนเต็มพลังให้กับชีวิต สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้คุณมีแรงสู้กับงานกำลังจากมา เราแนะนำให้ใช้เงินจำนวนนี้ในช่วงสิ้นเดือน หรือประมาณปลายเดือน ถึงแม้คุณใช้หมดก็ไม่ต้องกังวล เพราะเงินเดือนของเดือนใหม่ก็จะได้ต่อไปนั่นเอง
ตัวอย่าง (ตารางการบริหารเงิน 15,000 บาทภายใน 1 เดือน)
ทั้งนี้ ข้อมูลในตารางคุณก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคุณได้ เราเพียงแค่ยกตัวอย่างให้เป็นแนวทางในการคำนวณเท่านั้น ส่วนจำนวนเงินที่เหลือจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละคน แต่ถ้าคุณสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้ลดลงได้ก็ควรจะทำค่ะ เพื่อเงินในส่วนคงเหลือจะมีมากขึ้น ขอให้มีความสุขกับการบริหารเงินของคุณเองนะค่ะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า