การลงทุนที่แตกต่างกันก็จะให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันไปค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าการลงทุนใดที่มีความเสี่ยงน้อยก็จะให้ผลตอบแทนน้อย ในขณะที่การลงทุนใดที่มีความเสี่ยงมากก็จะให้ผลตอบแทนมากกว่า เป็นไปตามกฎทางการเงินในเรื่องของ High Risk, High Return นั่นเอง
วันนี้เราจะมาเรียงลำดับของการลงทุนประเภทต่าง ๆ กันว่าการลงทุนไหนมีความเสี่ยงมากน้อยกว่ากัน เริ่มจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดไปมากที่สุดค่ะ
-
เงินฝากธนาคาร
ผลตอบแทนของเงินฝากธนาคารอยู่ในรูปของอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากธนาคารในปัจจุบันถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในแบบอื่น ๆ เหตุผลหลักก็เป็นเรื่องของความปลอดภัยของเงินต้นที่มีสูง และความคล่องตัวเมื่อต้องเบิกถอนหรือที่เราเรียกว่าเป็นสภาพคล่องนั่นเอง แม้ว่าจะเป็นการถอนเงินจากการฝากประจำที่ยังไม่ถึงกำหนดและไม่ได้ดอกเบี้ย แต่เงินต้นก็จะยังอยู่ครบอย่างแน่นอนและแม้ว่ารัฐบาลจะจำกัดการประกันเงินฝากของธนาคารลง ก็ไม่ได้ทำให้เงินฝากธนาคารมีดอกเบี้ยมากขึ้นจากความเสี่ยงที่มากขึ้น เพราะเงินฝากธนาคารเป็นรูปแบบการออมและการลงทุนที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดี ว่ามีความเสี่ยงต่ำมากนั่นเอง
ผลตอบแทนของเงินฝากธนาคารนั้นก็ยังสูงต่ำมากน้อยแตกต่างกันไปตามประเภทของเงินฝากและระยะเวลาของการฝากเงิน เงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถฝากหรือถอนเมื่อไหร่ก็ได้นั้นจะมีดอกเบี้ยต่ำที่สุด ปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น ในขณะที่เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปี ก็จะมีดอกเบี้ยตั้งแต่ 0.9% ต่อไป ไล่ไปจนถึง 1.6% ต่อปีเท่านั้น
-
ตราสารหนี้
ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ซึ่งเป็นผลมาจากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเราจะเรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในหมวดตราสารหนี้ด้วยกัน เพราะโอกาสที่รัฐบาลจะเบี้ยวหนี้นั้นย่อมน้อยกว่าบริษัทเอกชนหรือบุคคลอย่างแน่นอน เมื่อรัฐบาลต้องการกู้เงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ หนึ่งในช่องทางนั้นก็คือการออกพันธบัตรรัฐบาลนำออกจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป พันธบัตรรัฐบาลล่าสุดที่ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2559 – 21เมษายน 2560 รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี และรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 56% ต่อปี
ส่วนบริษัทเอกชนเมื่อต้องการกู้เงินก็จะออกเป็นหุ้นกู้ออกจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปผ่านธนาคาร โดยจะต้องให้บริษัทจัดอันดับออกอันดับเครดิตของหุ้นกู้นั้น ทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้จะมีจำนวนเงินหน้าตั๋ว อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลากำหนดไว้อย่างแน่นอน ผู้ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้หากต้องการใช้เงินก่อนถึงเวลาครบกำหนดสามารถนำพันธบัตรและหุ้นกู้ไปขายลด ถือเป็นตราสารที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ เช่น หุ้นกู้ของบริษัทสยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1 ปี 2560 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563 เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ด้อยสิทธิ อัตราดอกเบี้ยคิดแบบคงที่ร้อยละ 3.95-4.0% ต่อปี อายุหุ้นกู้ 3 ปี
ผลตอบแทนที่จะได้จากตราสารหนี้นั้นจะมากหรือน้อยก็ยังขึ้นอยู่กับว่าตราสารหนี้นั้นออกโดยรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน และบริษัทนั้นมีความมั่นคงทางการเงินมากขนาดไหน นอกจากนั้นผลตอบแทนยังขึ้นอยู่กับประเภทของตราสารหนี้ ว่าเป็นตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่ ด้อยสิทธิหรือไม่ และมีการจัดอันดับไว้อย่างไร ยิ่งได้รับการจัดอันดับไว้สูงก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนก็จะต่ำกว่า
-
กองทุนรวม
กองทุนรวมมีหลายแบบมีทั้งแบบที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียว หุ้นอย่างเดียวหรือเป็นแบบผสมที่ลงทุนทั้งตราสารหนี้และหุ้นในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ผลตอบแทนจากกองทุนรวมจึงมีความหลากหลาย แต่โดยเฉลี่ยแล้วผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนรวมจะอยู่ระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้และหุ้น เพราะมีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้หลายตัวและหุ้นหลายตัว จึงสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าและกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าด้วยนั่นเอง
ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากกองทุนรวมนั้น นอกเหนือไปจากความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่นำไปลงทุนแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการบริหารการลงทุนของผู้จัดการกองทุนด้วยว่าจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนในแต่ละช่วงอย่างไร ผลตอบแทนจากกองทุนรวมจึงมีความหลากหลายมาก มีตั้งแต่ติดลบไปจนถึงผลตอบแทนมากว่า 10% ต่อปีก็มีให้เห็นเช่นกัน
-
หุ้น
ถ้าไม่นับตราสารอนุพันธ์ก็ต้องถือว่าหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ในขณะที่ความเสี่ยงก็มากที่สุดด้วย การลงทุนในหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนให้ได้มากเป็น 100% หรือมากกว่านั้น ซึ่งทั้งเงินฝากธนาคาร และตราสารหนี้ไม่มีทางให้ผลตอบแทนได้มากขนาดนี้อย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันเงินลงทุนในหุ้นก็มีโอกาสขาดทุนได้มากเป็น 100% เช่นเดียวกัน การลงทุนในหุ้นจึงถือเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อนที่จะเลือกลงทุน
-
ตราสารอนุพันธ์
การลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้นถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุด เป็นการลงทุนกับการอ้างอิงดัชนีหรือราคาสินค้า เช่น ราคาข้าว ราคายางพารา ราคาน้ำมัน ราคาทองหรือดัชนีราคาหุ้น เป็นต้น แรกเริ่มมีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ทั้งสำหรับผู้ที่มีสินค้าในมืออย่างเกษตรกร ผู้ถือหุ้นหรือผู้ถือทองคำและผู้ที่ต้องการซื้อสินค้า ที่ต่างก็กลัวว่าราคาสินค้าจะมีความผันผวนในอนาคตจึงเข้าทำสัญญากันไว้ก่อน แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาก็จะมีผู้ที่ได้กำไรและขาดทุนจากสัญญาฉบับเดียวกันนี้อย่างแน่นอน
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีสินค้าในมือ ตราสารอนุพันธ์ถือเป็นช่องทางและโอกาสในการเข้าไปเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคาสินค้าเหล่านี้ได้ ถ้ามีการคาดการณ์แนวโน้มของราคาถูกต้องก็มีโอกาสได้กำไรอย่างมหาศาล แต่ถ้าคาดการณ์ผิดพลาดก็มีโอกาสขาดทุนได้สูงมากเช่นเดียวกัน
การจัดอันดับผลตอบแทนจากการลงทุนแต่ละประเภทก็เป็นอย่างที่เราเห็นข้างต้น เป็นการจัดอันดับโดยแบ่งการลงทุนเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ แต่ในการลงทุนแต่ละประเภทก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยของการลงทุนที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกันไปอีก ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เมื่อเห็นผลตอบแทนที่แตกต่างกันแบบนี้ ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราไม่ควรเลือกนำเงินลงทุนไปลงทุนในทรัพย์สินอะไรแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากเลือกฝากเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียวก็จะเป็นการเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า หากเลือกลงทุนในหุ้นทั้งหมดก็ดูจะเป็นการเสี่ยงมากเกินไป การบริหารพอร์ตการลงทุนจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่นักลงทุนทุกคนควรจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเป็นการบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงให้เหมาะสมต่อไป
อ้างอิง
- http://www.kasikornbank.com/TH/RatesAndFees/Deposit/Pages/Deposit.aspx
- https://www.bot.or.th/Thai/DebtSecurities/SalestoIndividuals/GOVBond/Doc_LibCFFiscalYear/ProspectusSavingsBondScirpless_60-1.pdf
- http://www.chandra.ac.th/th/TSI/CD1/investor/investor_DR/IDR/derivertive01/derivative1.html
- http://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSDE01.aspx?TransID=104050