เมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่ถึงปีละ 100,000 บาท มาลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นเงิน 1,500 และ 3,000 บาท ผู้ที่ลงทะเบียนทันในเวลาที่กำหนดก็ทยอยได้รับสิทธิ์กันไปตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐหรือลงทะเบียนคนจนนี้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณฉุกเฉินเป็นเงิน 1.27 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาการเปิดให้ลงทะเบียนเพียงแค่ 1 เดือน และไม่มีการแจ้งว่าหลังจากลงทะเบียนแล้วผู้มีรายได้น้อยจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างไร จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะไปลงทะเบียน อีกทั้งธนาคารที่รับลงทะเบียนให้ข้อมูลเพียงว่าเป็นการจัดทำฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย คนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ได้ไปลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก มีผู้มีรายได้น้อยไปลงทะเบียนในช่วงเวลาดังกล่าวเพียงแค่ 8.3 ล้านคนเท่านั้น และสุดท้ายผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับเงินเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพในครั้งนี้มี 5.4 ล้านคน ไม่รวมผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกรที่ภาครัฐเผยว่ามีมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างอื่นแล้ว ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่ถึง 3 หมื่นบาทต่อไปจะได้เงินช่วย 3,000 บาท ส่วนผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท แต่ไม่ถึงหนึ่งแสนบาทต่อปี จะได้เงินช่วย 1,500 บาท
นายอภิศักดิ์ ตินติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเผยว่า ไม่เกินเดือนเมษายน 2560 รัฐบาลจะเปิดให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเป็นรอบที่ 2 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่เป็นช่วงกลางปี เพื่อให้รัฐบาลสามารถดูยอดผู้มีรายได้ และวางแผนช่วยเหลือต่อไปได้ อย่างไรความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในครั้งนี้จะไม่ใช่การแจกเงินเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่จะเป็นสวัสดิการที่ช่วยเหลือในเรื่องค่าไฟค่าน้ำ รถไฟ หรือรถเมล์ โดยรัฐมีแผนจะช่วยเหลือ 60-80% ส่วนอีก 20-40% ผู้มีรายได้น้อยจะต้องออกเอง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยว่า ข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนที่จะนำมาวางแผนเรื่องสวัสดิการ จะมีข้อมูลเรื่องของ รายได้ อาชีพ สุขภาพ และที่อยู่อาศัย เป็นหลัก
ที่ผ่านมาแม้จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรัฐบาลแจกเงินช่วยเหลือว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างถูกต้องหรือไม่ ทางรัฐบาลมองว่าการแจกเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อถดถอย ถือเป็นความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของประชาชนและเป็นความช่วยเหลือที่ถูกกลุ่มเป้าหมายด้วย แต่สำหรับความช่วยเหลือในรอบต่อไปจะไม่ใช่การแจกเงินเหมือนที่ผ่านมา
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้เชิญชวนประชาชนที่พลาดจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเมื่อครั้งที่ผ่านมา ให้สามารถมาลงทะเบียนในครั้งนี้ได้ สวัสดิการที่จะได้รับอาจมีมูลค่ามากกว่าเงินสดที่รัฐบาลแจกในครั้งก่อนก็ได้ ไม่อยากให้ผู้มีรายได้น้อยต้องพลาดกับสิทธิที่จะได้รับไป
จากข้อมูลผู้มีรายได้ที่มาลงทะเบียนในครั้งที่ผ่านมา ทำให้ทราบข้อมูลว่าจากผู้มีรายได้น้อยกว่า 8 ล้านคน เป็นผู้มีรายได้น้อยที่เป็นคนชรามากถึงเกือบ 2 ล้านคน ทำให้รัฐบาลพิจารณาที่จะเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับคนชราที่มีรายได้น้อยด้วย รัฐวางแผนที่จะไม่ต้องควักงบประมาณเพิ่มเติม ด้วยการให้คนชราที่มีฐานะสามารถสละสิทธิ์ เพื่อรัฐจะได้นำเงินส่วนนั้นมาเป็นเบี้ยยังชีพเพิ่มสำหรับคนชราที่มีรายได้น้อยได้ เพราะที่จริงแล้วรายได้ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพของคนชราอยู่ที่ 1,200-1,500 บาทต่อเดือน ในขณะที่เบี้ยยังชีพคนชราที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 600-900 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่รัฐต้องวางแผนเรื่องของการสละสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพว่าคนที่สละสิทธิ์จะได้รับอะไรเป็นการตอบแทน เช่น ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ ได้รับการลดหย่อนภาษีเหมือนการบริจาค เป็นต้น
สำหรับผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง นอกเหนือจากการเร่งให้มีการลงทะเบียนเร็วขึ้นในปีนี้เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวางแผนเรื่องสวัสดิการได้เร็วขึ้นแล้ว ยังมีแนวคิดในการทำบัตรสำหรับผู้มีรายได้น้อยด้วย บัตรนี้สามารถใช้แทนบัตรเงินสด เป็นบัตรส่วนลดเมื่อใช้บริการของภาครัฐและเป็นบัตรที่ไว้รับสวัสดิการที่รัฐจะโอนเงินให้ด้วย เช่น เบี้ยคนชรา เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเผยว่ากระทรวงการคลังจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในเดือนมีนาคม 2560 นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ขึ้นรถเมล์ฟรี หรือทำประกันภัยอุบัติเหตุ ทั้งนี้ยังทำให้รัฐทราบถึงข้อมูลของทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งรัฐบาลจะได้ให้ความช่วยเหลือแก้ไขหนี้นอกระบบต่อไป
ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับช่วงเวลาให้ลงทะเบียน ขอให้ติดตามข่าวประชาสัมพันธ์กันอีกครั้ง อย่าให้พลาดและเน้นย้ำสำหรับผู้มีสิทธิลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- สัญชาติไทย
- อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
- ว่างงานอยู่ หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
หน่วยที่รับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย (สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารกรุงไทย
หลักฐานที่ใช้ในการลงทะเบียน : บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยมาแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ แต่หากมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงและต้องการแก้ไข สามารถเข้าไปแก้ไขได้ด้วยตัวเองผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของกรมสรรพากร เป็นต้น
อ้างอิง