“วันนี้ คุณมีความสุขกับงานที่ทำหรือเปล่า?”
คำถามชวนคิด ที่คอยสะกิดให้คนทำงานเฝ้าไถ่ถามตัวเองอยู่ทุกวัน หากใครได้ทำงานที่ใช่ ตรงใจ เงินเดือนดี นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของชีวิต เพราะนอกจากจะทำให้หน้าที่การงานมีความก้าวหน้าแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความสุขในการทำงานจนใครหลายคนต้องแอบอิจฉาเป็นแน่
ล่าสุด นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาเผยผลสำรวจ ดัชนีความสุขของพนักงานประจำปี 2016 โดยได้สำรวจพนักงานทุกระดับในฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย ตั้งแต่พนักงานที่เพิ่งจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์ใดๆ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรทั่วประเทศ โดยแต่ละคนมีอายุงาน ความเชี่ยวชาญและอยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งได้ข้อสรุป ดังนี้
- ประเทศไทยได้คะแนนความสุขเฉลี่ย 5.74 ซึ่งครองอันดับ 3 ของเอเชียที่พนักงานมีความสุขในการทำงานมากที่สุด รองจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 6.25 และอินโดนีเซียที่ได้คะแนนเฉลี่ย 6.16 ซึ่งจากคะแนนเฉลี่ยนี้ พบว่า พนักงานไทย 100 คน จะมีคนที่มีทัศนคติเป็นบวกกับงานที่ทำมากถึง 61 คน ขณะที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจะพบ 73 และ 71 คนตามลำดับ
- มุมมองการทำงานในอีก 6 เดือนข้างหน้าของผู้ตอบแบบสอบ พบว่า ดัชนีความสุขในการทำงานของพนักงานไทยอยู่ในระดับกลางๆ ที่ระดับ 5.66 เมื่อเทียบกับอีกเจ็ดประเทศ โดยอินโดนีเซียมีดัชนีความสุขระดับสูงสุดที่คะแนน 6.58 ตามด้วยเวียดนามที่ 6.30 และฟิลิปปินส์ที่ 6.18 ส่วนประเทศสิงคโปร์ยังคงรั้งท้ายด้วยคะแนน 4.93 และเป็นประเทศเดียวที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 5.00 อีกด้วย
- ปัจจัยที่ทำให้พนักงานไทยมีความสุขในที่ทำงาน คือสถานที่ทำงานเดินทางสะดวก และสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ที่ต้องการ ต่อมาเป็นเรื่องชื่อเสียงขององค์กร และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ที่จะส่งผลให้ชีวิตการทำงานมีความสุขต่อไปหรือไม่
- ส่วนปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขจนถึงขั้นต้องลาออกจากบริษัท ก็คือ การมีผู้นำที่ขาดคุณสมบัติในการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงาน และไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าควรจะทำงานอยู่ในองค์กรต่อไปหรือจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ดี
- จากผลสำรวจเชิงลึกยังพบอีกด้วยว่า พนักงานที่ทำงานปัจจุบันมา 3-5 ปี จะเป็นกลุ่มที่มีความสุขในการทำงานมากที่สุด ซึ่งเป็นพนักงานในตำแหน่งงานบริหาร งานท่องเที่ยว งานโรงแรม งานอาหารและเครื่องดื่ม งานธุรการ และงานทรัพยากรบุคคล ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง/สถาปัตยกรรม ธุรกิจโรงแรม บริการ/จัดเลี้ยง และธุรกิจการแพทย์/เภสัชกรรม โดยผู้ที่มีความสุขมากที่สุดจะเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการ
ขอบคุณภาพจาก www.jobsdb.com
- ส่วนพนักงานที่มีคะแนนความสุขต่ำสุดจะเป็นพนักงานที่เพิ่งเริ่มงานในองค์กรน้อยกว่า 1 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในสายงานขนส่ง งานไอที งานการตลาดและประชาสัมพันธ์ ในธุรกิจประกันภัย ธุรกิจสารเคมี/พลาสติก/กระดาษ/ปิโตรเคมี และธุรกิจยานยนต์ โดยพนักงานในตำแหน่งหัวหน้างานจะเป็นผู้ที่มีความสุขน้อยที่สุด
- 34% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกมองหาโอกาสที่ดีกว่าหรือหางานใหม่เพื่อเพิ่มความสุขในการทำงาน อีก 19% เลือกทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปตราบใดที่พวกเขายังได้รับการขึ้นเงินเดือน ในขณะที่ 8% บอกว่าพวกเขาจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าได้รับการยอมรับในความสามารถหรือได้เลื่อนตำแหน่ง
ทุกคนล้วนอยากมีความสุขในการทำงาน คงไม่มีใครต้องการเปลี่ยนงานบ่อยๆ หรืออดทนทำงานที่ไม่ชอบ ผลสำรวจนี้คงสะท้อนสิ่งต่างๆ ให้ทั้งผู้ประกอบการและคนทำงานได้ตระหนักถึงปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสุขดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนก็คงอยาก “มีงานที่ดี ที่มีความสุข” ด้วยกันทั้งนั้นใช่มั้ยคะ