ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ (SME Bank) ที่ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนา ส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุนกิจการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME นั้น เท่าที่ผ่านมาเกือบสิบปี ธนาคารต้องประสบกับภาวะขาดทุนมหาศาล มีหนี้เสียจากการปล่อยกู้เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างหนี้เสียในปี พ.ศ. 2551 สูงถึงเกือบ 50% เลยทีเดียว จึงมีปัญหาให้ต้องแก้ไขหลายเรื่อง ทั้งเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เอ็นพีแอล ความไม่โปร่งใสในการอนุมัติสินเชื่อและการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของพนักงานธนาคารจนสุดท้ายต้องเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ได้มีการแต่งตั้ง นายมงคล ลีลาธรรม ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ซึ่งนายมงคลมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการบริหารการเงินจากธนาคารหลายแห่ง เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บมจ.เครดิตฟองซิเอร์ ไทยเคหะ เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บมจ.เงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ และมีประสบการณ์ในการทำงานในภาครัฐมาก โดยเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai TPBS) เคยเป็นผู้ตรวจการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน และเคยเป็นกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ด้วยประสบการณ์การทำงานในวงการการเงินการธนาคารมาอย่างโชกโชน ทำให้บอร์ดบริหารเชื่อมั่นว่า นายมงคลจะสามารถนำพาให้เอสเอ็มอีแบงก์กลับมาเป็นธนาคารที่สนับสนุนกิจการเอสเอ็มอีและสามารถสร้างผลกำไรได้อีกครั้ง
ข่าวล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์ได้เผยว่าธนาคารได้รับหน้าที่บริหารเงินกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐของรัฐบาลวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดย 1.8 หมื่นล้านจะเป็นการปล่อยกู้ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นใน 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการตั้งกองทุนนี้เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำไปพัฒนาเอสเอ็มอีท้องถิ่นให้มีความตื่นตัวให้การทำธุรกิจ โดยคาดหวังว่ากองทุนนี้จะทำให้เด็กจบใหม่กลับไปตั้งต้นเป็นเอสเอ็มอีในภูมิลำเนาบ้านเกิด ไม่จำกัดเฉพาะด้านอุตสาหกรรม แต่จะดูแลเอสเอ็มอีอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว การเกษตร และการบริการที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย
โครงการเงินกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทนี้ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากเป็นโครงการประชารัฐจึงจะเป็นเงินกู้พิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ คิดที่ 1% ต่อปี ให้ผ่อนชำระนานถึง 7 ปี โดยที่ 3 ปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้น วงเงินสูงสุดที่ปล่อยกู้ต่อรายมากถึง 40 ล้านบาท และการบริหารเงินกองทุนนี้จะเป็นการปล่อยกู้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอีที่เป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นใน 18 กลุ่มจังหวัดเป็นหลัก
เงินกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ 2 หมื่นล้านบาทจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
- วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท จะเป็นการปล่อยกู้ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น 18 กลุ่มจังหวัด โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดจะได้วงเงินกู้ 1,000 ล้านบาท โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการในแนวทางประชารัฐเพื่อมาดำเนินการปล่อยกู้ในโครงการนี้ คาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้ภายในปี 2560ส่วนขั้นตอนในการปล่อยกู้นั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้คัดเลือกธุรกิจหรือกิจการเข้ามา หลังจากนั้นเอสเอ็มอีแบงก์จะเป็นผู้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของกิจการนั้น ๆ มีเหมาะสมที่จะได้รับเงินกู้หรือไม่ ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่ตั้งเอาไว้ มีการคาดการณ์ว่าวงเงิน 1,000 ล้านบาทต่อกลุ่มจังหวัดนั้น จะทำให้แต่ละจังหวัดได้งบประมาณแบ่งกันไปคนละ 200-300 ล้านบาท หรือสามารถปล่อยกู้ได้ 10-20 กิจการต่อหนึ่งจังหวัด โดยจะพิจารณาให้วงเงินสูงสุดที่ให้กู้แต่ละรายที่ 40 ล้านบาท
- วงเงิน 2,000 ล้านบาท จะไม่ใช่วงเงินที่ใช้ปล่อยกู้แต่เป็นวงเงินที่แบ่งออกมาเพื่อใช้พัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในด้านอื่น ๆ ซึ่งไม่จำกัดแค่เพียงเรื่องเงินอย่างเดียวเท่านั้น วงเงินนี้ตั้งขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนา เปลี่ยนแปลง และยกระดับเอสเอ็มอีธรรมดาให้ก้าวไปเป็นเอสเอ็มอี0
เนื่องจากเงินกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐนี้เป็นงบประมาณกลางปีของปี 2560 จึงต้องมีการเบิกจ่ายและกำหนดข้อผูกพันในการใช้งบประมาณให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2560 นี้ เอสเอ็มอีแบงก์ได้มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถนำเงินกองทุนนี้มาใช้ได้ภายในระยะเวลา 2 เดือนข้างหน้า และปีงบประมาณ 2560 นี้ ก็น่าจะมีการปล่อยสินเชื่อได้ครบทั้งจำนวน
เอสเอ็มอีแบงก์ยังได้เผยต่อไปถึงเมื่อกองทุนได้มีการใช้เงินงบประมาณจนหมดแล้วนั้น กองทุนก็ถูกดำเนินการให้แปรสภาพเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล จะมีการออกพระราชบัญญัติกองทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับให้กองทุนนี้เป็นนิติบุคคลแบบถาวร ซึ่งจะทำให้เมื่อกิจการเอสเอ็มอีรายใดที่ผ่อนคืนเงินกู้ครบถ้วนแล้ว เอสเอ็มอีแบงก์สามารถนำวงเงินนั้นไปปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่ต่อไปได้ และในระหว่างนั้นหากต้องการงบประมาณเพิ่มเติมก็ยังสามารถทำเรื่องขอเป็นงบประมาณระหว่างปีได้ด้วย
เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าเอสเอ็มอีแบงก์ที่เคยผ่านการบริหารงานที่ผิดพลาดจนหนี้เอ็นพีแอลพุ่งสูงกว่า 40-50% ได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูจนหนี้เอ็นพีแอลเหลือเพียงแค่ 18-19% และคาดว่าตัวเลขจะลดลงเหลือแค่เลขตัวเดียวในอีกไม่นานนี้จะกลับมาเป็นธนาคารที่สนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างเต็มรูปแบบได้อีกครั้งด้วยจำนวนทรัพย์สินที่มากถึงกว่าแสนล้านบาท และเงินกองทุนอีก 8 พันล้านบาท
ขอบคุณข้อมูล