ใครหลายคนอาจจะบอกว่าเงินทองเป็นของนอกกาย แต่เชื่อแน่ว่าทุกคนก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า“เงิน”นั้นเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตเพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร มนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ค้าข้าราชการ รัฐวิสาหกิจเกษตรกรรม หรือเจ้าของธุรกิจก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งนั้น ไม่เพียงเท่านี้ทุกคนยังมีเป้าหมายในเก็บออมเพื่อใช้ในอนาคต อยากมีอิสรภาพทางการเงิน มีชีวิตหลังเกษียณที่สบาย คงไม่มีใครที่อยากทำงานหาเงินใช้ไปจนแก่เป็นแน่ ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันที่ปรารถนาอิสระในการใช้ชีวิตแบบไม่พะวงเรื่องเงิน
ก่อนจะไปดู5 วิธีการง่าย ๆ ในการบิรหารสุขภาพทางการเงินในอนาคต ขอเล่าให้ฟังถึงที่มากันก่อน จากการชอบศึกษาหาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินมาตลอด ล่าสุดได้ชมคลิปนี้ https://youtu.be/b_WfHT_zixU ของกรุงศรี กูรู ทำให้ได้แนวคิดในการวางแผนอนาคตทางการเงินให้ร่ำรวยมั่งคั่งได้ไม่ยาก ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็เริ่มทำได้ จึงจะขอมาแชร์กันในแบบไม่วิชาการนะคะ
-
สร้างกำลังทรัพย์เพื่อให้มีเงินเหลือใช้เพียงพอในระยะยาว
สิ่งที่สำคัญอย่างแรกคือการหาเงินเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราจะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการเงินที่หามาได้ให้มีเหลือเพื่อนำไปใช้ในการเก็บออม และมีพร้อมสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินอย่างน้อยเป็นระยะเวลา1 ปี เพราะเราไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง หรือคนในครอบครัว ตัวเราอาจจะเกิดล้มป่วยต้องรักษาตัวไม่สามารถทำงานได้ เกิดอุบัติเหตุรถชนต้องซ่อมรถหรือจะเกิดอุทกภัยน้ำท่วมแบบเมื่อปี 2554 ก็เป็นได้ดังนั้นการมีเงินสำรองไว้ใช้ในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
-
สร้างรายจ่ายให้น้อยกว่ารายรับ
หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือถ้าเมื่อไรที่มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับที่หามาได้ก็เท่ากับว่าเรามีเงินเหลือเพื่อใช้ในการเก็บออมสำหรับวิธีการนั้นไม่ยาก สิ่งสำคัญอยู่ที่ต้องใช้สติทุกครั้งในการใช้เงินโดยเลือกที่จะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ฟุ่มเฟือย หรือตามใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ซื้อเช่น สาว ๆ หลายคนคงจะเคยเป็นเหมือนกัน มีเสื้อผ้าเต็มตู้แต่ไม่รู้ว่าจะใส่อะไร จะออกงานแต่ละทีก็ต้องหาซื้อชุดใหม่ทุกครั้ง ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็ลองเปลี่ยนวิธีโดยการคิดก่อนซื้อ ให้เลือกชุดแบบที่เรียบ ๆ ใช้ได้หลายโอกาสกันนะคะ เลิกพฤติกรรมในการซื้อสิ่งของที่อยากได้แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็น เพื่อที่เราจะได้มีเงินเหลือเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในอนาคตกันอย่างไรล่ะคะ
-
ใช้จ่ายเพื่อลงทุนมากกว่าบริโภค
เลือกนำเงินเก็บที่ได้ไปใช้จ่ายไปในรูปแบบของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)หรือจะเป็นเงินออมในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้เงินทำงานและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แต่จะตัดสินใจเลือกลงทุนรูปแบบไหนนั้นก็อย่าละเลยที่จะศึกษาหาข้อมูลด้านการลงทุนด้วยว่าการลงทุนเหล่านั้นเหมาะสมกับเราหรือไม่ เพราะในทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ แต่รับรองว่าย่อมดีกว่าการนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายกับการซื้อสินค้าอุปโภคที่ฟุ่มเฟือยและไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีแต่จะเกิดหนี้สิน เช่นการนำเงินไปซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ทั้ง ๆ ที่รถยนต์คันเก่า โทรศัพท์มือถือเครื่องเก่ายังใช้งานได้ดีปกติ เพียงเพราะการให้เหตุผลว่าอยากเปลี่ยนรุ่นใหม่ เท่านั้น
-
ใช้จ่ายเพื่อสร้างทรัพย์สิน มากกว่า สร้างหนี้สิน
เพราะทรัพย์สินหรือ Assetคือสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มไม่มีที่สิ้นสุด เช่น บ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ยิ่งถือนานก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่ม สามารถซื้อขายเก็งกำไรได้ในอนาคต ส่วนหนี้สินหรือDebt เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แถมมีแต่จะทำให้ลดมูลค่าของเงิน เช่น ซื้อบ้านเหมือนกันแต่วัตถุประสงค์ในการซื้อแตกต่างกันถ้าซื้อบ้านมาเพื่อปล่อยให้เช่าก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิน เพราะเป็นหนี้สินที่มีรูปแบบก่อให้เกิดรายได้ แต่ถ้าซื้อบ้านมาเพื่ออยู่อาศัยถือว่าเป็นหนี้สินเพราะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากหนี้สินได้ ดังนั้นเราจึงควรใช้เงินกับการซื้อบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยให้พอดีไม่จำเป็นต้องใหญ่จนเกินฐานะ เพราะหนี้สินจากการสร้างบ้านอาจทำให้เราลำบากในอนาคตได้
-
ค่าเสียโอกาส
พอพูดถึงคำนี้หลายคนอาจงง เพราะไม่ได้ใช้กันบ่อย หรือบางคนอาจจะคิดไปไกลถึงสมัยเรียนหนังสือวิชาเศรษฐศาสตร์กันเลยใช่ไหมคะ ขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ของคำว่าค่าเสียโอกาส คือ มูลค่าของผลตอบแทนจากกิจกรรมที่เสียไปกับการเลือกทำกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง แต่ในที่นี้เราเลือกกันระหว่างเงินกับเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้เงินแลกเวลาและใช้เวลาแลกเงินให้ลงตัว เช่นการใช้เงินจ้างแรงงานเพื่อแบ่งเบาการทำงานของเราให้น้อยลง เพื่อให้มีเวลาเหลือเพิ่มขึ้นในการไปทำงานที่จำเป็นกว่า หรือจะเป็นการนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวมต่าง ๆ ที่มีผู้จัดการกองทุนมาเป็นผู้ดูแลเป็นต้น
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับ5 วิธีง่ายๆในการบริหารสุขภาพทางการเงินในอนาคตที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยากเลยใช่ไหม ลองนำวิธีการไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวคุณเองเพื่ออนาคตที่มั่งคั่งร่ำรวยนะคะ