การวางแผนทางการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเดิมๆที่นำเอามาเล่าใหม่ได้เสมอ เพราะคนเรานั้นมักจะหลงลืม เห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร คนที่ทำธุรกิจ ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีเท่านั้น จึงจะวางแผนทางการเงิน แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าเราจะมีเงินมากน้อยเท่าไหร่ ทุกคนก็สามารถวางแผนทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงและอิสรภาพทางการเงินในอนาคตได้ วันนี้เราจึงนำแนวคิดดีๆในการวางแผนทางการเงิน มาฝากกัน
การจะทำสิ่งใดต้องมีเป้าหมาย
ถ้าไม่มีจุดหมาย ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ชีวิตไปวันๆ ก่อนอื่นเราต้องเริ่มจากการประเมินตนเองก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังทำอะไร เรียนยังไม่จบ หรือว่าจบแล้วกำลังหางาน เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือเป็นข้าราชการ ทำงานประจำหรือประกอบอาชีพอิสระอื่น ง่ายๆเลยคือ เรามีรายได้มาจากทางไหนบ้าง ? และเรามีรายจ่ายอะไรบ้าง? ทางที่ดีควรทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อที่จะได้รู้ช่องทางการเข้าออกของเงิน นอกจากนี้ยังได้สำรวจดูด้วยว่า ค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็น สามารถตัดออกได้ หรือถ้าไม่สามารถปรับลดรายจ่ายได้ เราอาจจะมองหาช่องทางการเพิ่มรายได้แทน วิธีนี้จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมและวางแผนได้ง่ายขึ้น
หลังจากประเมินตนเองคร่าวๆแล้ว ให้เราเริ่มวางเป้าหมายว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร เช่น สอบ TOEIC เพื่อนำผลคะแนนไปยื่นสมัครงานในบริษัทใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายนั้นต้องดูความสามารถของตนเองด้วย ว่าสามารถทำได้หรือไม่ การออมเงินก็เช่นเดียวกัน ให้กำหนดเป็นตัวเลขออกมา อย่างเช่น ภายใน 1 ปี ต้องมีเงินเก็บ 1 แสนบาท เมื่อเราได้เป้าหมายแล้วค่อยหาวิธีการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
เมื่อประเมินตนเอง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการ วางแผนทางการเงินให้มีความมั่นคง ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายแต่เราต้องมีวินัยในตนเองอย่างมากเพราะสถานการณ์ในอนาคตนั้นไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ทางที่ดีก็คือ ต้องวางแผนการใช้จ่ายให้ดี แบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็นส่วนๆ และกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออมและจะดีมากถ้าเราแบ่งประเภทเงินออมของเราไว้ คือ ออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน กับออมเพื่อนำไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ถ้าวันนี้เรายังมีรายได้น้อยอยู่ ให้พยายามลดรายจ่าย อย่างคำที่ว่า ให้กินอยู่ต่ำกว่าฐานะ เพราะการกินอยู่แบบราชานั้นทำให้สิ้นเปลืองและไม่มีเงินเก็บ ควรที่จะรู้คุณค่าของเงินว่า กว่าจะหามาได้แต่ละบาทนั้นยากเย็นแค่ไหน จะใช้จ่ายอะไรควรคิดให้ดีก่อน
การออมเพื่อความมั่นคงนั้น หลายคนคงเข้าใจว่า เมื่อมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายค่อยเก็บออม ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะเราจะไม่สามารถกำหนดตัวเลขที่แน่นอนได้เลย ระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นเมื่อเรามีรายได้เข้ามา ให้กันเงินส่วนหนึ่งออกไปทันที อาจจะสัก 20 % หรือตามความเหมาะสม เมื่อกันเงินออมออกไปแล้วค่อยนำเงินที่เหลือไปจัดสรรค่าใช้จ่าย วิธีนี้จะช่วยให้เราเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่ชัดเจนกว่า โดยเราสามารถนำเงินออมที่ได้ไปฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรือส่วนที่เป็นเงินออมเพื่อการลงทุนอาจจะเอาไปซื้อทองคำเก็บไว้ นำไปลงทุนในกองทุนรวม หรือลงทุนในหุ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าของเงินให้งอกเงยขึ้น ขั้นตอนต่อมาก็คือ ดำเนินการตามแผนที่เราวางไว้ให้บรรลุเป้าหมาย และสิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือทักษะการบริหารจัดการเงินที่ดี
ปัญหาหลักคือเมื่อเราดำเนินตามแผนที่วางไว้แล้ว เราอาจจะพบว่ามีบางอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งหากเราไม่มีวินัยในการควบคุมตนเองแล้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงิน เช่นปัญหาด้านสุขภาพ ต้องได้รับการผ่าตัด หากเราไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน อาจต้องหาทางออกโดยการกู้ยืมเงิน ซึ่งจะทำให้การออมหยุดชะงัก เพราะต้องนำเงินออมใช้หนี้ที่เกิดขึ้นอีก เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งการป้องกันคือ ควรทำประกันชีวิต หรือประกันอุบัติเหตุไว้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นหลักประกันด้านสุขภาพที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ ทั้งนี้ก็ต้องหมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตให้ได้
การวางแผนเพื่อ สร้างความมั่นคงทางการเงิน นั้นไม่ยากอย่างที่คิด ไม่จำเป็นต้องว่ารวยก่อนถึงจะทำ ให้ทำตั้งแต่ยังไม่รวย แล้วในอนาคตการเงินของคุณจะมั่นคงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว