มีกระทู้จากพันทิป หมายเลขสมาชิก 3838037 ได้ตั้งหัวข้อเอาไว้ว่า “เมื่อยืนยันไม่ประนอมหนี้แล้ว เราจะเจรจากับเจ้าหนี้ต่อไปอย่างไร???” ซึ่งโดยปกติแล้วทางออกของลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นการประนอมหนี้ดีที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามหลายๆคนก็น่าจะอยากรู้เหมือนกันว่า “แล้วถ้าไม่ประนอมหนี้ล่ะ ต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นไหม” เราลองไปดูคำตอบจากหลายๆคนในกระทู้นี้ตอบพร้อมๆกันเลยดีกว่าค่ะ
สำหรับเจ้าของกระทู้ที่ว่านี้ ได้หยุดจ่าย เฟิสช้อย ยอด 76,000 และ บัตรเครดิต ยอด 36,000 มา 3 เดือน แล้ว ซึ่งทางธนาคารก็ยื่นข้อเสนอให้ประนอมหนี้ ไม่งั้นจะถูกตัดออกเป็นหนี้เสีย ซึ่งเธอก็เลือกที่จะไม่ประนอมหนี้เพราะช่วงนี้ไม่มีเงินจริงๆ อีกทั้งฟังจากคนอื่นเล่ามาว่า การประนอมหนี้ ธนาคารจะเอาเงินต้นมาบวกกับดอกเบี้ย แล้วมาคิดดอกเบี้ยอีกทีเพื่อให้ผ่อนได้ระยะยาว ซึ่งเธอก็เห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่ก็กังวลว่าจะเจรจากับเจ้าหนี้ต่อไปอย่างไรกับการที่ไม่มีเงินจ่ายขั้นต่ำของบัตรเฟิร์สช้อยนี้ โดยเธอได้ขอความคิดเห็นจากเพื่อนๆที่มีความรู้ในห้องพันทิปนี้ ซึ่งก็มีหลายคนได้ออกมาแสดงความเห็น ที่สามารถสรุปได้ดังนี้
การประนอมหนี้คือการทำความตกลงกันเรื่องหนี้ใหม่ ซึ่งทางที่ดีน่าจะลองฟังดูว่ามันเป็นยังไงก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจก็ได้ แต่ถ้าเลือกที่จะไม่ประนอมหนี้ เจ้าหนี้ก็จะส่งฟ้องศาล และเมื่อศาลตัดสินให้จ่ายเงินก็ไม่จ่ายอีก คราวนี้ก็เข้าสู่กระบวนการบังคับหนี้ยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาด มีบ้านก็ยึดบ้าน มีรถก็ยึดรถ หากไม่มีอะไรเลยก็อาจจะยึดเงินเดือน(บางส่วน) ได้ แต่ถ้าเราไม่มีสมบัติอะไรเลย ที่มีอยู่ก็ไม่มีค่า อยากยึดก็ยึดไป งานก็ไม่มีทำ เงินเดือนก็ไม่มีให้หัก แบบนี้ก็อาจไม่ต้องประนอมหนี้กับใครก็ได้ ซึ่งจะทำให้เราเสียประวัติ ต่อไปจะกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ไหนไม่ได้ ต้องกู้นอกระบบอย่างเดียว ทั้งนี้จะมีเวลาตามยึดทรัพย์เป็นเวลาสิบปี ดังนั้นถ้าทำงานเมื่อไร มีสมบัติอะไรเขาก็จะตามมายึดได้ หากเขาสืบรู้
มีอีกแนวทางหนึ่งคือ ไม่ประนอมหนี้แต่รอจ่ายเป็นเงินก้อนทีหลัง โดยอาจหยุดจ่ายไปเลย 6 เดือน -1 ปี หนี้ตรงนี้ก็จะกลายเป็นหนี้เน่า ซึ่งเขาจะทำการขายหนี้ให้กับอีกบริษัทหนึ่ง ที่รับทวงหนี้โดยเฉพาะ ตรงนี้แหล่ะที่เราต้องไปต่อรองขอจ่ายแค่ 50% จากยอดหนี้ และแน่นอนเมื่อเขาให้แล้วก็ต้องหาเงินก้อนไปจ่ายให้ได้ ที่สำคัญก่อนจ่ายขอใบแฟ็กซ์ยืนยันยอดหนี้ 50% ที่ต้องชำระก่อน เมื่อจ่ายเงินแค่นี้ก็จบ
แต่ถ้าหากคิดจะประนอมหนี้ ประวัติที่เสียไปจะถูกลบเมื่อจ่ายหนี้หมดแล้วและรออีกสามปี ซึ่งก่อนตัดสินใจอะไรต้องอ่านข้อตกลงให้ถี่ถ้วน อย่าเซ็นไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน เพราะเมื่อยินยอมก็ต้องทำให้ได้ตามที่ตกลงเช่นกัน สำหรับเรื่องดอกเบี้ยที่เจ้าของกระทู้สงสัยว่าจะมีการบวกเกิน กฎหมายได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15% หากธนาคารคิด 28% เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแบบนี้ขึ้นศาลที่ไหนเราก็ชนะ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้แน่นอนที่เขาจะคิดเกิน โดยสามารถดูได้จากข้อกำหนดของธนาคารออกไว้ คือ
ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่ง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4 (1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate)
สมมุติว่าสัญญาปัจจุบันเขาคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมาย เช่น ถ้าเค้าเอา เงินต้น ดอกเบี้ย พร้อมทั้งค่าธรรมเนียมต่างๆ มาคิดรวมเป็นยอดเดียว แล้วทำสัญญากู้ฉบับใหม่ แบบนี้อาจเข้าค่ายคิดเกินถ้าพลาดไปโดนฟ้องด้วยสัญญาใหม่และเราไม่ทักท้วง ก็ต้องจ่ายเต็มๆ แต่อย่าลืมว่าการนำดอกเบี้ยค้างชำระ มารวมกับเงินต้นเงิน แล้วกำหนดให้ทยอยผ่อน มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะการไม่จ่ายหนี้ ไม่จ่ายดอกเบี้ย มันก็เกิดเบี้ยปรับ ดอกค้างชำระ ซึ่งเจ้าหนี้ก็ต้องเอาสิ่งที่ผูกพันตามสัญญามารวมเป็นเงินก้อนเดียวกัน แล้วให้ทยอยผ่อนส่งไป เหมือนแปลงจากวงเงินหมุนเวียนไปเป็นเงินกู้ระยะยาวนั่นเอง ใจเขาใจเรานะ อย่าคิดแต่ได้ประโยชน์อย่างเดียว
สุดท้ายเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในวันประนอมหนี้จะมีการเจรจาหน้าบัลลังค์อีกรอบ ถ้าตกลงกันได้ก็จบไป แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี โดยจะมีคำพิพากษาออกมา ซึ่งศาลจะระบุว่าต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ พร้อมกำหนดเวลาที่ต้องชำระให้เสร็จสิ้น ซึ่งฝ่ายเจ้าหนี้ก็จะถือคำพิพากษาเป็นสำคัญ ถ้าหมดระยะที่ศาลกำหนด ก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ทำการการสืบทรัพย์ และยึดทรัพย์ต่อไป ทั้งนี้จะให้ดีระหว่างนี้ เงินที่เคยเอาไปจ่ายยอดขั้นต่ำ ให้เก็บเงินไว้ เพื่อที่จะได้มีเงินก้อนไปเจรจาตัดจบกับเจ้าหนี้ตอนฟ้อง เรื่องราวจะได้จบกันเสียที และหลังจากนี้ไปก็อย่าได้ไปเป็นหนี้ใครให้ปวดหัวใจอีกเลย!!