รู้มั้ยว่า คนไทยอ้วนแค่ไหน??
จากรายงานสุขภาพคนไทยประจำปี 2557 ได้ระบุว่า โรคอ้วนเป็นสาเหตุทำให้คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง และคนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบอัตราคนอ้วนในระดับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ พบว่า คนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย และที่น่าตกใจไปกว่านั้น เมื่อพบผลสำรวจการบริโภคน้ำตาลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2558 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึง 26 ช้อนชาต่อวันเลยทีเดียว
รัฐผุดมาตรการภาษีน้ำหวาน
ความน่ากลัวในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจำนวนคนอ้วน และโรคที่ตามมาจากความอ้วน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ในประเทศไทยมีเครื่องดื่มให้ความหวานผุดขึ้นมากมายจนไร้การควบคุม พร้อมโปรโมชั่นส่งเสริมการขายสุดร้อนแรง กระตุ้นให้นักดื่มน้ำหวานยิ่งซื้อดื่มเกินความจำเป็น เท่ากับเป็นการสะสมน้ำตาลในร่างกายให้มีมากขึ้นไปกว่าเดิม ส่งผลให้จำนวนประชาชนคนไทยที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จนเป็นภาระการดูแลสุขภาพโดยรวมของภาครัฐ
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้คลอดภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินเกณฑ์ 6-10 กรัม ต่อ 100 มก. ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย. 60 ที่จะถึงนี้ หากผู้ผลิตใดสามารถปรับเปลี่ยนส่วนผสมหรือปรับสูตรให้มีน้ำตาลต่ำกว่า 10 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มก. ได้ภายใน 2 ปี (เริ่มตั้งแต่ 16 ก.ย. 2560-30 ก.ย. 2562) รัฐก็จะยังคงเก็บภาษีในอัตราเท่าเดิม แต่หากรายใดทำไม่ได้ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. 62-30 ก.ย. 64 จะมีบทลงโทษ (penalty) และ 1 ต.ค. 64-30 ก.ย. 66 จะถูกบทลงโทษอีก จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 เป็นต้นไป จะถูกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมาตรการที่กำหนดทันที
จะเกิดอะไรหลังดีเดย์ภาษีน้ำหวาน
แน่นอนว่า หลังจากวันที่ 16 ก.ย. นี้ ธุรกิจน้ำหวานอย่างน้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมเปรี้ยว เครื่องดื่มชูกำลัง และชาเขียวพร้อมดื่ม รวมถึงเครื่องดื่มที่หวานตามธรรมชาติ จะต้องมีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงแม้ผู้ผลิตเครื่องดื่มต่างออกมาให้ความเห็นแตกต่างกันมากมาย แต่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย หรือ TBA ที่มีสมาชิกเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ทั้งไทยและอินเตอร์ เช่น โคคา-โคล่า เป๊ปซี่ คาราบาวแดง ไวตามิ้ลค์ กระทิงแดง หรือเสริมสุข ต่างก็ออกมาขานรับ “ร่าง” พันธสัญญา ในการปรับสูตรเครื่องดื่มของบรรดาสมาชิกจาก 29 รายการ เพิ่มเป็น 69 รายการ รวมทั้งการผลักดันสินค้าให้ได้รับตราสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” จาก 28 รายการ เพิ่มเป็น 109 รายการ ภายในปี 2565
สุขภาพคนไทยจะดีขึ้น
จากที่มา lovefit.com ทำให้ทราบว่า จำนวนประชากรที่อ้วนลงพุงในประเทศไทยมีมากถึง 16 ล้านคน โดยแบ่งเป็นชาย 4.7 ล้านคน และหญิง 11.3 ล้านคน พร้อมกับพบว่า เครื่องดื่มในท้องตลาดที่ให้ความหวานมากที่สุด ได้แก่ ชาเขียวพร้อมดื่มที่มีน้ำตาลมากถึง 12 ช้อนชา เครื่องดื่มผสมเยลลี่มีน้ำตาล 10 ช้อนชา กาแฟสดเย็นมีน้ำตลามากถึง 7 ช้อนชา ตามลำดับ
นอกจากนี้ ชาเขียวพร้อมดื่มในท้องตลาดยังมีปริมาณสารคาเฟอีนมากกว่าเครื่องดื่มชูกำลังเสียอีก จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเมื่อเราดื่มชาเขียวพร้อมดื่มเข้าไป จะทำให้สดชื่นแจ่มใส และกระชุ่มกระชวยขึ้นทันที โดยที่ผู้ผลิตไม่เคยระบุข้อมูลทางโภชนาการที่ครบถ้วนให้แก่ผู้บริโภคเลย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการบริโภคของประชากรโลกจะเริ่มใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า มีหลายประเทศที่ผุดภาษีความหวานขึ้นมาแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ หรือประเทศในแถบยุโรป จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้ภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่า จะช่วยทำให้สุขภาพคนไทยแข็งแรง และไร้โรคอ้วนหรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากความอ้วนได้อย่างมากทีเดียว
…เพราะคนไทย ต้องรัก และใส่ใจซึ่งกันและกัน จริงมั้ยคะ…
ที่มา