หนี้เป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนมีความทุกข์ แต่เนื่องจากหนี้เป็นสิ่งที่เราเองเป็นคนก่อขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากความจำเป็นหรือความไม่จำเป็นก็ตาม เมื่อเป็นหนี้แล้วสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากหนี้ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ ก็คือ ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ให้หมดเร็วที่สุดนั่นเอง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นหนี้ถึงเวลาจะสามารถจ่ายคืนหนี้จนหมดแล้วหลุดพ้นได้อย่างไม่มีปัญหา พอเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่ายคืน ก็กลายเป็นหนี้เสียที่เจ้าหนี้จะต้องเริ่มมีการทวงหนี้ พอทวงหนัก ๆ เข้าไม่มีจ่าย เจ้าหนี้เขาก็ต้องหาที่พึ่งก็คือการส่งฟ้องศาล เพื่อให้เป็นคดีมีการพิจารณากันตามกฎหมาย มีมาตรการบังคับเอาหนี้คืนจากลูกหนี้กันต่อไป
ที่จริงแล้วเมื่อเป็นหนี้ การพยายามหาเงินมาผ่อนคืนใช้หนี้ให้หมดไป เป็นขั้นตอนปกติที่จะทำให้หนี้หมดไปแบบไม่มีปัญหาได้มากที่สุด แต่ก็อดเข้าใจคนที่เป็นหนี้มาก ๆ ถึงเวลาจ่ายคืนไม่ไหว หรือบางคนต้องประสบปัญหาชีวิต ขาดรายได้ มีภาระค่าใช้จ่ายมากมายเข้ามารุมเร้า จึงไม่มีเงินไปจ่ายคืนหนี้ได้ ถึงเวลาโดนทวง แม้จะอยากคืนอย่างไรก็ไม่มีให้คืน ต้องปล่อยให้เจ้าหนี้ฟ้องศาล ทั้งที่ในใจก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิด
เมื่อหนี้ได้เดินทางมาถึงจุดที่ศาลมีคำพิพากษาให้อายัดเงินเดือน ก็เรียกได้ว่าได้ผ่านพ้นขั้นตอนที่เราจะเข้าไปเจรจาเพื่อขอผ่อนผัน ลดหนี้ หรือขยายเวลาชำระหนี้ไปแล้ว รวมถึงผ่านพ้นขั้นตอนที่ศาลเรียกไปไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย จะได้ไม่ต้องมีการฟ้องหรือพิจารณาคดีออกมา เมื่อทุกอย่างทุกขั้นตอนผ่านไปจนถึงขั้นที่ศาลพิพากษาให้ชำระหนี้แล้วยังไม่ไป ก็จะถูกยึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ลูกหนี้ทำอะไรได้ไม่มากแล้ว ศาลจะส่งหมายมาให้ลูกหนี้พร้อมกับส่งไปที่ทำงานของลูกหนี้ด้วย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องอายัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้นี้
ลูกหนี้คนใดที่มีหมายศาลส่งมาว่าจะถูกอายัดเงินเดือนส่วนใหญ่ก็จะมีความกังวล เพราะหมายถึงเงินเดือนทุกเดือนที่เคยได้เต็มก็จะได้ไม่เต็ม จะต้องมีส่วนหนึ่งที่ถูกอายัดไว้สำหรับคืนหนี้ไป เงินจะถูกหักไปเท่าไหร่ จะเหลือพอใช้หรือไม่ มีอะไรที่เรายังพอทำได้ไหม เหล่านี้เป็นคำถามและความกังวลของลูกหนี้หลายคนที่ต้องเดินทางมาถึงจุดนี้
เพื่อให้ลูกหนี้ไม่ต้องเป็นกังวลมากเกินไป ต้องขอแนะนำแบบนี้ว่า อย่างไรลูกหนี้ก็ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแพ่งไม่ให้ต้องถูกบังคับให้จ่ายคืนหนี้มากเกินไป จนไม่เหลือเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็นมีรายละเอียดดังนี้
- การอายัดเงินเดือนจะทำได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินเดือนในแต่ละเดือนเท่านั้น เช่น มีเงินเดือน 30,000 บาท จะถูกอายัดไว้สำหรับใช้หนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาทเท่านั้น และตามกฎหมายใหม่หากเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท จะไม่สามารถอายัดเงินเดือนของลูกหนี้ไว้ได้ จากเดิมที่กำหนดว่าเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท ไม่ต้องถูกอายัด รายได้ที่ถูกอายัดได้ 30% รวมเงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น ค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ รวมไปถึงดอกเบี้ยและเงินปันผลจากเงินฝากธนาคาร และเงินลงทุนของลูกหนี้ด้วย
- เงินโบนัสและเงินชดเชยกรณีออกจากงาน อายัดไว้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามที่เจ้าหน้าที่บังคับคดีเห็นสมควร
- กรณีมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ที่มีการส่งฟ้องศาลและศาลมีคำพิพากษาออกมาก่อนจะเป็นผู้ได้รับการชำระหนี้จากการอายัดเงินเดือนก่อน เมื่อชำระหนี้จนหมดจึงถึงคิวของเจ้าหนี้ที่ส่งฟ้องและมีคำพิพากษาในรายต่อ ๆ ไป และถ้าอายุความหมดก็ไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้ นอกจากเจ้าหนี้ต้องไปฟ้องศาลใหม่อีกครั้ง
- หากลูกหนี้มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในครอบครัว เช่น การเลี้ยงดูบุตร ลูกหนี้สามารถติดต่อเพื่อขอผ่อนผันเพื่อลดอัตราการอายัดเงินเดือนให้น้อยลงได้ โดยลูกหนี้จะต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับภาระหนี้ ภาระค่าใช้จ่าย ภาระในการเลี้ยงดูบุตร ภาระในการเลี้ยงดูบิดามารดา พร้อมเขียนคำร้องขอลดยอดการอายัดเงินรายได้ โดยเดินทางไปยื่นเอกสารพร้อมคำร้องได้ที่สำนักงานบังคับคดี เจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากเอกสารและหลักฐานเพื่อพิจารณาลดยอดการอายัดได้ โดยเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ลดยอดอายัดได้เฉพาะเงินเดือน และลดได้แค่ 15% เท่านั้น หากต้องการให้ลดยอดอายัดมากกว่านี้ หรือลดยอดอายัดจากเงินในส่วนอื่น ๆ ก็จะต้องใช้สิทธิทางศาลต่อไป
เมื่อศาลมีคำตัดสินออกมาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งศาล ลูกหนี้ก็จะถูกอายัดเงินเดือนหรือยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดได้ อย่างไรก็ตามอย่างที่ว่าลูกหนี้ก็ยังจะมีสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายตามรายละเอียดที่ว่ามาข้างต้น ไม่ใช่ว่าเงินเดือนจะถูกอายัดทั้ง 100% แต่อายัดได้สูงสุดไม่เกิน 30% เท่านั้น และยังมีช่องทางให้สามารถผ่อนผันลดยอดอายัดลงได้อีก
ล่าสุดมีการประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 302 มีการกำหนดว่าเงินและสิทธิของลูกหนี้ตามหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดกรณีถูกบังคับคดียึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือน ไปดูรายละเอียดกันค่ะ ว่ามีอะไรบ้างที่อายัดไม่ได้
- เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการและลูกจ้างของหน่วยราชการ
- เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่น รวมกันไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท
- บำเหน็จ ค่าชดเชย หรือรายได้อื่นที่มีลักษณะเดียวกัน จำนวนไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
- เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ได้รับมาตามจำนวนที่จำเป็นในการดำเนินฌาปนกิจศพ
จากเดิมที่ห้ามอายัดลูกหนี้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท ได้มีการเปลี่ยนเป็นห้ามอายัดลูกหนี้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท ถือว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีมากขึ้น ถ้ามีรายได้ต่ำก็ไม่ต้องถูกอายัดเงินเดือน แต่ในฐานะของเจ้าหนี้ก็ต้องถือว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยกู้มากขึ้น
ลูกหนี้เมื่อรู้ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือนเช่นนี้แล้ว ก็คิดว่าน่าจะคลายความกังวลไปได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม คำแนะนำก็คือ ไม่ควรปล่อยให้หนี้ล่วงเลยมาถึงขั้นของการถูกอายัดเงินเดือนหรือถูกยึดทรัพย์ ถ้าพอจะมีช่องทางในการเจรจาเพื่อจ่ายคืนหนี้ได้ก่อนหน้านี้ก็ควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงความกังวลและขั้นตอนที่ยุ่งยาก
แหล่งอ้างอิงข้อมูล https://www.thairath.co.th/clip/142612