“คนไทยดื่มเหล้าประมาณ 17 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป”
ในทุก ๆ ปี ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเช่นนี้ เรามักจะเห็นแคมเปญดี ๆ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญชวนให้นักดื่มทั้งหลายมางดดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อสุขภาพของตัวเอง และเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต ซึ่งในปีนี้ก็เช่นกัน สสส. ยังคงมุ่งเดินหน้าสานต่อกิจกรรมภายใต้ชื่อแคมเปญสุดเก๋ “พักตับ พักยก” เพื่อหวังผลให้นักดื่มมีสุขภาพที่ดีขึ้น จนถึงขั้นเลิกดื่มไปได้เลย และที่น่าดีใจ เมื่อทราบว่า ผลจากแคมเปญนี้ของทุกปี จะมีนักดื่มจำนวนหนึ่งที่สามารถเลิกดื่มเหล้าได้อย่างเด็ดขาดจริง ๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้สุขภาพแข็งแรงไร้โรคภัยแล้ว ยังทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น และที่สำคัญเศรษฐกิจภายในครอบครัวดีขึ้นอีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งสำหรับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 15 แล้ว โดยในระยะแรกมีนักดื่มอาสาเข้าร่วมโครงการเพียง 40% ในปี 2546 จนมาใน 2-3 ปีหลังนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นถึง 70-80% ทีเดียว
ศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้ทำการประเมินโครงการ “งดเหล้าครบพรรษาปี 2559” จากประชากรไทยกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 12 จังหวัด รวม 4,296 ตัวอย่าง พบว่า คนที่เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2559 มีถึง 12 ล้านคน โดย
- 5.8 ล้านคน หรือ 32.2% สามารถงดได้สำเร็จตลอด 3 เดือน
- 2.9 ล้านคน หรือ 16.3% งดได้เป็นบางช่วง
- 3.3 ล้านคน หรือ 18.6% ไม่งด แต่ลดการดื่มลง
และผลจากการที่คนเข้าร่วมประเมินโครงการในจำนวนดังกล่าวสามารถงดหรือลดการดื่มลงตลอด 3 เดือน จึงประมาณการได้ว่า สามารถช่วยประหยัดเงินไปได้มากถึง 13,459 ล้านบาท โดยผลการประเมินได้สรุปข้อดีของโครงการดังกล่าว ได้ดังนี้
- 81.2% ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
- 80.5% สุขภาพร่างกายดีขึ้น
- 50.2% สุขภาพจิตใจดีขึ้น
- 31.1% ลดปัญหาในครอบครัว / มีความสุขในครอบครัวมากขึ้น
ทั้งนี้ ตลอด 15 ปี ที่ สสส. ได้ขับเคลื่อนโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ทำให้พบว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นทุกปี โดยมีผู้สามารถงดเหล้าได้ตลอดเวลา 3 เดือนมากถึง 30% ส่วนอีก 40% จะยกเลิกในช่วง 1 เดือนแรก ด้วยเหตุผลการสังสรรค์เพื่อเข้าสังคม และเพื่อนชักชวนดื่ม แต่อย่างน้อยก็ลดความถี่ในการดื่มลง ในขณะที่จำนวนผู้ที่ลด ละ เลิกได้ต่อเนื่องมีประมาณ 4-5%
นอกจากการงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาแล้ว ศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้สอบถามถึงแนวโน้มของการดื่มหลังออกพรรษาด้วย พบว่า ผู้ให้ข้อมูลมีความตั้งใจจะงดดื่มต่อไป โดย
- 60.5% ตั้งใจจะงดหรือลดการดื่มให้น้อยลง
- 13% ตั้งใจจะเลิกไปเลย
- 26.1% จะกลับมาดื่ม (เฉลี่ยภายใน 10 วัน)
แม้โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาจะไม่สามารถทำให้นักดื่มเลิกดื่มไปได้ 100% แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีที่ทำให้คนที่ดื่มเหล้า ลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษาได้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ผลที่ได้จากโครงการนี้ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สภาพสังคมดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข อุบัติเหตุลดลง และมีเงินใช้มากขึ้นอีกด้วย
ที่มา