ปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ซึ่งโทรศัพท์มือถือก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองการใช้งานที่แตกต่างกัน ผู้พัฒนาแอพพลิเคชันหลายราย ก็ได้สร้างและพัฒนาแอพพลิเคชันขึ้นมามากมายเพื่อการที่งานที่แตกต่างกัน หนึ่งในนั้นคือแอพพลิเคชั่นทางการเงิน ซึ่งต้องบอกว่ามีอยู่มากมายให้เลือกใช้งานที่ตามความต้องการที่หลากหลายจริง ๆ วันนี้จากการทดลองใช้แอพพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีให้ดาวน์โหลดฟรี เราจะคัดเลือกมา 3 แอพพลิเคชันที่ตอบสนองการใช้งานแตกต่างกัน สำหรับคนที่อยากเก่งเรื่องวางแผนการเงินต้องรีบโหลดเข้ามาติดโทรศัพท์มือถือไว้
1.Money Manager Expense&Budget
เป็นแอพพลิเคชันวางแผนทางการเงิน ตรวจสอบค่าใช้จ่ายประจำวันและบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล โดยเราสามารถบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันลงไปได้ง่าย ๆ สามารถเรียกดูข้อมูลรายการได้ หรือตั้งวงเงินสำหรับการใช้จ่ายได้อีกด้วย
- ส่วนแรก Transection หรือรายการรายรับ รายจ่าย เราสามารถบันทึกรายรับ รายจ่ายโดยแยกประเภทออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เงินสด บัญชี และเครดิตการ์ด (สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ในหน้า Account) โดยสามารถระบุประเภทของรายการที่เกิดขึ้นได้ เช่น รายรับ แบ่งเป็นเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน เงินสดย่อย และอื่น ๆ รายจ่ายแบ่งเป็นค่าอาหาร ค่าเข้าสังคม ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าการศึกษาและอื่น ๆ ซึ่งเราสามารถแก้ไขเพิ่มเติมประเภทของรายการได้เองอีกด้วย เมื่อเราบันทึกค่าใช้จ่ายส่วนนี้แล้วเราสามารถเขียนโน้ตสั้น ๆ หรือถ่ายรูปใบเสร็จลงไปเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ส่วนของการโอนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินจากบัญชีไปอีกบัญชีหนึ่งหรือการฝากเงิน การถอนเงินก็สามารถบันทึกได้เช่นกัน ซึ่งด้านบนของส่วนนี้เราสามารถเรียกดูรายการได้แบบรายวัน รายเดือน รายสัปดาห์ หรือแบบรวมทั้งหมดเพื่อเปรียบเทียบได้ เรียกได้ว่ามีฟังก์ชันในพร้อมเสร็จในหน้าจอเดียว
- ส่วนที่สอง Stats หรือสถิติรายรับรายจ่ายที่เราบันทึกว่า สามารถเรียกดูได้แบบรายสัปดาห์ รายเดือน รายปี หรือรายงวด โดยเราสามารถเลือกช่วงเวลาได้เอง ในส่วนนี้จะแบ่งเป็น หน้าต่างรายรับ และรายจ่ายแยกกัน
- ส่วนที่สาม Account เราสามารถจัดบัญชีของเราได้ เช่น เพิ่มในส่วนของการออมเงิน (Saving) หรือการลงทุน การกู้ยืม ประกันชีวิตหรืออื่น ๆ ลงไปได้ ซึ่งครอบคลุมการใช้งานในทุกรูปแบบเลยทีเดียว
แอพพลิเคชันนี้ยังให้เราสามารถสำรองข้อมูลได้หลากหลายวิธี ทั้ง Google Drive หรือส่งเป็นไฟล์ Excel ไปทางอีเมล ซึ่งถ้าหากอัพเกรดเป็น Premium ในราคา 125 บาท จะสามารถใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย เรียกได้ว่าแอพพลิเคชันเดียว สามารถจัดการการเงินได้ครบวงจรจริง ๆ
2.Piggipo
แอพพลิเคชันจัดการบัตรเครดิตที่สามารถรวมบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ หลาย ๆ ผู้บริการมาไว้ในแอพพลิเคชันเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ควบคุมค่าใช้จ่าย และลดปัญหาการเป็นหนี้บัตรเครดิตด้วย เป็นแอพพลิเคชันที่สร้างขึ้นโดยคนไทย เพื่อการใช้บัตรของคนไทยโดยเฉพาะ โดยเราสามารถเพิ่มบัตรเครดิตด้วยตัวเองก็ได้ หรือจะซิงก์ข้อมูลจากธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตก็ได้
จุดเด่นของแอพพลิเคชันนี้คือความน่ารักของเจ้าหมู Piggipo ที่จะแสดงอารมณ์ตามการใช้จ่าย เช่น ถ้าเราตั้งวงเงินการใช้บัตรฯ อยู่ที่ 20,000 บาท เมื่อใช้จ่ายใกล้ถึงหรือเกินวงเงินที่ตั้งไว้ เจ้าหมูก็จะเปลี่ยนสีหน้าเป็นไม่พอใจ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคำนวณดอกเบี้ย สำหรับการผ่อนชำระหรือการชำระขั้นต่ำในแต่ละรอบบิล มีกราฟวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายแบบการ์ตูนน่ารัก มีระบบแจ้งเตือนวันตัดบัตรเครดิตเพื่อป้องกันไม่ให้จ่ายไม่ตรงเวลาและเกิดดอกเบี้ยตามมา และมีระบบ Billbox ที่จะช่วยตรวจสอบความถูกต้องของยอดที่ต้องชำระ ก่อนที่เราจะนำเงินไปจ่ายจริงที่ธนาคาร ใครที่มีบัตรเครดิตหลายใบ และยังไม่รู้จัดการบัตรเครดิตอย่างไร ลองโหลดแอพพลิเคชันนี้มาดู แล้วจะรู้ว่าการจัดการบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
3.Settrade
แอพพลิเคชันบริการข้อมูลการลงทุนเพื่อเตรียมตัวสำหรับการลงทุนจริง ออกแบบและพัฒนาโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลตลอดเวลา และตอบสนองกับชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยหลายส่วนดังนี้
- ส่วนแรก Market ประกอบไปด้วยหน้าแรก Summanry รวบรวมข้อมูลสรุปผลความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ตลอดทั้งวัน หน้าที่สอง Ranking จัดอันดับหุ้น โดยเราสามารถเลือกการจัดเรียงข้อมูลได้หลายรูปแบบ เช่น เรียงตามผลกำไรที่ดีที่สุด, เรียงตามผลขาดทุนที่มากที่สุด, หุ้นที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวมากที่สุด เป็นต้น โดยสามารถเลือกย้อนหลังได้ 1 วัน, 5 วัน, 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปี หน้าที่สาม Favorite เราสามารถเพิ่มหุ้นที่ติดตามเป็นรายตัวไว้ในหน้านี้ได้
- ส่วนที่สอง Quote เราสามารถนำชื่อย่อหลักทรัพย์มาค้นหาข้อมูลได้ โดยจะแสดงข้อมูลความเคลื่อนไหววันนี้ทั้งหมด พร้อมทั้งข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือจะเลือกดูข้อมูลย้อนหลัง ข้อมูลสถิติหรือบทวิเคราะห์จาก IAA และบทวิเคราะห์ต่าง ๆ ก็มีไว้อย่างครบถ้วน
- ส่วนที่สาม Backtesting เป็นการจำลองการซื้อขายย้อนหลัง โดยให้เราสมมติหุ้นที่ต้องการซื้อกำหนดมูลค่าและความถี่ในการซื้อ (เลือกได้แบบรายเดือนหรือรายสัปดาห์) และระยะเวลาที่ซื้อหุ้น โดยระบบจะคำนวณผลตอบแทนที่ได้รับ ทั้งมูลค่าจากการถือครองและเงินปันผล
- ส่วนที่สี่ Simulation เป็นการจำลองการซื้อขายจริงในตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ให้นักลงทุนได้ลองทดสอบซื้อขายดูก่อน ซึ่งผู้ใช้ต้องลงทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ก่อนจึงจะสามารถใช้ได้
แอพพลิเคชันเหล่านี้จะช่วยให้เรามีการจัดการการเงินได้ง่ายสะดวก รวมถึงตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของผู้ที่มีไลฟ์สไตล์ในยุคใหม่ที่สะดวกสบายได้ดียิ่งขึ้นด้วย