ช่วงนี้มีข่าวคนบ่นเรื่องถูกสถาบันการเงินขายประกันชีวิตพ่วงมาในการฝากเงิน โดยใช้คำพูดจูงใจทำนองว่า เป็นเงินฝากแบบให้ดอกเบี้ยสูง สุดท้ายกลายเป็นว่า ถูกหลอกให้ซื้อประกันชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องศัพท์ทางการเงิน และไม่ชอบอ่านเงื่อนไขอะไรมากมาย เขาให้เซ็นอะไรตรงไหน ก็เซ็น เพราะไว้เนื้อเชื่อใจ เราสามารถเตือนคนรอบข้าง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ไม่ให้หลงเข้าใจผิดได้ด้วยการ ตรวจสอบ 4 ข้อ ต่อไปนี้
ข้อ 1 การฝากเงินในสมัยนี้ จะดอกเบี้ยสูงแค่ไหน ก็ไม่น่าจะเกิน 3% ต่อปี
หากพบว่ามีใครมาเสนอเงินฝากที่ได้ดอกเบี้ยสูง ได้ดอกเบี้ยคืนปีที่เท่านั้นเท่านี้ ในอัตรา 5% หรือบางทีก็ 10% จนบางทีเราอาจคิดว่าเป็นการฝากประจำชนิดพิเศษจริงๆ แต่ถ้าเรามีความรู้ว่า สมัยนี้ดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิน 3% หรือสูงกว่านิดเดียว เป็นมาตรฐาน เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มต่ำลง หากมีใครมาเสนอดอกเบี้ยให้สูงเกินค่ามาตรฐานในปัจจุบันไปมากๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า มันน่าจะใช่เงินฝากปกติแน่ๆ ตัวเลขที่เรียกว่าดอกเบี้ยนั้น จริงๆแล้วอาจเป็นเงินคืน รายปี ตามเงื่อนไข ดังนั้นจงจำไว้ว่า ถ้าได้ดอกเบี้ยสูงเกินจริง นั่นไม่ใช่การฝากเงินแบบธรรมดาแล้ว
ข้อ 2 การฝากเงินปกติ ไม่ควรมีเงื่อนไขยาวนานเกินกว่า 5 ปี หรือ 60 เดือน
ซึ่งจะอยู่ในประเภทของการฝากประจำ หากมีใครมานำเสนอว่า เราต้องฝากเงินไว้เกินกว่า 5 ปี หรือต้องรอไปอีกหลายปีถึงจะถอนเงินได้ นั่นให้สงสัยไว้เลยว่า ไม่ใช่การฝากเงินปกติ อาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการซื้อประกันชีวิตก็ได้
ข้อ 3 เป็นการฝากเงินพร้อมกับการคุ้มครองชีวิตทุกกรณี
โดยปกติ การเปิดบัญชีเงินฝากจริงๆจะไม่มีการพ่วงความคุ้มครองชีวิตใดๆเข้าไปด้วย ยกเว้นบางแบบอาจมีพ่วงประกันอุบัติเหตุ แต่ทั้งสองอย่างจะแยกกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีภาระผูกพันกันแต่อย่างใด หากมีการเสนอแบบประกันชีวิตพ่วงมาด้วยในข้อตกลงหรือในสัญญาฉบับเดียวกัน ให้สงสัยไว้ก่อนว่า ไม่ใช่การเปิดบัญชีเงิน แต่เป็นการทำประกันชีวิต
ข้อ 4 มีคำลงท้ายว่า ผู้เอาประกัน ในเอกสารเปิดบัญชี
ในขั้นตอนสุดท้ายของการทำธุรกรรม พนักงานจะต้องให้เราเซ็นเอกสาร ต้องดูให้ดีว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไรกันแน่ ถ้าเป็นเอกสารการเปิดบัญชีเงินฝาก จะมีตัวหนังสือมี่หัวกระดาษว่า เอกสารหรือแบบฟอร์มเปิดบัญชีเงินฝาก แต่ถ้ามีคำว่า ใบคำขอเอาประกันชีวิต นั่นแปลว่า เราไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากแต่เป็นการซื้อประกันชีวิตแทน หากมองข้างบนไม่เห็นหรือไม่ได้สังเกตที่หัวกระดาษ อีกจุดกนึ่งที่ต้องดูคือ ตรงจุดที่ให้เซ็นชื่อ ต้องไม่ใช่คำว่า ผู้เอาประกัน หรือมีคำว่าประกันอยู่ ก็อย่าเพิ่งไปเซ็น ต้องถามให้เขาใจและได้รับคำยืนยันจากบุคคลที่สามด้วยก็จะยิ่งดี แต่ถ้าไปเจอพวกทำงานเป็นทีม สมรู้ร่วมคิด ก็อาจไม่ได้รับรู้ความเป็นจริงจากบุคคลที่สามก็ได้
ทั้ง 4 ข้อ เป็นจุดที่เราสามารถจำไปใช้ในการตรวจสอบว่า เราหรือพ่อแม่ พี่น้อง ญาติผู้ใหญ่ ถูกหลอกขายประกันในรูปเงินฝากหรือไม่ แต่ถ้าหากเราไม่รู้จริงและได้หลงเซ็นชื่อไปแล้ว หรือถูกหลอกให้ซื้อประกันชีวิตไปแล้ว เราสามารถที่จะยกเลิกประกันที่เราเพิ่งทำไปได้ หลังจากได้รับกรมธรรม์ไม่เกิน 15 วัน วิธีคือเมื่อได้รับกรมธรรม์ จะมีเอกสารให้เซ็นเพื่อรับกรมธรรม์ เราก็ไม่ต้องเซ็นเอกสารนั้น เพื่อเป็นการไม่ยอมรับ และขอยกเลิกกรมธรรม์ แต่ถึงแม้ว่าจะยอกเลิกได้ เราก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการยกเลิกกรมธรรม์ เป็นจำนวนเงิน 500 บาท ทางที่ดีที่สุดคือ อย่าได้ไปเซ็นตั้งแต่ทีแรก และหากเราถูกหลอกขายประกัน ก็สามารถร้องเรียนไปที่ สำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้ หรือที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินก็ได้อีกช่องทางหนึ่ง