“การลงทุนคือความเสี่ยง”
น่าจะเป็นประโยคที่ป็อปขึ้นมาในหัวของทุกคนมากกว่าหนึ่งครั้ง หรืออาจจะแค่ครั้งเดียว แต่เป็นครั้งเดียวที่ทรงพลัง ในแง่ความหมายร้ายๆ ของการลงทุนที่ ฝังติดหัว จากโฆษณาตลาดหุ้น และกองทุนรวมต่างๆ ที่บอมบาดกรอกหูเราอยู่ทุกวี่วัน วันละหลายๆครั้ง แล้วความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ “ การลงทุน” เป็นเจ้าตัวร้าย สร้างความหายนะขนาดนั้นเชียวหรือ?
แล้วถ้าไม่เริ่มลงทุนวันนี้ เแล้วมื่อไรจะรวย นั่นเป็นอีกหนึ่งความคิดที่แย้งขึ้นมาอย่างรวดเร็วเสมอ ทุกครั้งที่เราจะต้องลงเงินก้อนใหญ่กับอะไรซักอย่าง แต่เดี๋ยวนะ “คำว่ารวย กับการลงทุนเป็นของคู่กัน” นั่นไง เป็นเหตุผลสนับสนุนที่ฟังขึ้นทีเดียว แต่ไอ้คำว่าความ “เสี่ยง” ก็วิ่งตามมาเป็นหมาน้อยวิ่งไล่อยู่ข้างหลัง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันจะหันมาแว้งกัดให้เจ็บใจเมื่อไร นั่นไม่มีใครทราบได้ ฮ่ง ฮ่ง…แฮ่
แต่ในความเป็นจริง หากเราคิดจะลงทุนทำอะไรซักอย่าง สิ่งแรกที่เราควรคิดเสมอก่อนที่จะลงมือทำนั่นก็คือ เราต้องมีทัศนคติที่ดีกับสิ่งที่เราจะลงมือทำนั้นเสียก่อนให้ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะลงทุนในตลาดหุ้น ลงทุนกับการซื้อหวย วิ่งโพย หรือเอาตัวเข้าไปเป็นหุ้นส่วนร้านค้า ร้านอาหาร เปิดกิจการอะไรซักอย่างกับเพื่อน นั่นก็รวมอยู่ในคำว่าการ “ลงทุน” ทั้งสิ้น มันคงไม่สนุกแน่ ถ้าคิดว่าจะพังฉิบหายไว้ล่วงหน้าก่อนลงมือทำอะไรซักอย่าง
คำถาม คือ แล้วคำว่าลงทุนที่แท้ คือ อะไรกันแน่
ตามพจนานุกรมฉบับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ในใจความดังนี้ “การลงทุน คือการกระทำโดยการวางเงิน ทุ่มเท ความพยายาม อุทิศเวลาและอื่นๆ เพื่อยังประโยชน์คืนกลับที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับเงิน ความพยายามที่ทุ่มเท และเวลาที่สูญเสียไป (the act of putting money, effort, time, etc. into something to make a profit or get an advantage, or the money, effort, time, etc. used to do this.) นั่นเสียประไร ในความหมายที่ให้ไว้ไม่มีแม้แต่ คำว่า “เสี่ยง” บรรจุอยู่เพียงแต่น้อยนิด แล้วเจ้าความคิดที่ว่า การลงทุน คือความเสี่ยงนั้นมาจากไหนกัน การลงทุนใช่แค่ความเสี่ยงอย่างที่เราคิด หรือ แท้ที่จริง การลงทุน อาจจะมีหลากหลายมุมให้มองได้มากกว่าหนึ่ง นั่นเป็นใบเบิกทางทางความคิดชั้นเยี่ยม ที่เราจะบรรจุภาพลักษณ์ใหม่ ของคำว่า การ “ลงทุน” ที่ดีกว่าเดิม เพื่อเสริมโปรแกรมความรู้สึกใหม่ในหัวของพวกเราทุกคน ความรู้สึกที่ดี กับคำว่า ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานศิลปะ
คุณจะลงทุนซื้อรูปภาพมูลค่า สามร้อยล้าน เพราะอะไร
เพียงเพราะชอบแค่นั้นเหรอ กับการสูญเสียเงิน สามร้อยล้าน เพื่องานศิลปะหนึ่งชิ้น ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นซักเท่าไร แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ในวงการการค้าขายศิลปะทั่วโลก ถ้าคุณยังไม่เชื่อว่ามันเป็นจริง ภาพเขียน ที่มูลค่าสูงสุดราคาถึง สามร้อยล้าน ยู เอส ดอลลาร์ โดย วิลเลี่ยม เดอ คูนนิ่ง (Willem de Kooning) ซึ่งเป็นศิลปินแนว Abstract Expressionism ชาวอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 40 เขาเกิดเมื่อปี 1904 งานที่สร้างชื่อเสียงให้ เดอ คุนนิ่ง คืองานชุด “ woman “ ซึ่งในเชิงประวัติศาสตร์ งานของเขาถือเป็นตัวแทนของยุค ในห้วงอารมณ์ที่ผู้หญิงอเมริกันมี inner conflict ที่สูง ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิสตรี (Feminist) ในยุคที่เพลงสวิงเท้าไฟครองเมือง อารมณ์ที่เกรี้ยวกราด แรงปราถนาที่สับสนของฝีแปรงในภาพ บันทึกอารมณ์ของผู้หญิงในยุคนั้นไว้ เป็นมวลความรู้สึกที่คมชัด และนี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ให้ค่า
ราคางานของ เดอ คุนนิ่งที่มีการบันทึกไว้นั้น เดวิด กิฟเพน ( David Geffen ) เจ้าของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในยุค 90 ขายภาพที่ชื่อว่า “ WomanV” ไปในราคา หนึ่งร้อยสามสิบเจ็ดจุดห้าล้านเรียญสหรัฐ นี่เป็นน้ำจิ้มเบาะๆที่บ่งชี้มูลค่าในตลาดงานศิลปะได้เป็นอย่างดี ว่าทั้งตลาดมีมูลค่ามากมายเพียงใด ความน่าสนใจไม่ใช่อยู่แค่ราคาของชิ้นงาน แต่ความผันผวนในตลาด การเกิด Phenomenon ในวงการค้างานศิลปะและสังคมต่างหากที่เป็นเสน่ห์ให้นักลงทุนหน้าใหม่หันมาสนใจ ในการเก็บเงินในรูปแบบของงานศิลปะ (ออมศิลป์) กันมากขึ้น ความชอบในตัวชิ้นงาน หรือชื่นชมตัวศิลปินนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่กลิ่นหอมยวนใจของมูลค่างานในอนาคตนั้นช่างหอมหวานไม่แพ้กัน ศิลปะ อาจไม่ใช่แค่โลกของศิลปินแต่เพียงเท่าอย่างที่เราเข้าใจ แต่เป็นโลกของการลงทุน โลกของธุรกิจข้ามชาติ และโลกของการตีคุณค่าให้กลายเป็นราคา ซึ่งในความเป็นจริงมีกฎเกณฑ์ ที่ต้องเรียนรู้ก่อนที่จะกระโจนลงมาเสพศิลป์เป็นอาชีพ และมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวกันได้อย่างจริงจัง ดีได้ไม่แพ้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องรู้ กฏ ระเบียบ กติกา มารยาท กันซักหน่อยก่อนที่จะลงทุน
ทำความเข้าใจง่ายๆ ศิลปินก็คือหุ้นหนึ่งตัวที่ให้เราได้ลุ้น หุ้นที่มีชีวิต ยุคนี้ยิ่งง่าย แค่ติดตามทางเฟสบุ๊ค ประหนึ่งดูรายการ เรียลออลิตี้โชว์ สนุกกว่าดูตัวเลข วิ่งไปวิ่งมา บนกระดานหุ้นเยอะ แถมดูง่าย ไม่ต้องลงวิชาทะเบียนเรียนเรื่องตลาดหุ้น ก็ดูได้ ดูสนุก ศิลปิน มีเกิดแก่ เจ็บตาย มีดราม่าเหมือนคนเรานี่แหละ แต่ที่สำคัญเมื่อตัวศิลปินตายไปเมื่อไร หุ้นตัวนี้ก็จะขึ้นราคาสูงในตลาดจนเจ้าตัวที่ถือชิ้นงานอยู่ตกใจ อันนี้เป็นเรื่องราวง่ายๆในวงการที่คนภายนอกก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว แต่กลไก การเดินทางของราคาในวงการนี้ต่างหากที่น่าสนใจ และเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน แต่สิ่งหนึ่งที่กันรันตีเลยว่า ถ้าได้ลองแล้วจะติดใจ เพราะสนุกกว่าจ้องตัวเลขเป็นแน่นอน