หลาย ๆ คนคงเคยเล่นเกมที่มีการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ทั้งเป็นเงิน เหรียญ หัวใจ หรือตัวเลขแทนค่าอะไรสักอย่าง เมื่อมีการแลกเปลี่ยนก็แค่ดูว่าเรามีตัวเลขต่าง ๆ พอเพียงกับสิ่งของภายในเกมที่เราต้องการหรือไม่ หากพอก็กดเลือกซื้อหรือแลกเปลี่ยนอย่างง่ายดาย สร้างความสะดวกสบายให้กับตัวละครของเราได้เป็นอย่างดี
แล้วถ้าเรื่องแบบนี้เกิดกับโลกจริงล่ะ?
โลกที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินสด โลกที่มีเพียงตัวเลขในบัญชีหรือในเครดิต ก็สามารถใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือดำน้ำ
ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่นักที่เทคโนโลยีการชำระเงินพัฒนาไปจนถึงขั้นเราสามารถใช้จ่ายเงินโดยไม่ต้องพกเงินสด เริ่มจากการใช้บัตร ATM ที่ผูกกับ VISA Master Card หรือระบบกลางอื่น ๆ จากนั้นก็เริ่มมีการโอนเงินออนไลน์ และปัจจุบันก็สามารถชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือได้อย่างที่ทราบกัน
โดยแนวโน้มการลดการใช้เงินสดนั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยกระแสเหล่านี้เกิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ที่รวดเร็วและทันสมัย โดยมีรายงานว่าแถบยุโรปมีการใช้เงินลดลงมาก ๆ เช่น ในสวีเดนที่มีการใช้เงินสดลดลงถึงร้อยละ 44 ตั้งแต่ปี 2553 และร้านค้าหลายแห่งแจ้งลูกค้าว่าไม่รับเงินสด ส่วนทางด้านธนาคารหลาย ๆ ที่ ไม่เก็บเงินสดไว้เลย และแม้แต่การเรี่ยไรเงินเพื่อบำรุงโบสถ์และการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ไร้ที่อยู่อาศัยยังสามารถทำได้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ การลดการพึ่งพาเงินสดทำกันอย่างจริงจัง ในสหราชอาณาจักรมีการใช้เงินสดในการทำธุรกรรมร้อยละ 58 ในปี 2554 และ 4 ปีต่อมาสัดส่วนดังกล่าวยิ่งลดลงมากกว่าเดิม โดยเหลือเพียงร้อยละ 47 เท่านั้น ในปี 2558 ในเกาหลีใต้มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะกำจัดเหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนในระบบให้หมดไปจากประเทศภายในปี 2563
ก้าวย่างแห่งอนาคต กับสังคมที่ไร้เงินสดที่มีอัตราการก้าวกระโดดมากที่สุดลำดับต้น ๆ ของโลกในขณะนี้คือ ประเทศจีน ว่ากันว่าจีนนั้นมีอัตราการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นจำพวก WeChat, Alipay มากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 50 เท่า
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา สถาบัน Chongyang Institute for Financial Studies ของมหาวิทยาลัยเหรินหมินในจีน ได้ทำการร่วมมือในการทำวิจัยกับ Ipsos บริษัทที่เชี่ยวชาญในการทำสำรวจและวิจัยตลาดจากประเทศฝรั่งเศส ได้ลงทำการสำรวจโดยสุ่มตัวอย่าง 324 แห่ง ตามเมืองใหญ่ ๆ เกี่ยวกับความสบายใจในการใช้ หรือชำระเงินผ่านระบบต่าง ๆ เหล่านี้ ปรากฏว่าผู้คนในปักกิ่งไว้วางใจในการใช้ระบบชำระเงินผ่านอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีเหล่านี้มากที่สุด โดยมีอัตรามากกว่าร้อยละ 70 โดยชาวเมืองส่วนใหญ่สามารถพกเงินสดไม่เกิน 100 หยวนต่อสัปดาห์ (ประมาณ 500 บาท) ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรร้อยละ 84 ของกลุ่มไว้วางใจ ไม่พกเงินสดติดตัวเลย ซึ่งจะพกเพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ส่วนประชากรในเขตเมืองเซินเจิ้น ก่วงโจว และเซี่ยงไฮ้ ก็มีอัตราการใช้บริการแบบนี้ตามมาติด ๆ
ทางด้าน Alibaba เจ้าตลาดธุรกิจออนไลน์หรือ E-Commerce ได้ประกาศ 10 อันดับ พื้นที่ที่มีการใช้จ่าย AliPay หรือระบบชำระเงินของบริษัท ได้แก่ เซี่ยงไฮ้, กรุงปักกิ่ง, มณฑลเจ้อเจียง, มณฑลเจียงซู, มณฑลฝูเจี้ยน, เทียนจิน, มณฑลหูเป่ย, มณฑลไห่หนัน, มณฑลกวางตุ้ง และเขตปกครองตนเองทิเบต โดยพบว่า นครเซี่ยงไฮ้ ที่มียอดการใช้จ่ายอันดับ 1 มีการใช้จ่ายผ่านระบบอาลีเพย์เฉลี่ยคนละ 148,000 หยวนต่อปีหรือประมาณ 740,000 บาท เลยทีเดียว และนอกจากนี้ทาง Alibaba ยังพัฒนา การจ่ายเงินด้วยระบบแสกนใบหน้า โดยมีคลิปการทดลองการสร้างร้านค้าที่ไร้พนักงาน ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าใส่ถุงตามที่ต้องการ และเมื่อเลือกเสร็จก็แค่เดินผ่านประตูอุโมงค์ที่กำหนด แล้วจะมีการแสกนในหน้าแล้วเชื่อมไปยังระบบ AliPay เพื่อตัดยอดจากบัตรเครดิตทันทีได้อีกด้วย
แต่ระบบนี้ยังมีปัญหาการต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่นิยมใช้เทคโนโลยี ที่ยังมีจำนวนกว่า 400 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหา เพราะเนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า “ปลอดเงินสด” ทำให้พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากเริ่มปฏิเสธการรับเงินสด อันเป็นการละเมิดกฎหมายของทางการจีน ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่า “ห้ามบุคคลหรือกิจการใดปฏิเสธไม่ยอมรับเงินสกุลหยวนในการทำธุรกรรม” ซึ่งจากกรณีดังกล่าวทำให้ AliPay ถอดข้อความคำว่า “ปลอดเงินสด” ออกจากการโฆษณา เพราะเกรงว่าหากเกิดปัญหาการฟ้องร้องมากกว่านี้ อาจเกิดการระงับการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จากทางการได้
แม้จะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมากพอสมควรแต่ก็ต้องยอมรับว่าการพัฒนาระบบการชำระเงินของจีนก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และอีกไม่นานคงเป็นระบบการใช้จ่ายเงินหลักของประเทศ และยังสามารถขยายอาณาจักรการเงินการธนาคารของจีน ให้แพร่ขยายแบบไร้พรมแดน เพราะข้อดีต่าง ๆ ของระบบ เช่น การมอบส่วนลดได้ทันทีจากสินค้าหรือบริการ ความง่ายในการใช้จ่าย ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมองหาตู้ ATM เสียเวลารอเงินทอน เสี่ยงต่อภัยจากการโจรกรรมและอาชญากรรม การใช้จ่ายสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยขึ้น ส่วนภาคธุรกิจก็จะประหยัดต้นทุนทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัย การเก็บรักษา การนับเงิน และการขนส่งเงินสด
และข้อดีที่ทุกประเทศต้องหันมามองการใช้ระบบนี้คือ การที่รัฐสามารถตรวจสอบการเงินเข้าออก สามารถลดอัตราการค้างชำระและตรวจสอบการเลี่ยงภาษี การลดปัญหาการทุจริต ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ลดปัญหาอาชญากรรม และประเทศสามารถประเมินการใช้จ่ายได้อย่างแม่นยำเพิ่มขึ้นอีกด้วย