หลังจากมีผู้กู้หลายรายพยายามหลีกเลี่ยงการคืนเงินกลับสู่กองทุน จึงส่งผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ออกมาตรการบังคับใช้ให้ผู้กู้คืนเงิน เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมได้มีทุนสำหรับการศึกษาต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : ลูกหนี้เตรียมตัวให้ดี! กยศ.เตรียมหักบัญชีเงินเดือน เริ่ม 26 ก.ค. นี้
จากข้อมูลตัวเลขผู้กู้ยืมล่าสุดจำนวน 5,284,309 ราย ที่กองทุนได้ออกมาเปิดเผย ทำให้ทราบว่า
-
มีผู้กู้ที่ชำระเงินกู้เสร็จสิ้นแล้ว 670,772 ราย
-
ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,411,822 ราย
-
ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 1,151,520 ล้านราย
-
และผู้กู้ที่เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอีก 50,135 ราย
จากจำนวนดังกล่าว คิดเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 553,492 ล้านบาท ซึ่งกองทุนได้พยายามติดตามหนี้ให้ได้มากที่สุด โดยออกมาตรการต่าง ๆ ทั้งขอความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่ผ่านมากองทุนมีผลการชำระหนี้จากผู้กู้ยืมดีขึ้นเป็นลำดับ และไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการจัดสรรวงเงินการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 เลย โดย
- ในปี 2558 กองทุนได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน 18,318 ล้านบาท
- ปี 2559 ได้รับการชำระหนี้เพิ่มเป็น 21,419 ล้านบาท
- ในปี 2560 นี้ กองทุนคาดว่าจะได้รับการชำระหนี้มากขึ้นถึง 25,000 ล้านบาท
ถึงแม้ยอดการชำระหนี้จะดีขึ้นเพียงใด แต่ก็ยังมีผู้กู้จำนวนหนึ่งที่ยังคงผิดนัดและค้างชำระหนี้อยู่ ซึ่งในปี 2560 นี้ กองทุนได้ดำเนินคดีไปแล้วกว่า 140,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท พร้อมกับออกมาตรการหักเงินเดือนผู้กู้ โดยจะเริ่มในปี 2561 อย่างแน่นอน
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ออกมาเปิดเผยว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เตรียมแผนเดินสายพบองค์กรนายจ้าง หลังพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้เริ่มมีผลบังคับ พร้อมเร่งติดตามหนี้เงินกู้ยืมอย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือกับกรมสรรพากรและประชาสัมพันธ์ให้องค์กรนายจ้างรับทราบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหักเงินเดือนพนักงานที่เป็นผู้กู้ยืม โดยร่วมมือกับสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมประชุมหารือร่วมกัน ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้มีแผนจะเริ่มนำร่องจัดประชุมสัญจรครั้งแรกกับสมาชิกสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นที่จังหวัดระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก
สำหรับมาตรการนี้ กองทุนจะเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรซึ่งเชื่อมต่อกับระบบของนายจ้างอยู่แล้ว และทำการหักเงินเดือนผู้กู้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยกองทุนจะให้สิทธิในการหักรายได้ให้กรมสรรพากรก่อน ตามด้วยประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเป็นการชำระหนี้ให้กองทุนตามลำดับ ซึ่งหากนายจ้างองค์กรใดไม่หักเงินเดือนนำส่งกองทุน นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับภาระรับผิดชอบจ่ายหนี้แทน
การชำระหนี้ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้กู้ยืมทุกคน ทางกองทุนเองก็ไม่ต้องการออกมาตรการใด ๆ เพื่อเป็นผลบังคับใช้ เพียงผู้กู้ตระหนักในความรับผิดชอบนี้และชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนด ขอให้นึกถึงวันที่คุณต้องการโอกาสดี ๆ ทางการศึกษา จนได้รับโอกาสนั้นจากกองทุน รุ่นน้องที่อยู่ข้างหลังคุณก็ต้องการเช่นกัน…
ที่มา