เพื่อเป็นการตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้ทุกระบบมีความเชื่อมโยงกัน และเป็น “สังคมไร้เงินสด” อย่างแท้จริง ทุกอุตสาหกรรมทุกธุรกิจจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการแก่ประชาชนให้เป็นระบบอิเล็คทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ ในส่วนของการขนส่งก็เช่นเดียวกัน เพราะในเดือน ต.ค. 60 ที่จะถึงนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ประกาศให้ประชาชนที่ใช้บริการรถสาธารณะสามารถใช้ “ตั๋วร่วม” เดินทางไปทุกหนแห่งกับบริการขนส่งทุกรูปแบบด้วยบัตรเพียงใบเดียวที่เราเรียกว่า “บัตรแมงมุม”
บัตรแมงมุม คืออะไร
บัตรแมงมุม เป็นบัตรเติมเงินขนส่งสาธารณะในลักษณะตั๋วร่วมที่สามารถใช้เดินทางได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT แอร์พอร์ตลิงค์ เรือด่วนเจ้าพระยา และระบบทางด่วน (Easy pass) ทั้งยังสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าต่าง ๆ ที่ร่วมรายการ ซึ่งในขณะนี้ สนข. อยู่ในช่วงเจรจาเพื่อให้สามารถนำมาใช้ซื้อสินค้าหรือบริการในห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเดอะมอลล์และเครือเซ็นทรัลอีกด้วย
บัตรแมงมุม มีกี่ประเภท
บัตรแมงมุม มีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
- บัตรบุคคลทั่วไป (สีน้ำเงิน)
- บัตรผู้สูงอายุ (สีทอง)
- บัตรนักเรียน / นักศึกษา (สีทอง)
ซึ่งจะมีค่ามัดจำและธรรมเนียมการใช้บัตรมูลค่า 150 บาท แต่ในระยะแรกจะลดค่ามัดจำให้เหลือเพียง 50 บาท หรืออาจยกเว้นให้ ซึ่งจะประกาศให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังสามารถเติมเงินลงในบัตรได้สูงสุดถึง 10,000 บาท และหากกรณีที่บัตรสูญหายสามารถแจ้งอายัดวงเงินได้อีกด้วย
จะซื้อบัตรแมงมุมได้ที่ไหน
เบื้องต้นทาง สนข. ได้เตรียมแจกบัตรแมงมุมจำนวน 200,000 ใบในปลายปีนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ทดลองใช้ฟรี แต่อนาคตต่อไปประชาชนที่สนใจจะสามารถหาซื้อบัตรแมงมุมได้ตามจุดต่าง ๆ ที่กำหนด เช่น สถานีรถไฟฟ้า ร้านสะดวกซื้อ ป้ายรถเมล์
จะสามารถใช้บริการกับการขนส่งทุกประเภทได้ทันทีเลยหรือเปล่า
การใช้งานบัตรแมงมุมจะแบ่งออกเป็น 2 เฟส ด้วยกัน ดังนี้
- เฟสที่ 1 จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 60 นี้ แต่ใช้ได้กับรถเมล์ ขสมก. ที่ติดตั้งอีทิคเก็ตแล้วเสร็จจำนวน 800 คัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-คลองบางไผ่ จะสามารถใช้ได้ในเดือน มี.ค. 61 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ และบีทีเอสสายสีเขียวจะเริ่มเปิดให้บริการประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. ปี 61 เนื่องจากต้องรอการเชื่อมต่อระบบ
- เฟสที่ 2 เป็นการใช้ร่วมกับทางด่วน มอเตอร์เวย์ เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในปี 62 ส่วนรถไฟซึ่งมีระบบการซื้อตั๋วที่แตกต่างจากการขนส่งประเภทอื่น ๆ จะต้องรอการพัฒนาต่อไป
ความพิเศษอื่น ๆ
บัตรแมงมุมนี้ นอกจากจะใช้กับระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ แล้ว บัตรใบนี้ยังถูกออกแบบมาให้รองรับกับสวัสดิการสังคม และเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลในโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment อีกด้วย โดยทางภาครัฐจะบรรจุชิพลงในบัตร ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถใช้บริการระบบขนส่งได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จำกัดวงเงินรถประจำทางและรถไฟฟ้าที่มูลค่า 500 บาท รถไฟ 500 บาท และรถโดยสาร บขส. อีก 500 บาท
ถือเป็นการปรับโฉมรูปแบบการให้บริการกับประชาชนอย่างดีทีเดียว เพราะไม่ต้องมีบัตรโดยสารหลายใบ หรือต้องเตรียมเงินสดเพื่อใช้บริการขนส่งอื่น ๆ เรียกได้ว่าบัตรแมงมุมใบเดียว โยงใยให้ทุกการเดินทางสะดวกสบายอย่างแท้จริง
ที่มา