เวลานี้ทุก ๆ บ้านคงจะเจอปัญหาเดียวกันคือ เด็กสมัยนี้ติดเครื่องมือสื่อสาร เช่นโทรศัพท์ หรือ แท็บเล็ต และเวลากินข้าวก็ต้องเปิดคลิปเพลงการ์ตูนให้ลูกดู อย่างไรก็ตามมีข้อมูลทางการแพทย์ว่าไม่ควรให้ลูกอายุต่ำกว่า 2 ขวบดู เพราะทำลายการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นไม่ควรที่จะให้เด็กดู
แต่ในสมัยนี้ถ้าไปร้านอาหารเราจะเห็นคุณพ่อคุณแม่เปิดวิดีโอให้เด็กดู แต่ความจำเป็นของแต่ละบ้านไม่เท่ากัน บางทีอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ไม่ให้เด็กร้องไห้ก็ได้ กฎมีไว้ถือว่าดีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเดินทางสายกลาง หลังจากกินเสร็จก็ควรให้เด็กไปเล่นไม่จ้องจอ หรือ อาจจะพยายามฝึกให้เขากินข้าวโดยไม่ต้องดูหน้าจอ สำหรับผู้เขียนสิ่งที่ทดลองทำแล้วได้ผลก็คือ บอกว่าคนในการ์ตูนไปกินข้าวนะ เขาก็จะฟังและไม่ดูหน้าจอระหว่างการกินข้าว
เมื่อเข้าวัยประถม อาจจะมีเด็กหลายคนเรียกร้องให้ซื้อโทรศัพท์มือถือที่เล่นอินเตอร์เน็ตได้ เพื่อส่งไลน์กับกลุ่มเพื่อน แต่ก็มีความเสี่ยงที่ทำให้เด็กเสียการเรียนได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรมีข้อควรระวัง
ข้อแนะนำจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (The American Academy of Pediatrics) ระบุว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กได้ใช้, สัมผัส, ดูหน้าจอ ของอุปกรณ์ไฮเทค หรือเป็นการห้ามใช้นั่นเอง
ซึ่งในกรณีนี้หมายความรวมไปถึงโทรทัศน์ด้วย เนื่องจากเด็กอายุยังไม่ถึง 2 ขวบนั้น ยังถือว่าเล็กมาก รวมถึงดวงตาและการรับรู้ต่างๆ ยังไม่เหมาะที่เด็กจะรับสื่อภายนอกใดๆ เข้ามาในช่วงอายุนี้ ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และก็เล่นกับลูกด้วยของเล่นปกติ จับต้องได้ในชีวิตจริง
เด็กอายุ 3-5 ปี เปิดให้เล่นอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ได้เพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน
จากผลสำรวจในประเทศอังกฤษพบว่าเด็กอายุ 3-5 ปี มีผู้ปกครองหลายท่านเริ่มให้เด็กได้รับสื่อจากอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ บ้างแล้ว โดยระบุว่าเด็ก 57% เคยเล่นเกมจากอุปกรณ์ไอที, 25% นั่งดูรายการทีวี ซึ่งในความเป็นจริง เด็กในวัยนี้ก็ถือว่าเริ่มรับรู้สื่อจากภายนอกได้แล้ว แต่ข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญยังคงให้จำกัดเวลาในการใช้งาน คือไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
ในจำนวนนี้คือรวมทั้งหมด ทั้ง เครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่โทรทัศน์ก็เช่นเดียวกัน
เด็กอายุ 5-18 ปี เปิดให้เล่นอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ได้เพียง 2 ชั่วโมงต่อวัน
แน่นอนว่าเด็กในวัย 5 ปีขึ้นไปนั้นถือว่าอยู่ในช่วงของการเข้าโรงเรียนแล้ว และก็จะได้เรียนรู้จากสื่อต่างๆ มากมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้แล้ว ยังเปิดโลกกว้างให้เด็กๆ อีกด้วย
ถึงอย่างนั้นทางถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา ก็ยังคงแนะนำให้ผู้ปกครองจำกัดการใช้สื่อของลูก ให้ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็คงมีหลายคนคิดในใจว่า เด็กระดับประถมหรือมัธยม น่าจะให้ใช้ได้มากกว่านั้นได้ เพราะในปัจจุบันก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลายจนเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่านี่คือข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
ในเว็บไซต์ของเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังก็ได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นความเหมาะสมนี้เช่นกัน โดยได้ระบุว่า Dr. Richard House นักจิตวิทยาได้เพิ่มคำเตือนให้กับผู้ปกครองในการให้เด็กใช้อุปกรณ์ไฮเทคอย่างสมารท์โฟนหรือแท็บเล็ต จะส่งผลกระทบโดยตรงกับเด็ก คล้ายกับเป็นการเอาพัฒนาการของเด็กไปเล่นแบบเสี่ยงอันตราย ซึ่งการให้เด็กได้เห็นภาพเสมือนจริงจากแท็บเล็ตนั้น อาจจะทำให้ตัวเด็กถูกบิดเบือนจากประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง แม้แต่ สตีฟ จ๊อบส์ เองก็ยังไม่ให้ลูกของเขาเล่นไอโฟนและไอแพด
การทำให้เด็กสับสนระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริง แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการลำดับสิ่งต่างๆ ในโลกของเด็กได้ ในเมื่อแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังสามารถสับสนได้ ซึ่งอาจจะส่งผลมากกว่ากับสมองของเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา เทียบเท่าได้กับการทุนรุณกรรมเด็ก (child abuse)
ทั้งนี้ ก็ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่ควรทราบ ในการให้บุตรหลานใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มเติมดังนี้
-แท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าสื่ออื่นๆ ซึ่งหลายโรงเรียนก็เริ่มให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการเรียน แต่การให้เด็กใช้มากเกินไป จะส่งผลถึงการหยิบจับสิ่งของ (เพราะใช้แต่จอเรียบๆ) รวมถึงการแยกโลกเสมือนกับโลกความเป็นจริง
-ไม่ควรให้เด็กใช้อุปกรณ์เหล่านี้ตามลำพัง เช่นเอาไปเล่นในห้องนอน, เอาไปเข้าห้องน้ำด้วย
-ผู้ปกครองคือส่วนที่สำคัญที่สุด และจำเป็นต้องเรียนรู้อุปกรณ์เหล่านี้ให้ดี ทั้งการใช้งาน การป้องกัน และข้อดีข้อเสีย
พูดง่ายๆ ว่าเราคงไม่อยากให้ลูกดูรายการทีวีที่เราไม่อยากให้ดู อ่านหนังสือที่เราไม่อยากให้อ่าน เช่นเดียวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น เราก็ควรจะรู้จักมันให้ดีกว่าลูกๆ ของเรา
การให้เด็กใช้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การให้ใช้อย่างไม่มีขีดจำกัดคือเรื่องที่น่ากลัว ควรสอนให้รู้จักข้อจำกัด ทั้งเวลา สถานที่ และความพอดีในการใช้งานด้วย
Source: khajochi/macthai/Mashable/BBC/AAPPublications