เมื่อตอนที่แล้วเราได้รู้จักหลักการของประกันชีวิตกันมาแล้วนะคะ เดี๋ยววันนี้เราจะมาดูกันว่า ประกันชีวิต มีกี่แบบ และแต่ละแบบเหมาะกับใครบ้างค่ะ
อ่านเพิ่มเติม : ประกันชีวิต 101 (1) : พื้นฐานประกันชีวิตที่ควรทราบ
เวลาเราพูดถึงประกันชีวิต แต่ละคนอาจจะนึกภาพต่างกันออกไป เช่นบางคนคิดถึงเรื่อง ค่ารักษาพยาบาล บางคนคิดถึงการลดหย่อนภาษี บางคนคิดถึงเงินที่คนข้างหลังจะได้รับเมื่อตนได้จากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งก็ไม่มีใครผิด เพราะจริง ๆ แล้ว ประกันชีวิตมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบ ก็จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อประกันที่แตกต่างกัน
ประเภทของประกันชีวิต
ประกันชีวิต เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจขอแยกออกเป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ ก็คือ สัญญาหลักหรือประกันหลัก และสัญญาเพิ่มเติม และแต่ละประเภทก็จะถูกแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ประเภทย่อย ซึ่งมีเยอะมาก ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่เรามักจะเห็นกันบ่อย ๆ นะคะ
- ประกันหลัก
ประกันหลัก จะเป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองกับผู้ทำประกันใน 2 ลักษณะ คือ เมื่อคงชีพ(หรือมีชีวิตอยู่) และเมื่อสิ้นชีพ(เมื่อเสียชีวิต) โดยหากผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ถึงวันสุดท้ายของสัญญา ก็จะได้รับเงินเอาประกันบวกกับเงินผลประโยชน์เพิ่มเติม(ถ้ามี) แต่หากผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนจะถึงวันสุดท้ายของสัญญา บริษัทก็จะจ่ายเงิน(ทุนประกัน)ให้กับผู้รับผลประโยชน์ ซึ่ง ผู้เอาประกันสามารถระบุได้ว่าจะให้มอบให้ใคร
อย่างไรก็ตาม ประกันหลักนี้ ได้ถูกแยกออกเป็นหลายแบบ โดย สามารถแยกอธิบายตามแต่ละแบบได้ดังนี้
1.แบบตลอดชีพ
เป็นประกันที่มีระยะเวลาการจ่ายเบี้ยประกันระยะหนึ่ง แต่คุ้มครองไปจนตลอดชีวิต ซึ่งคำว่าตลอดชีวิตของแต่ละบริษัทประกันอาจให้คำจำกัดความต่างกัน บางที่อาจหมายถึงอายุ 99 ปี บางที่ หมายถึงอายุ 85 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ต้องสอบถามดูให้ดีเสียก่อน
เนื่องจากประกันประเภทนี้เป็นประกันระยะยาว จึงไม่เหมาะกับคนที่ต้องการเงินคืน (ถึงแม้จะได้เงินคืนก็ตาม แต่ได้เมื่ออายุ 99 หรือ 85 เป็นต้น) ประกันประเภทนี้จะเน้นให้ความคุ้มครองในวงเงิน(ทุนประกัน)สูง ด้วยเบี้ยไม่สูงมากนัก ดังนั้นจึงเหมาะกับคนที่ต้องการมีมรดกไว้ให้ลูกหลาน หรือทำไว้ป้องกันความเสี่ยงด้านหนี้สิน เป็นต้น
2.แบบสะสมทรัพย์
แบบประกันนี้ ทุนประกันจะไม่สูงมาก แต่เบี้ยประกันค่อนข้างสูง โดยระหว่างทางก่อนถึงวันสิ้นสุดสัญญาอาจจะมีเงินคืนให้ตามเงื่อนไข สำหรับระยะเวลาที่คุ้มครองมักเท่ากับหรือยาวกว่าระยะเวลาจ่ายเบี้ย ชื่อแบบประกันมักเขียนว่า X/Y เช่น 5/5, 5/10, 15/5 ตัวเลขที่น้อยกว่าจะหมายถึงระยะเวลาจ่ายเบี้ย และตัวเลขที่มากกว่าจะหมายถึง ระยะเวลาความคุ้มครอง เช่น 5/10 คือ จ่าย 5 ปี คุ้มครอง 10 ปี ,15/5 คือ จ่าย 5 ปี คุ้มครอง 15 ปี เป็นต้น
เนื่องจากประกันประเภทนี้ มีเบี้ยที่ค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับคนที่มีฐานภาษีสูง แล้วต้องการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี เพราะตัวเลขที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนได้ คือจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายในปีนั้นๆ ดังนั้น เบี้ยประกันสูง ก็ทำให้ได้จำนวนเงินในการลดหย่อนสูงไปด้วย แต่ต้องดูให้ดีนะคะ การจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ แบบประกันนั้น ๆ จะต้องมีระยะเวลาความคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปี ขึ้นไป ดังนั้น หากซื้อประกันสะสมทรัพย์แบบ 5/5 แบบนี้จะไม่สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้นะคะ นอกจากนั้นแบบประกันประเภทนี้มักให้เงินคืน ในระหว่างสัญญา จึงเป็นทางเลือกของการเก็บเงินอีกทางนอกเหนือจากการฝากไว้กับธนาคาร
3. แบบเงินได้ประจำ หรือแบบบำนาญ
ประกันบำนาญ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือเป็นประกันที่เน้นการออมเงินเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ โดยระหว่างออมเงินก็จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องของทุนประกันด้วย ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากการออมเงินในรูปแบบอื่น ประกันบำนาญจะมีข้อกำหนดคือ ในระหว่างตั้งแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับไปจนถึงอายุก่อนเกษียณ (ซึ่งแต่ละบริษัทประกันจะกำหนดอายุเกษียณที่ต่างกันออกไป เช่น 55 ปี 60 ปี เป็นต้น) ผู้ทำประกันจะไม่ได้รับเงินคืนใด ๆ จากบริษัทประกัน (ยกเว้นกรณีเสียชีวิต) แต่หลังจากนั้น บริษัทประกันจะทยอยจ่ายเงินให้เป็นงวด ๆ อาจจะเป็น รายเดือน หรือรายปี เพื่อให้เป็นรายได้ให้กับผู้เอาประกันที่อยู่ในวัยเกษียณต่อไป
สำหรับประกันประเภทนี้ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้ออมเงินเพื่อใช้ในการเกษียณ ทางรัฐบาลจึงช่วยสนับสนุน โดยการเพิ่มวงเงินการลดหย่อนภาษีให้มากกว่าประกันแบบอื่น ๆ คือ แบบอื่น ๆ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 แสน แต่แบบบำนาญลดหย่อนได้ไม่เกิน 2 แสนบาท
4. แบบควบการลงทุน
ประกันนี้ เป็นประกันน้องใหม่สุด ที่เข้าสู่ประเทศไทยยังไม่ถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศได้มีการใช้มานานแล้ว ประกันประเภทนี้ จะมีเรื่องของการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ เมื่อเราจ่ายเบี้ยประกันเข้าไป เบี้ยประกันนั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่ใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านประกัน และอีกส่วนจะถูกนำไปลงทุนในกองทุนที่ทางบริษัทประกันได้เลือกเข้ามาให้จำนวนหนึ่ง โดยกองทุนเหล่านี้ ผู้ทำประกันสามารถเลือกเองได้ว่าจะให้ลงทุนในกองไหนได้บ้าง เป็นต้น
เนื่องจากประกันประเภทนี้มีเรื่องของการลงทุนด้วย ก็จะเป็นการเพิ่มเรื่องของผลตอบแทนให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีเรื่องของความเสี่ยงจากการลงทุนตามมาด้วย ดังนั้น ผู้ที่ทำประกันประเภทนี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนด้วย และควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเนื่องจากเป็นประกันแบบใหม่ แต่ละบริษัทประกันอาจจะมีเงื่อนไขที่ต่างกัน เป็นต้น
** สำหรับเบี้ยของสัญญาหลักทุกแบบ จะเป็นเบี้ยคงที่ คือเริ่มต้นต้องจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ เมื่อเวลาผ่านไป เบี้ยก็จะยังเท่าเดิม ไปจนถึงวันครบกำหนดการจ่ายเบี้ย **