ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระบรมราโชวาท และ พระราชดำรัส เป็นคำสอนให้กับปวงชนชาวไทย ได้ใช้ชีวิตและการทำงานอย่างมีความสุข วันนี้จะขอน้อมนำมาแสดงอีกครั้ง เพื่อร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาสุดมิได้ พร้อมกับปฏิบัติตามต้นแบบดีๆนี้
- การรู้จักใช้เงิน
“…ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้อง ทุน ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด…”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘
คำสอนของพระองค์ท่านเป็นจริงเสมอ เพราะหากเราฝากเงินไว้แล้วกินใช้แต่ดอกเบี้ย เงินต้นก็ยังอยู่ เราก็จะไม่ขัดสนใดๆ แต่หากวันใดที่เราใช้จ่ายแบบไม่บันยะบันยังเงินนั้นก็จะหมดลงได้ในที่สุดและนำพาความยากลำบากตามมา
- ความพอเพียง
“…ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้า ใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอําเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง มากนัก …มีเงินเดือนเท่าไหร่จะต้องใช้ภายในเงินเดือน…กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สําหรับ ไปเล่น ไปทําอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…”
พระราชดํารัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ความพอเพียงใช้ได้กับทุกครอบครัว ไม่ใช่แต่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น หากเรามีเงินเดือนเท่าไรก็ใช้และออมเท่าที่มี อย่าใช้เงินมือเติบจนต้องไปกู้เงินใครมากิน หากจะกู้ก็ต้องนำมาลทุนใช้ให้เป็นประโยชน์
- ความเจริญในการทำงาน
“… ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสําคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับใช้กระทําการทํางาน สิ่งหลัง เป็นปัจจัยสําคัญสําหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบคือให้ถูกต้องและเป็นธรรม”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา อิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๙
การทำงานให้เจริญก้าวหน้าจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ มีความสามารถ มีการประพฤติชอบ มีความซื่อสัตย์และมีคุณธรรมหากทำได้แบบนี้จะทำงานที่ไหนก็มีความสุข
- การคิดก่อนพูด
“…หลักของคุณธรรมคือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทําสิ่งไร จําเป็นต้อง หยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และจิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดคุ้นเคยชํานาญแล้ว จะกระทําได้คล่องแคล่วช่วยให้สามารถแสดงความรู้ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิด ทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม…”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๕
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการดำรงชีวิต ก่อนพูดต้องคิดให้ดีก่อน เพื่อจะได้สื่อสารเข้าใจง่าย และไม่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องจริง สิ่งที่พูดนั้นจะได้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ความสามัคคี
“…สามัคคีนี้ก็คือการเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้ เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทํางานด้วยการซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกัน และกัน และไม่ทําลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทํางานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม…”
พระราชดํารัสที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตํารวจชั้นนายพล เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙
ความสามัคคีจะทำให้คนเราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ในชุมชน ในที่ทำงาน ไปจนถึงระดับประเทศ
- การมีเสรีภาพ
“…การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จําเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและ ความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึง สวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทําให้มีความยุ่งยากจะทําสังคมและ ชาติประเทศต้องแตกสลายโดยสิ้นเชิง …”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแถลงการณ์สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติตาม แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สวชพ.) เรื่อง ‘การใช้เสรีภาพเพื่อการปรองดองสมานฉันท์’ เนื่องในวันนักข่าว เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๐
คนเราทุกคนมีเสรีภาพ แต่ก็ต้องใช้อย่างถูกต้องและไม่ไปรบกวนละเมิดเสรีภาพของคนอื่น เพราะทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน
- การรู้จักนับถือความรู้
“…เราเป็นนักเรียน เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ… ถ้าหากว่าในด้านไหนก็ตาม เวลาไปปฏิบัติให้ถือว่าเราเป็นนักเรียน ชาวบ้านเป็นครูหรือ ‘ธรรมชาติเป็นครู’ การที่ท่านทั้งหลายจะออกไป ก็จะไปหลายๆด้าน … ก็จะต้องเข้าใจว่า เราอาจจะเอาความรู้ไปให้เขา แต่ก็ต้องนับถือความรู้ของเขาด้วย จึงจะมีความสําเร็จ…”
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดําริอําเภอเมือง จังหวัด สกลนคร เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๐
คนเราเป็นนักเรียนได้ตลอด เพราะคงไม่มีใครเชี่ยวชาญไปทุกเรื่อง ถึงคนที่ให้ความรู้เราเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าหรือเป็นแค่ตาสีตาสา แต่ถ้าเขาให้ความรู้กับเราเขาก็คือครู และเราควรมีความเคารพในครูและความรู้นี้