นักเรียน นักศึกษาจบใหม่ ไฟแรง ที่กำลังก้าวสู่ตลาดแรงงานในทุก ๆ สาขาอาชีพ สตาร์ทเงินเดือนขั้นต่ำก็ 10,000 – 15,000 บาทอัพกันแล้ว ยิ่งเป็นเงินก้อนแรกที่หามาได้เองจากน้ำพักน้ำแรงโดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อ แม่และครอบครัวแล้วด้วย ยิ่งทำให้บางคนใช้เงินประดุจพิมพ์ธนบัตรเอง วันแรกที่เงินเดือนออก ใช้กระหน่ำ ช็อปปิ้งกระจาย จนลืมไปว่ายังมีอีก 29 วัน ที่เหลืออยู่ ต้นเดือนกินเหมือนพระราชา กลางเดือนเริ่มกินข้าวกล่อง ปลายเดือนต้มมาม่ากินประทังชีวิต แล้วก็นับรอเวลาที่เงินเดือนจะออกอีกครั้งรอชีวิตที่เบิกบานในช่วงต้นเดือน หลายคนอาจจะคิดว่า “ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เดี๋ยวก็หาเงินได้เรื่อย ๆ ” … นั่นก็ถูกแต่เดี๋ยวก่อน คุณคิดว่าชีวิตในแต่ละวันของคุณจะราบรื่น ไม่มีเรื่องฉุกเฉินให้ต้องใช้เงินด่วนเลยหรือ ถ้าวันนั้นมาถึงคุณจะทำอย่างไรในสภาวะที่คุณไม่มีเงินเก็บซักบาท
ผมเพิ่งอ่านกระทู้จาก https://pantip.com/topic/36983121 เลยอยากจะขอยกตัวอย่าง …
คร่าว ๆ เลยคือ มีน้องคนนึงเป็นนักศึกษาที่พึ่งจบใหม่ เดินหางานทำแล้วก็ได้เงินดีด้วยนะ ได้เดือนละ 18,000 บาทซึ่งถือว่าสูงมากเลยทีเดียวถ้าเทียบกับการเริ่มทำงานเป็นครั้งแรก เค้ามีความคิดที่ดีด้วยคือจะแบ่งเงิน 1 ใน 3 ส่วนของรายได้ทั้งหมดให้กับพ่อ แม่ ก็นับเป็นเงินประมาณ 6,000 บาท ซึ่งจัดว่าน้องคนนี้เป็นคนที่กตัญญูคนนึงเลยทีเดียว ดังนั้นน้องเค้าก็จะมีเงินเหลือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันประมาณ 12,000 บาท … แหม่! บางคนก็อาจจะคิดว่าเงินจำนวนนี้ก็เยอะอยู่นะ น่าจะมีเงินเก็บเหลือเยอะพอสมควร แต่ในความเป็นจริง ๆ น้องเค้าเล่าว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไม่ได้ถูกเอาซะเลย ค่าบีทีเอสไปกลับก็ร้อยกว่าบาทแล้ว ไหนจะค่าอาหารมื้อนึงราคาเหยียบร้อย ค่ากาแฟเย็น ค่าโน้น นี่ นั่น มากมายและที่สำคัญคือ พ่อ แม่ของเค้าชอบโทรมาขอเงินเพิ่มเติมโดยมักจะบอกว่าขอเงินเพิ่มไปจ่ายหนี้ เงินไม่พอใช้จ่ายในบ้าน และญาติมาขอยืมเงินบ้างหละ ในฐานะลูกจะไม่ช่วยก็กระไรอยู่ และนี้ก็เป็นเรื่องกลุ้มใจของน้องเค้ามากว่า “ ทำไมพ่อ แม่ของเขาถึงใช้เงินเยอะขนาดนั้นในเมื่อทางครอบครัวก็ไม่ต้องมีภาระต้องจ่ายอะไรมากมาย ลูก หลานก็หาเงินใช้เองได้หมดแล้ว ” และด้วยปัญหาหนักนี้เองทำให้น้องคนนี้จึงต้องทำงานอย่างหนัก หาเช้ากินค่ำ เครียด หงุดหงิด และพยายามหาทางออกให้กับปัญหานี้อยู่และเชื่อแน่เลยว่า มีอีกหลายคนในประเทศแห่งนี้ที่ประสบกับปัญหาดั่งเช่นเจ้าของกระทู้ข้างต้น
ปัญหาทั้งหมดนี้ดูจะเป็นปัญหาหนักอกของคนในครอบครัวที่เรื้อรังมายาวนานของสังคมไทย ถ้ามีใครเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ ที่กล่าวมาวิธีการช่วยทุเลาปัญหาให้ดูเล็กลงและพอจัดการได้คือ ควรพูดเปิดใจ ทำความเข้าใจกับพ่อ แม่ และญาติพี่น้องให้ชัดเจน หาเวลาว่างสักวันนั่งล้อมวงจับเข่าคุยกันเลยว่า “รายจ่ายของลูกในแต่ละวันมีอะไรบ้าง”
สมมติว่ามีเงินเดือนอยู่ 18,000 บาท บอกพ่อแม่ไปเลยว่าต้องจ่ายค่าหอพักเท่าไหร่ จ่ายค่าไฟ ค่าน้ำเป็นเงินกี่บาท ค่าเดินทางทั้งไปและกลับที่พักเป็นเงินเท่าไหร่ ค่าอาหารทั้ง 3 มื้อในแต่ละวันคิดรวมเป็นเงินเท่าไหร่ จ่ายเงินรายเดือนให้พ่อแม่เท่าไหร่บอกให้ชัดเจนตรงไหนลำบากมาก ๆ รีบบอกไปให้หมด บอกปัญหาที่ทางครอบครัวยืมเงินเยอะเกินไปก็จะทำให้เราไม่มีเงินพอใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันเช่นกัน เมื่อบอกรายละเอียดทุกอย่างครบถ้วนแล้วพ่อแม่ก็จะทราบว่า ลูกมีภาระหนักมากที่จะต้องใช้จ่ายเงิน ความเห็นใจจากพ่อแม่ก็จะทำให้ท่านไม่ขอยืมเงินเราเพิ่มเติมจากที่เคยให้เป็นประจำในแต่ละเดือน … นอกจากที่ฝ่ายลูกจะบ่นกับพ่อแม่แล้ว ก็ควรจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายพ่อแม่พูดบอกถึงเหตุจำเป็นที่ต้องใช้เงินด้วย ให้ท่านแจกแจงรายละเอียดมาเลย เป็นหนี้อยู่กี่บาท ต้องจ่ายเจ้าหนี้เดือนละเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายที่บ้านรวมเป็นเงินกี่บาท แยกออกมาเลยอะไรจำเป็นต้องจ่ายจริง ๆ และส่วนไหนที่ไม่จำเป็นเท่าไหร่ก็แยกกันออกไป
ในฐานะลูกเมื่อเห็นปัญหาและสาเหตุที่พ่อแม่ต้องขอเงินเพิ่มแล้วก็ลองนำมาประมวลดูว่า รายจ่ายไหนที่จำเป็นจริง ๆ ก็ให้ไปตามจำนวนนั้นโดยยึดหลักที่ว่า ตัดใจให้เท่าที่ทำให้เราไม่เดือดร้อนและพ่อแม่ก็พอมีจ่ายเงินที่จำเป็นด้วยหรือถ้าการให้เงินพ่อแม่เป็นรายสัปดาห์ก็น่าจะทำให้พ่อแม่บริหารการใช้จ่ายเงินได้ดีขึ้นมากกว่าที่จะให้เงินเป็นรายเดือน