ต้นปีปฏิทินแบบนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่คนที่ซื้อ LTF เอาไว้เพื่อลดหย่อนภาษี แล้วครบระยะเวลาตามกำหนด คือ 5 ปี (เปลี่ยนเป็น 7 ปีเมื่อปี 2560 แต่ยังไม่ถึงรอบ) ก็มักจะต้องตัดสินใจว่าควรขาย LTF ออกไปหรือไม่ แต่ตามสถิติแล้วคนส่วนใหญ่มักขาย LTF เมื่อครบกำหนดเวลา โดยไม่ได้สนใจว่าผลตอบแทนที่ได้จาก LTF ณ ขณะนั้นจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คิดว่าควรถือต่อหรือไม่ นั่นก็เป็นเพราะเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ซื้อ LTF ก็เพื่อลดหย่อนภาษีมากกว่าคิดจะลงทุน
บริษัทจัดการกองทุนรวมที่เราซื้อ LTF ด้วยก็มักแนะนำให้ขาย LTF ออกไปเมื่อครบกำหนดเวลา แต่อันนี้ก็ไม่อยากให้ไปเชื่อมากนัก เพราะบริษัทพวกนี้เขาก็ย่อมอยากให้นักลงทุนซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ อยู่แล้ว เขาจะได้ค่าธรรมเนียม ฟังคำแนะนำได้แต่ต้องคิดเองด้วย เพราะถ้าเผลอไปถามเข้าเมื่อไหร่ เขาก็มักแนะนำให้ขายทุกทีไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนก็มีเหตุผลร้อยแปดมาสนับสนุนอยู่ดี
ที่จริงแล้วกองทุน LTF ก็คือกองทุนหุ้นดี ๆ นี่เอง แต่มีความพิเศษตรงที่นักลงทุนสามารถนำเงินที่ซื้อในแต่ละปีไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไข ซึ่งข้อดีตรงนี้ทำให้มองว่าเราซื้อกองทุน LTF ได้ในต้นทุนที่ถูกกว่าการซื้อกองทุนหุ้นอื่นที่ไม่ใช่ LTF มูลค่าของกองทุน LTF ก็จะขึ้นลงไปตามภาวะตลาดหุ้นรวมไปถึงมูลค่าหุ้นแต่ละตัวที่กองทุนนั้นถืออยู่ ไม่ต่างอะไรจากกองทุนหุ้นอื่น ๆ เลย ดังนั้นการตัดสินใจซื้อกองทุน LTF แม้ลึก ๆ แล้วจะคือเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีก็ตาม เราก็ไม่ควรลืมว่านั่นคือการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่เราต้องคิดถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นหลักด้วย
กลับมาเข้าเรื่องว่าเมื่อ LTF ถึงกำหนดเราควรขายหรือถือต่อดี
ข้อแรกหากยังทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือนต่อ ปกติก็ต้องซื้อ LTF ก้อนใหม่ทุกปีเพื่อให้ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่เรามีเงินก้อนเงินเก็บเพื่อมาซื้อ LTF ก้อนใหม่ ความจำเป็นที่ต้องขาย LTF ที่ถึงกำหนดก็ไม่มี แต่หากเราไม่มีเงินก้อนเงินเก็บหรือปีนั้นมีค่าใช้จ่ายมาก ไม่มีเงินเหลือสำหรับซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษี อันนี้ก็อาจเป็นเหตุผลที่จะนำมาใช้เพื่อขาย LTF ที่ถึงกำหนดไป แล้วนำเงินที่ได้มาซื้อ LTF ก้อนใหม่เพื่อจะได้สิทธ์ลดหย่อนภาษีสำหรับปีนี้ เหตุผลนี้ยอมรับได้ ยิ่งถ้าอัตราภาษีที่ลดหย่อนได้นั้นสูงแค่ไหน การขาย LTF เพื่อนำเงินไปซื้อ LTF ใหม่ก็ดูเหมือนกับยิ่งจะคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เชื่อว่าแรงขาย LTF ทุกต้นปีเกิดจากสาเหตุนี้คือคนต้องการนำเงินที่ขายได้กลับไปซื้อ LTF ใหม่
แต่ถ้าเราไม่มีเป้าหมายว่าขาย LTF แล้วจะเอาเงินไปทำอะไรต่อ อันนี้ก็ต้องคิดกันหน่อย ถ้าคิดแต่ว่า LTF ถึงกำหนดแล้วก็ขายเอาเงินออกมา แล้วถึงเวลาเงินก้อนนั้นก็ถูกใช้หมดไปกับเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เช่น ดาวน์รถคันใหม่ หรือซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย แบบนี้ก็ไม่ไหว เพราะอย่าลืมว่านั่นคือเงินลงทุน ถ้าไม่ลงทุนต่อใช้ไปทุนที่เป็นเงินเก็บก็หมดไปอย่างน่าเสียดาย โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากเงินทุนก้อนนั้นก็ต้องสูญสลายไป หรือแม้แต่ว่าไม่ได้นำเงินไปใช้ฟุ่มเฟือย แต่เอาเงินไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ย ก็ต้องดูว่าคุ้มหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นมีแนวโน้มสดใส ดัชนีหุ้นยังน่าจะไปต่อได้ การเลือกถือ LTF ต่อไปทั้งที่ครบกำหนดแล้วก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะเขาบังคับแค่ไม่ถึงเวลาห้ามขาย แต่ถ้าถึงเวลาจะขายหรือไม่ขายก็ได้ ให้ไว้เป็นทางเลือก
แต่ตรงกันข้าม ถ้า LTF เราให้ผลตอบแทนพอสมควรตลอดช่วงเวลาที่ถือมา อยากขายทำกำไรจากกองทุน LTF ก็สามารถทำได้ เพราะการถือ LTF ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ขายเลย ก็ไม่ได้รับประกันว่ามูลค่าของ LTF จะไม่กลายเป็นติดลบ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการหาข้อมูล คิดวิเคราะห์ และตัดสินใจให้ดีแล้วค่อยขาย ไม่ใช่แค่เหตุผลว่า LTF ถึงกำหนดแล้วเลยขาย ถ้าผลตอบแทนกองทุน LTF ที่ผ่านมายังไม่น่าพอใจ การเลือกถือ LTF ต่อไปอีก 1-2 ปีเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเช่นกัน
อีกเหตุผลที่สนับสนุนความคิดในการขายกองทุน LTF ออกไปก็คือการบริหารพอร์ตลงทุนของแต่ละคน ถ้าเรามีเป้าหมายสัดส่วนการลงทุนที่เป็นหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ไม่เกิน 50% แต่พอซื้อ LTF เพิ่มทุกปี แถมพอร์ตเล่นหุ้นรายตัวอีก ทำให้สัดส่วนหุ้นนั้นเกิน 50% ไป การเลือกขายกองทุน LTF เมื่อครบกำหนดเพื่อลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงก็เป็นกลยุทธ์ที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้เราต้องมีคำตอบว่าเมื่อขายแล้วจะเอาเงินที่ได้ไปลงทุนอะไรต่อเพื่อไม่ให้เงินหมดไป เช่น ซื้อตราสารหนี้ ซื้อประกันชีวิต หรือฝากธนาคาร
เห็นไหมคะ มีเรื่องให้ต้องคิดไม่น้อยเลยว่าเมื่อกองทุน LTF ถึงกำหนดแล้ว เราควรขายหรือถือต่อ ดังนั้นอย่าใช้เหตุผลแค่เพียงว่าเพราะ LTF ถึงกำหนดแล้วขายได้ก็เลยขายมาเป็นคำตอบในการขาย LTF ของคุณเท่านั้นเลยค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง