ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เราคงจะพอจำฉากที่แม่หญิงการะเกด (เบลล่า ราณี) ถามขุนศรีวิศาลวาจา (โป๊บ ธนวรรธน์) ว่าวันๆ หนึ่ง ทำงานกันอย่างไร และไม่ไปทำงานหรือ ซึ่งจุดนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเกิดความสงสัยกันอยู่บ้าง และอาจลามไปถึงประเด็นที่ว่า ขุนนาง เจ้าพระยาในสมัยนั้น มีเงินเดือนหรือไม่ หรือไพร่ที่ทำงานให้กับมูลนาย ในเดือนๆ หนึ่ง เขาได้รับเงินกันบ้างหรือเปล่า วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องของเงินเดือน จำเป็นต้องกล่าวถึงอาชีพของผู้คนในยุคนั้นก่อน ผู้คนในสมัยอยุธยามีการแบ่งอำนาจออกเป็นหลายชั้น ประกอบด้วยกลุ่มขุนนาง ผู้ดีทั้งหลาย ไพร่ และทาส โดยกลุ่มขุนนางจะมีอาชีพทั่วไปเป็นข้าราชการในราชสำนัก ส่วนไพร่ มักมีอาชีพประกอบเรือกสวน ไร่นา และหาผลประโยชน์ให้มูลนายของตน ส่วนทาส มีหน้าที่คือรับใช้มูลนายในทุกกรณี ซึ่งในแต่ละชนชั้นจะมีระดับศักดินาแตกต่างกันไป หากเป็นขุนนาง จะมีที่นาได้มากสุด 10000 ไร่ ลดหลั่นลงมาตามลำดับชั้น ส่วนไพร่ จะมีที่นาได้ราว 25 ไร่ ทาส ไม่มีสิทธิครอบครองที่นาใดๆ เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนแต่ละชนชั้น ก็จะมีรายได้มากน้อยต่างกัน
ทีนี้ เข้ามาสู่เรื่องการรับเงินตอบแทน
ในสมัยอยุธยาไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆ จะไม่ได้รับเงินเดือนแบบเป็นระบบเหมือนอย่างสมัยนี้ แม้แต่พวกขุนนาง ข้าราชบริพารต่างๆ ก็ไม่ได้มีเงินเดือนให้เป็นระบบ มีเพียงเบี้ยหวัดรายปีให้เท่านั้น แล้วตอบแทนด้วยสิ่งของอื่นๆ เช่น บ้าน ที่ดิน ข้าทาสบริวาร ให้ขุนนางไปจัดสรรผลประโยชน์เอาเอง รายได้ที่ขุนนางจะมี จึงมาจากการจัดสรรผลประโยชน์จากไพร่ในบังคับของตัวเอง เช่น ถ้าหากไพร่สามารถขายผลหมากรากไม้ในสวนที่ขุนนางผู้นั้นถือครองอยู่ได้ รายได้ส่วนหนึ่งของไพร่ก็จะต้องถูกหักมาเข้ากระเป๋าขุนนาง นอกจากนี้ หากขุนนางคนใดที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ที่ในบางครั้งจะมีผู้นำของมีค่ามาตอบแทน ตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่เราจะเห็นว่ามีผู้นำของมีค่ามาส่งทุกวัน ขุนนางสามารถนำสิ่งของมีค่าเหล่านี้ไปขาย เพื่อให้ได้เงินมาเก็บไว้ด้วยก็ได้ เงินรายได้ของขุนนางสมัยอยุธยา จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นเงินเดือน แต่มีลักษณะเป็นรายได้ที่จะมาเป็นคราวๆ ตามแต่จังหวะที่ตนสามารถจัดการได้มากกว่า
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่า ถ้ารายได้ของขุนนางมีอยู่เท่านี้ จะเอาเงินไปชิ้น ใช้อยู่ อย่างไรจึงจะเพียงพอ ?
ข้อนี้คงต้องขอตอบว่า ขุนนางไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นปัจจัยซื้อหาอาหารการกิน ปัจจัย 4 เหมือนอย่างคนในยุคปัจจุบัน เพราะหน้าที่การหาอาหารและปัจจัย 4 เป็นหน้าที่ของไพร่ในบังคับของตนอยู่แล้ว ขุนนางมีหน้าที่เพียงรอรับประทานอาหารอย่างเดียว นอกจากนี้ สังคมในสมัยอยุธยาจะเน้นการทำเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นในที่ดินของขุนนางจะมีทรัพยากรอยู่แล้วอย่างเพียงพอ ไพร่ในบังคับของขุนนางนั้นสามารถนำทรัพยากรบนที่ดินมาใช้ดำรงชีวิตให้กับตนและขุนนางได้ เพราะฉะนั้นขุนนางจึงแทบไม่ต้องเอาเงินมาใช้เป็นปัจจัยช่วยในการดำรงชีวิตเลย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ขุนนางระดับสูงๆ ที่มีนาเยอะๆ มักมีฐานะร่ำรวย เพราะเงินรายได้มีมากกว่ารายจ่าย ถามว่ามากแค่ไหน ลองดูในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเอาก็ได้ จะเห็นว่าบ้านของพระเอกซึ่งเป็นขุนนางระดับสูง มีเงินเหลือเฟือขนาดที่สามารถซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ และซื้อตัวไพร่เพิ่มได้มากมาย
ส่วนบรรดาไพร่ หรือสามัญชนที่มีนาไม่มาก คนพวกนี้ก็จะไม่มีเงินเดือนเป็นงวดๆ เหมือนกัน แต่จะมีเงินรายได้จากการขายสินค้า ทรัพยากรที่อยู่ในที่นาของตน บางส่วนที่เข้าไปรับใช้มูลนาย ก็จะอาศัยอยู่กินกับมูลนาย บางครั้งมูลนายอาจให้เงิน หรือสิ่งของตอบแทนบ้าง ก็ถือว่ามีมาเป็นคราวๆ ไม่เหมือนกับคนสมัยนี้ ที่หากไปทำงานรับใช้เจ้านาย เช่น เป็นทหารเกณฑ์ หรือเป็นพนักงานบริษัท จะได้เงินเดือนตอบแทนทุกๆ เดือน โดยที่บุคคลผู้นั้นมีหน้าที่นำเงินไปแสวงหาความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตเอาเอง ไม่สามารถอาศัยอยู่กับมูลนายได้เหมือนสมัยก่อน อย่างไรก็ตาม มนุษย์เงินเดือนในยุคนี้ ก็ยังถือว่ามีความสะดวกสบายโดยรวมดีกว่าไพร่สมัยอยุธยา มีช่วงเวลาส่วนตัวเพื่อตัวเองบ้าง ไม่ต้องทำงานให้กับมูลนายเกือบจะตลอดเวลาเหมือนอย่างไพร่สมัยอยุธยา
ส่วนทาส ตำแหน่งนี้ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะมีหน้าที่รับใช้มูลนายไปตลอด จนกว่านายจะปล่อยให้เป็นไท หรือตัวเองจะตายไป เงินค่าตอบแทนก็เป็นเช่นเดียวกับไพร่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับนายที่ตนไปอยู่ด้วย นายบางคนที่ใจดี ก็อาจจะให้สิ่งตอบแทนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ มูลนายมักจะไม่ค่อยสนใจทาสเท่าไร การเป็นทาสจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากนัก โชคดีที่ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ประกาศยกเลิกทาส ทำให้ไม่มีใครต้องสูญเสียสิทธิเพราะความเป็นทาสอีก
กล่าวมาเสียยืดยาวจนถึงตรงนี้ เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอเห็นแล้ว ว่าการรับเดือนของคนทำงานในสมัยอยุธยา กับสมัยรัตนโกสินทร์มีความต่างกันอย่างไร และเชื่อว่าทุกๆ ท่าน น่าจะพอใจกับรูปแบบการรับเงินเดือนสมัยนี้มากกว่า เพราะอย่างน้อยมันก็มีความเป็นระบบ และเท่าเทียมกัน
ที่มา : เอกสารประกอบการเรียนเรื่องเศรษฐกิจ “บทที่ 3 สมัยอยุธยา” มหาวิทยาลัยรามคำแหง
https://sites.google.com/site/historyofayuttaya/6-rabb-rachkar-smay-krung-srixyuthya