การวางแผนเกษียณคืออะไร สำคัญกับคนทำงานอย่างพวกเรา อย่างไร
สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่ว ๆ ไป บริษัทจะจ้างเราไปจนถึงวันที่เราเกษียณอายุ โดยส่วนใหญ่บริษัทก็จะกำหนดอายุเกษียณไว้ประมาณ 60 ปี เว้นแต่เป็นอาชีพที่ขาดแคลน หาคนยาก ก็อาจจะเลื่อนอายุเกษียณเป็น 65-70 ปี ซึ่งหลังจากเราเกษียณอายุแล้ว เราก็จะไม่มีรายได้จากเงินเดือน หรือค่าจ้างอีกต่อไป ในทางกลับกัน ช่วงเวลาดังกล่าว สภาพร่างกายของคนเราก็ค่อย ๆ เสื่อมลง สายตาพร่ามัว ไม่มีเรี่ยวแรง ความจำเริ่มเสื่อมลง อีกทั้ง ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่ เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ และก็ยังมีค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมักจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกที่ไม่คาดคิดหรือไม่ได้วางแผนไว้ เช่น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็ต้องใช้เงินในการซ่อมแซมยานพาหนะ หากไม่ได้มีการวางแผนหรือเตรียมเงินไว้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จำเป็นก็คงจะต้องใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างยากลำบากแน่นอน ดังนั้น การวางแผนการเกษียณจึงมีความสำคัญอย่างมากในชีวิตเรา แล้วการวางแผนเกษียณ คืออะไรกันละ? การวางแผนการเกษียณ คือ การวางแผนเพื่อให้เราสามารถมีเงินเพียงพอเพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณนั้นเอง
แล้วการวางแผนเกษียณ ต้องทำยังไงละ?
ในการวางแผนเกษียณ หากเราต้องการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีหลายขั้นตอน ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน แต่ในเบื้องต้น จะขอแนะนำการวางแผนเกษียณอย่างง่าย เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจในหลักการและสามารถนำไปใช้วางแผนเกษียณในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง
ขั้นตอนการวางแผนเกษียณในเบื้องต้น
1.ประเมินรายได้ที่ต้องการ หรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือน ภายหลังจากที่ท่านเกษียณอายุแล้ว
2.คำนวณเงินที่ต้องเตรียมไว้ ณ วันที่เกษียณอายุ
3.ประเมินทรัพย์สินที่เป็นเงินสด หรือใกล้เคียงเงินสด ณ วันที่เกษียณอายุ
4.คำนวณจำนวนเงินที่ต้องเตรียมเพิ่มเติม ณ วันเกษียณอายุ
- คำนวณจำนวนเงินที่ต้องออมในแต่ละเดือน
6.ติดตามผล แล้วทบทวนให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้
ในตอนนี้ จะขอแนะนำการประเมินในขั้นตอนที่ 1 ก่อน สำหรับขั้นตอนที่ 2 ถึง 6 จะขอแนะนำใน การวางแผนเกษียณ ตอนสอง และตอนต่อ ๆ ไปนะคะ
+++ ขั้นตอนที่ 1 การประเมินรายได้ที่ต้องการ หรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือน หลังจากที่เกษียณอายุแล้ว +++
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณ ไม่ใช่ว่ารอให้เกษียณก่อนแล้วถึงค่อยมาวางแผน ในทางตรงกันข้าม ขณะนี้ที่พวกเรากำลังมีแรง กำลังในการทำงานอยู่นั้น เราต้องเริ่มคิด ต้องทำการประเมินแล้วว่า หลังจากที่เราเกษียณแล้วนั้น เราอยากได้เงินใช้เดือนละเท่าไหร่ เพื่อนำไปใช้จ่ายตามที่ต้องการ ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า การประเมินจากรายได้ วิธีนี้ ไม่ได้มีข้อจำกัดตายตัว แล้วแต่ตัวเราเอง แต่โดยส่วนใหญ่ในเบื้องต้นให้ประมาณไว้ก่อนว่าเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ เหมือนกับว่า เรายังมีรายได้เท่ากับตอนที่เรายังทำงานได้อยู่ ซึ่งวิธีนี้จะค่อนข้างง่ายกว่าการประเมินจากค่าใช้จ่าย เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายมีมากมาย หลายประเภท ทำให้เราอาจจะประเมินได้ไม่ครบถ้วน หรือลืมคิดถึงค่าใช้จ่ายบางอย่างไป แต่สำหรับคนที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่รู้ว่าอยากมีเงินใช้เดือนเท่าไหร่ จะประเมินยังไงกันละ สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะรู้ว่ามีค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาลฯลฯ จึงอาจใช้วิธีการประเมินจากค่าใช้จ่ายแทนก็ได้
ตัวอย่างการประเมินรายได้ที่ต้องการหลังเกษียณ
ตัวอย่างเช่น นายทองเอก อายุ 35 ปี ทำงานประจำ ได้รับเงินเดือน 30,000 บาท/เดือน ปรับเงินเดือนขึ้นปีละ 5% โดยต้องการเกษียณอายุ 55 ปี ฉะนั้นเงินเดือนเดือนสุดท้าย ณ วันก่อนเกษียณก็จะประมาณ 80,000 บาท (สามารถดูรายได้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุ ตามตารางด้านล่าง)
อายุ : ปี |
รายได้ต่อเดือน : บาท |
35 |
30,000 |
40 |
38,000 |
45 |
49,000 |
50 |
62,000 |
55 |
80,000 |
ตัวอย่างการประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
ตัวอย่างเช่น นายทองคำ อายุ 35 ปี ทำงานอิสระ รายได้ไม่แน่นอน แต่มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท โดยต้องการเกษียณอายุ 55 ปี โดยหากกำหนดให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปีละ 3% (ประมาณการเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ) ฉะนั้นค่าใช้จ่ายเดือนสุดท้าย ณ วันก่อนเกษียณก็จะประมาณ 54,000 บาท (สามารถดูค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุ ตามตารางด้านล่าง)
อายุ : ปี |
ค่าใช้จ่ายต่อเดือน : บาท |
35 |
30,000 |
40 |
35,000 |
45 |
40,000 |
50 |
47,000 |
55 |
54,000 |
หลังจากที่เราทราบแล้วว่า เราต้องการเงินใช้ในแต่ละเดือน หลังเกษียณอายุเท่าไหร่ ในตอนหน้า เราจะมาเรียนรู้ขั้นตอนการวางแผนต่อไป โดยจะเรียนรู้วิธีการคำนวณเงินที่ต้องเตรียมไว้ ณ วันที่เกษียณอายุ กันค่ะ