ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ขยายวงกว้างขึ้น รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ด้วยการสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และระงับการให้บริการของสถานบริการต่าง ๆ ที่จะมีประชาชนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า การงดจัดงานบันเทิง อบรมสัมมนา การแข่งขันกีฬา หรืองานแสดงสินค้า ทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และที่สำคัญส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วน ทำให้ธุรกิจเกิดหยุดชะงัก บางบริษัทต้องลดเงินเดือนพนักงาน ลดการจ้างงาน หรือปิดกิจการลง
กระทรวงการคลังในฐานะองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ตระหนัก รับทราบ และเข้าใจถึงความยากลำบากของประชาชนทุกภาคส่วน จึงได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน โดยยึดหลักการ “ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และชั่วคราวตามจำเป็น” เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 63 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกแถลงมาตรการดูแลและเยียวยาสำหรับดูแลกลุ่มแรงงาน-ลูกจ้าง 8 มาตรการ ดังนี้
มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ประกอบด้วย 8 มาตรการ
ให้เงินช่วยเหลือ “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม”
- ช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด และง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่น ๆ จำนวน 3 ล้านคน
- สนับสนุนเงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่ เม.ย. – มิ.ย. 63)
- ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม
- ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ
- ไม่รวมเกษตรกร เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการผ่านการลงทะเบียน
- โอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน
แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5000 บาท 3 เดือน
โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน
- เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน
- ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน
- ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท)
- วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท
- ดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน
- ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน
- ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน
- รับคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 63
โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม
- เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ
- ต้องมีหลักประกัน
- ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท
- วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท
- ดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน
- ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี
- รับคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 63
โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์
- เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัส COVID-19
- ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.)
- ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน
- ระยะเวลา 2 ปี
เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จึงเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 63 เป็นวันที่ 31 ส.ค. 63
เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
- จากเดิมจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท
- เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ขอยกเว้นภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข
เสริมความรู้ จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ
- เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือผู้ที่สนใจ รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้
- ขยายการฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
ในท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนต่างได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน ภาครัฐเองก็ได้พยายามดูแล และผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชน ดังนั้น พวกเราทุกคนจึงต้องร่วมมือ ฝ่าฟัน และแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน เพื่อให้วิกฤตนี้ เป็นเครื่องหมายของความรู้สึกดี ๆ ที่เราได้ช่วยกันอย่างแท้จริง