นอกจากมาตรการดูแลและเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) แล้ว เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ภาครัฐยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการพร้อมกันไปด้วย วันนี้ทีมงานจึงขอสรุป 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไว้ที่นี่ จะมีเรื่องใดบ้าง มาติดตามกันเลยค่ะ
1.โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย
- ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้สินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท
- ให้กู้วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท
- คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก
- ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
- รับคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 63
2. เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
- สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) ที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 63 – 30 ส.ค. 63 เป็นภายในวันที่ 31 ส.ค. 63
- รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) ที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 63 – 29 ก.ย. 63 เป็นภายในวันที่ 30 ก.ย. 63
3.เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี
สำหรับรายการทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้แก่
- ผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น จะได้รับสิทธิ์เลื่อนยื่นภาษีและชำระแบบภาษีจากกำหนดเดิมออกไปอีก 1 เดือน
- ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบอันมีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นรายกรณี
4. ขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน
จากเดิมต้องยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย. – เม.ย. 63)
5. ขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
- สถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการชั่วคราว ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ สถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด สนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ
- ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 ก.ค. 63
6. ยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (COVID-19)
ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 63
7. ยกเว้นภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
- สำหรับเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ลีสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อ
- จะได้รับการยกเว้นภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
จากมาตรการดูแล และเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนานี้ ถือเป็นมาตรการระยะที่ 2 ที่ภาครัฐได้ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งหากในอนาคตมีมาตรการช่วยเหลือใดเพิ่มเติม ทางทีมงาน Money Hub จะมาอัปเดตให้ทราบกันนะคะ