จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามข้อมูลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ มีสถิติที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น 50% ของคนไทยอายุ 30 ปี มีหนี้ และส่วนมากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต 16% ของคนไทยมีหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (ค้างชำระเกิน 90 วัน) และปริมาณหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว
ความจำเป็นหรือค่านิยมทางสังคม
ทำไมคนถึงเป็นหนี้กัน เรื่องนี้บทความหนึ่งในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า สาเหตุสำคัญมาจากรายจ่ายไม่จำเป็น และการขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่ทำให้การซื้อของออนไลน์สะดวกขึ้นและ Social Media ที่กระตุ้นความต้องการและทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับผู้อื่น บทความเดียวกันนี้สรุปว่าการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออมเงินจะช่วยให้การเงินของครัวเรือนไทยดีขึ้น
เป็นหนี้ไม่ดีจริงหรือ
ในโลกนี้สามารถแบ่งหนี้ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หนี้ดี และหนี้ไม่ดี คุณชัยวัฒน์ พัฒนไพบูลย์ นักวางแผนการเงินจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทยได้สรุปไว้ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าหนี้ดี คือ หนี้ที่ยืมมาแล้วเราได้เงินคืนภายหลัง (ดอกเบี้ยที่ต้องเสียไปต่ำกว่าผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุน) เช่น ยืมมาทำธุรกิจ หรือหนี้ที่มีความจำเป็นและพอเพียงเพื่อการดำเนินชีวิต เช่น ซื้อบ้านขนาดเหมาะสมเพื่ออยู่อาศัย และมีภาระการใช้หนี้ในแต่ละงวดไม่เกินกำลังของเรา ส่วนหนี้ไม่ดี คือ หนี้ที่ในท้ายที่สุดแล้วเราต้องเสียเงินมากกว่าจำนวนที่เรายืมมา เป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นและเกินตัว
ไม่เป็นหนี้ถ้าไม่จำเป็น
ถึงแม้ว่าจะเป็นหนี้ดี หรือเรามั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็ไม่ควรประมาทและควรเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไว้เสมอ เช่น เกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้เราไม่สามารถชำระเงินงวดหนึ่ง หรือก้อนที่เหลือได้
ก่อนจะยืมเงิน สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ เราต้องการเงินก้อนนี้จริงหรือไม่ เราจะจ่ายหนี้ก้อนนี้คืนอย่างไร (เท่าไหร่ เมื่อไหร่ บ่อยเพียงใด) สุดท้ายแล้วเราต้องเสียเงินเท่าไหร่เมื่อรวมดอกเบี้ยต่างๆ แล้ว ผลที่ตามมาของการจ่ายหนี้ล่าช้า จ่ายไม่ครบ หรือจ่ายคืนก่อนกำหนดคืออะไร และควรพิจารณาทางเลือกอื่นที่เรามีนอกจากการกู้ยืมครั้งนี้ เช่น ออมเงินเอง หรือยืมเงินจากคนในครอบครัว
เครดิตการ์ด ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง กับภาระดอกเบี้ยที่อาจตามมา
เครดิตการ์ดมีข้อดีคือสมัครง่าย ใช้งานสะดวก นำไปใช้ต่างประเทศได้ ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดติดตัวมาก อีกทั้งยังนำคะแนนสะสมไปแลกรางวัลได้ด้วย การใช้งานบัตรเครดิตอย่างมีวินัยจึงได้ประโยชน์ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สมัครง่ายใช้ง่าย เราก็เป็นหนี้ได้ง่ายด้วยเช่นกัน หากเราไม่ชำระเงินเต็มจำนวน แต่เลือกชำระเพียงขั้นต่ำ เราจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงถึง 15-20% ต่อปี และดอกเบี้ยนี้คิดตั้งแต่วันที่เรารูดบัตรชำระเงิน ไม่ใช่วันเรียกเก็บเงินหรือครบกำหนดชำระ
เจรจาปัญหาหนี้
ปัญหาหนี้สินยังคงเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการการแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการสร้างวินัยทางการเงินและความรู้ด้านการเงิน แต่หากเป็นหนี้แล้วก็ต้องชำระคืน หากมีปัญหาในการชำระหนี้ให้ลองเจรจาประนอมหนี้ภายใน 30 วันหลังจากครบกำหนดชำระ หากเจรจาแล้วไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ หรือไม่สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้ ให้ติดต่อผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยที่นี่
- ที่มาข้อมูลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย: https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/Report/Pages/AnnualReport2018_box04.aspx
- ที่มาปัญหาการเงินของครัวเรือนไทย: https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_30Oct2019.aspx
- ที่มาหลักเกณฑ์การแยกหนี้ดี-หนี้ไม่ดี: https://www.set.or.th/set/financialplanning/knowledgedetail.do?contentId=3000
เขียนโดย มานี ปิติ