เวลาคุยกับคนอื่นเรื่องการลงทุน เราอาจได้ยินตัวเลขบางตัวซ้ำไปซ้ำมา ในบทความนี้เราจะไปทำความรู้จักกับตัวเลขและวิธีคิดเกี่ยวกับการลงทุน 5 แบบที่มีคนใช้หรือพูดถึงกันมากที่สุด
72 พลังของดอกเบี้ยทบต้น
ตัวเลขที่ใช้คาดการณ์ว่าเราต้องใช้เวลาหรืออัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ จึงจะทำให้เงินลงทุนตั้งต้นเติบโตเป็น 2 เท่า มักใช้แสดงให้เห็นถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้น สมการคือ 72 ÷ อัตราดอกเบี้ยต่อปี = จำนวนปีที่เงินต้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เช่น ถ้าอัตราผลตอบแทนเป็น 6% ต่อปี เราน่าจะต้องใช้เวลา 72 ÷ 6 = 12 ปีเพื่อให้เงินงอกเงยขึ้นเป็น 2 เท่า ในทางกลับกัน วิธีคำนวณนี้ยังใช้เพื่อคำนวณว่าเงินเฟ้อจะทำให้มูลค่าของเงินลดลงครึ่งหนึ่งในกี่ปี เช่น ถ้าเงินเฟ้อ 2.50% มูลค่าของเงินจะลดลงครึ่งหนึ่งในเวลาประมาณ 72 ÷ 2.5 = 28.8 ปี
4 เปอร์เซ็นต์ งบใช้เงินหลังเกษียณ
นักวางแผนทางการเงิน William Bengen ได้เขียนบทความในปี 1994 ตอบคำถามว่าเกษียณแล้วควรใช้เงินเท่าไหร่เงินถึงจะไม่หมดก่อน เขาได้ศึกษาข้อมูลในอดีตและพบว่าถ้าเราใช้เงินเกษียณปีละ 4% และนำ 50-75% ของเงินเกษียณทั้งหมดไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นแบบที่ค่าบริหารกองทุนไม่มากนัก เราน่าจะอยู่ได้อย่างน้อย 30 ปี เช่น ถ้าเรามีเงินเตรียมไว้ใช้ตอนเกษียณ 10 ล้านบาท ในปีแรกเราสามารถถอนออกไปใช้ได้ 400,000 บาท ในต้นปีที่ 2 ให้ปรับเงินที่นำออกมาใช้ได้ตามอัตราเงินเฟ้อ/เงินฝืด เช่น ถ้าเงินเฟ้อ 2% เราสามารถใช้ได้ 400,000 x 1.02 = 408,000 บาท
กลยุทธ์ 90/10 ลงทุนระยะยาว
นักลงทุนระยะยาว Warren Buffett เขียนแนะนำในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นประจำปี 2013 ว่า การลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนดีในระยะยาวคือลงทุน 10% ในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และ 90% ในกองทุนหุ้นดัชนี S&P500 เช่น ของ Vanguard ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่ำมาก ข้อมูลในอดีตยืนยันว่าการลงทุนแบบนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีระยะเวลาการลงทุนมากกว่า 30 ปี (ให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในหุ้น 50% หรือ 60%) อย่างไรก็ดี นักวางแผนทางการเงินไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นมากขนาดนี้หากอายุใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วเพราะการลดลงของมูลค่าหุ้นจะทำให้เราไม่สามารถมีความสุขกับชีวิตหลังเกษียณได้
100 ลบอายุ คือสัดส่วนของเงินลงทุนที่อยู่ในหุ้น
โดยทั่วไปแล้ว การลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงกว่า ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเมื่ออายุมากขึ้น วิธีคิดแบบเร็วๆ ว่าเราควรมีหุ้นอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ คือ 100 – อายุ = สัดส่วนของหุ้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนอายุยืนขึ้น ทำให้นักวางแผนทางการเงินหลายคนเริ่มแนะนำให้ใช้เลข 110 หรือ 120 ลบอายุแทน เพื่อให้เรามีเงินพอใช้จนกว่าจะจากโลกนี้ไป
1 เปอร์เซ็นต์ คำนวณก่อนลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า
หลักเกณฑ์นี้ใช้คำนวณคร่าวๆ ว่าเงินที่ได้จากการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เราลงทุนไว้จะมากกว่าหรืออย่างน้อยก็เท่ากับเงินที่เราต้องผ่อนธนาคารในแต่ละเดือน วิธีคำนวณคือ นำมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์และค่าซ่อมแซมที่จำเป็น x 0.01 = ค่าเช่าต่อเดือนแบบยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยอื่น เราสามารถนำค่านี้ไปเปรียบเทียบกับเงินที่ต้องผ่อนธนาคารเพื่อให้เข้าใจกระแสเงินสดในแต่ละเดือน เช่น ถ้าอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าของเรามีมูลค่า 2,000,000 บาท ค่าเช่ารายเดือนคิดเป็น 2,000,000 x 0.01 = 20,000 บาท เราควรกู้เงินที่จะต้องจ่ายคืนธนาคารเดือนละไม่เกิน 20,000 บาทเพื่อให้กระแสเงินสดของเราไม่ติดลบ
ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงวิธีคิดคร่าวๆ เพื่อความรวดเร็วเท่านั้น ในการลงทุนจริงยังมีปัจจัยอื่นประกอบการพิจารณาอีก
อ้างอิง
-
หนังสือ How to speak money เขียนโดย John Lanchester
-
https://www.forbes.com/advisor/retirement/four-percent-rule-retirement/
-
https://money.cnn.com/2018/02/21/retirement/warren-buffett-investing-strategy/index.html
-
https://twocents.lifehacker.com/10-good-financial-rules-of-thumb-1668183707
-
https://money.cnn.com/retirement/guide/investing_basics.moneymag/index7.htm
-
https://www.investopedia.com/terms/o/one-percent-rule.asp#:~:text=The%20one%20percent%20rule%2C%20sometimes,that%20property’s%20monthly%20mortgage%20payment.&text=This%20rent%20level%20can%20apply,and%20commercial%20real%20estate%20properties
เขียนโดย มานี ปิติ