รายได้ เมื่อมีเข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ เราก็ควรที่จะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วรายได้ที่เข้ามานั้นอาจจะถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง เมื่อเราได้รับเงินเดือน หรือถ้ายังเป็นนักเรียนนักศึกษา เมื่อได้รับเงินค่าขนมนั้น เรามีวิธีการบริหาร รายจ่าย อย่างไร?
บางคนบอกว่า ก็ใช้ไปเรื่อยๆหมดก็ขอใหม่ หรือถ้าหมดก็รูด บัตรเครดิต เอาแล้วก็ค่อยหาเงินไปใช้คืน หมุนวนอยู่แบบนี้ วันนี้เราจึงนำวิธีบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่มีอยู่ อย่างง่ายๆภายในระยะเวลา 1 เดือน จะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย
อันดับแรกเลยก็คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ว่าเรามีเงินเข้ามาเท่าไหร่ ต่อมาคือเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในแต่ละเดือน เช่น ค่าข้าว ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์รายเดือน ค่าของใช้อุปโภคบริโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก ถ้าเป็นสุภาพสตรีอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยเข้ามา เช่น ค่าเครื่องสำอาง ค่าเสื้อผ้ารองเท้าต่างๆ ที่สำคัญคือแต่ละเดือนเราได้ออมเงินหรือไม่ แล้วออมได้เดือนละเท่าไหร่ ?
เมื่อมองภาพรวมคร่าวๆแล้ว ก็เริ่มลงมือวางแผนจัดการกับรายจ่ายของเราใน 1 เดือนกันเลย ยกตัวอย่างว่า เดือนนี้ มีรายได้ 20,000 บาท อย่างแรกเลยคือกันเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินฝากก่อน และที่สำคัญคือ ควรจะเป็นบัญชีแบบฝากประจำ เพื่อเป็นการออมแบบจริงจังชนิดที่ว่าถอนไม่ได้(เงื่อนไขเป็นไปตามที่ทางธนาคารกำหนด) ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อเซฟตัวเองในระดับหนึ่ง เพราะถ้านำเงินไปฝากในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา เราอาจนำเงินออมออกมาใช้ แล้วเมื่อไหร่จะมีเงินเก็บเป็นก้อนซะทีล่ะ การฝากประจำจึงเป็นการสร้างวินัยให้ตนเอง ซึ่งหลังจากกันเงินส่วนนี้ออกไปแล้ว ค่อยมาคิดต่อว่าจะบริหารจัดการเงินที่เหลืออย่างไร
วิธีบริหารเงินมี 2 แบบด้วยกันคือ การตั้งงบประมาณป็นรายเดือน กันเงินไว้เป็นส่วนๆตามความเหมาะสม เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งเดือน โดยแบ่งรายจ่ายออกเป็นส่วนๆ เช่น ค่าน้ำมันรถเดือนละ 4,000 บาท ถ้าต้องการประหยัดเงินส่วนนี้แนะนำให้ใช้บริการรถสาธารณะ ค่าที่พักเดือนละ 3,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟ 1,000 บาท ค่าอุปโภคบริโภค ของใช้ต่างๆ 1,000 บาท ค่าโทรศัพท์มือถือ 300 บาท ค่าสังสรรค์ 1000 ก็จะได้เท่ากับ 4000+3000+1000+1000+1,000+300 = 10,300 บาท หักจาก 18,000 แล้วจะเหลือเงิน 7,700 บาท เป็นค่ากิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ นี่เป็นตัวอย่างแรกในการบริหารเงินที่คุณมีอยู่ในมือ คุณอาจจะนำวิธีนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับรายรับรายจ่ายของคุณเองตามความเหมาะสม
นอกจากวิธีการกันเงินออมไว้แล้วค่อยแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็นส่วนๆแล้ว บางทีเราอาจพบว่าไม่สามารถควบคุมรายจ่ายให้อยู่ภายในงบประมาณที่เราตั้งไว้ได้ จึงมีอีกวิธีหนึ่งมาแนะนำ คือ การตั้งงบประมาณเป็นรายสัปดาห์ โดยขั้นแรกให้หักเงินออมไว้ก่อน เหมือนวิธีแรก แล้วจึงนำเงินส่วนที่เหลือมาเฉลี่ยออกเป็นรายวัน แล้วควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินงบต่อวัน ซึ่งถ้าเราทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายไปด้วย จะยิ่งช่วยให้เรามองเห็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แล้วสามารถตัดรายจ่ายนั้นออกไปได้ จนอาจเหลือเงินออมเพิ่มขึ้น
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างในการบริหารจัดการรายจ่ายอย่างง่ายๆ และสามารถนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมได้เลย ทั้งสองวิธีต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน
ข้อดีของวิธีแรกคือ ได้แบ่งรายจ่ายนั้นออกเป็นส่วนๆอย่างชัดเจน แต่ ข้อเสียคือ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีรายจ่ายฉุกเฉินที่ทำให้เราต้องใช้เกินงบที่ตั้งไว้หรือไม่
ข้อดีของวิธีที่สองคือ เรามีอิสระในการใช้จ่ายมากกว่าวิธีแรก เพราะเราตั้งงบไว้เป็นส่วนย่อยๆ รายจ่ายแต่ละส่วนจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ข้อเสียคือ เราอาจจะไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายบางส่วนได้และทำให้เราเผลอใช้เกินงบได้ง่าย วิธีแก้ไขคือ ถ้าเราใช้เกินงบวันแรกไป จำนวน 100 บาท นั่นแสดงว่าเราเอาเงินของวันต่อไปมาใช้ ฉะนั้นในวันถัดมา จึงต้องลดรายจ่ายลง 100 บาทเพื่อทดแทนในส่วนที่ใช้เกินไปในวันแรก
หวังว่าแนวทางที่เรานำมาแนะนำกันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ และทำให้เรารู้จักประมาณการใช้จ่ายของตนเองบ้างถ้าเราไม่รู้จักประมาณการใช้จ่ายของตนเอง นอกจากจะไม่มีเงินเก็บแล้ว ยังจะทำให้เราเป็นหนี้ได้ง่าย เพราะความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราเปลี่ยนนิสัยใช้เงินให้เป็นออมเงินแทน จะสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคตได้