มนุษย์ในยุคปัจจุบัน มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากอดีต เรียกได้ว่า จากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะโลกยุคใหม่ เทคโนโลยี แห่งการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตของเรามากขึ้นแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เราตื่นนอนจนถึงเข้านอนของทุกวัน ในยุควิกฤตโควิด-19 ยิ่งสะท้อนให้เห็นภาพรวมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการช้อปปิ้งออนไลน์ เราจะเห็นได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน ผลกระทบที่ตามมา คือ ปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม การ ช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ขาดวินัยทางการเงิน ส่งผลให้เกิดหนี้ตามมานั่นเอง
เรามีเคล็ดลับทางการเงิน นอกจากจะช่วยเรื่องลดการใช้จ่ายเงินแล้ว ยังช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินที่ได้ผลจริง และป้องกันการเกิดหนี้สะสม เพื่อช่วยให้คนยุคใหม่แห่งการจับจ่ายยุคอินเทอร์เน็ต ควบคุมและปรับพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์
เช็คด่วน! คุณมีพฤติกรรมความเสี่ยงจากการช้อปปิ้งออนไลน์หรือไม่?
ในปัจจุบันจากภาวะความเครียดทางเศรษฐกิจของภาวะวิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและสภาพจิตใจของคนโดยตรง เพราะเกิดเป็นความเครียดสะสม จากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การตกงาน ว่างงาน ลดเงินเดือน ไม่มีรายได้ ส่งผลต่อชีวิตและการเงิน ทำให้คนทำงานต้องอยู่บ้านมากขึ้น มีเวลาว่างมากขึ้นในการอยู่กับช่องทางทางสื่อออนไลน์หรือ Social Media ทำให้เกิดแรงจูงใจความตื่นตาตื่นใจกับสิ่งล่อตาล่อใจ ในการช้อปปิ้งออนไลน์บนโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อเกิดความเครียด ก็หาทางออกด้วยการซื้อของทางออนไลน์ ที่สะดวกรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการ ขาดความยับยั้งชั่งใจ นำไปสู่พฤติกรรมทางการเงินที่ขาดวินัย เช่น ใช้บัตรเครดิต ใช้เงินเกินตัว จนเป็นหนี้จากการกู้ยืมเงินตามมา
ดังนั้น ลองเช็คตัวเองด่วนว่า คุณตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ลองเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเริ่มจากการหากิจกรรมอื่น ๆ มาทดแทนการช้อปปิ้งออนไลน์ เช่น การเดินออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ อยู่กับธรรมชาติ เพื่อการปรับสมดุลให้ร่างกายและจิตใจให้มีความผ่อนคลาย คุณจะมีสมาธิ และเริ่มทบทวนในพฤติกรรมที่เกิดขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถประหยัดเงิน และมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น
กำหนดเป้าหมายทางการเงิน ลดพฤติกรรมใช้เงินเกินตัว ไม่ก่อหนี้
เริ่มวางแผนการใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือน เพื่อช่วยลดพฤติกรรมการ ช้อปปิ้งออนไลน์เกินจำเป็น ด้วยการเริ่มมองหาเป้าหมายให้ตัวเองสามารถมีเงินเหลือเก็บในอนาคตมากขึ้น ไม่ก่อหนี้ให้เกิดขึ้นในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทั้งการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ อาหารการกิน ของใช้ในชีวิตประจำวัน ลดพฤติกรรมใช้จ่ายเงินในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น การแต่งตัว เสื้อผ้า แต่งหน้า ทำผม หรือสิ่งของที่ฟุ่มเฟือย เป็นต้น
เริ่มต้นจริงจังกับการเก็บเงินจากรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน แบ่งเก็บ แบ่งใช้ จากรายได้ในแต่ละเดือน ลดกิจกรรมที่ต้องใช้เงิน หรือการช้อปปิ้งออนไลน์ ช่วงเริ่มต้นอาจมีการกำหนดโดยชัดเจน เริ่มจากเคยซื้อของออนไลน์ในทุก ๆ เดือนก็เปลี่ยนเป็น 3 เดือน ต่อครั้ง และจำกัดวงเงินไม่เกินรายได้ที่ได้รับหรือจำนวนเท่าไหร่หลังจากเงินที่เหลือเก็บ แล้วเท่านั้น เมื่อสร้างพฤติกรรมในการเก็บออมเงินได้ ก็ค่อย ๆ ปรับขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีเงินเก็บมากขึ้น คุณจะใช้จ่ายลดลง และมีสติมากขึ้นในการใช้เงินออกจากกระเป๋าทุกครั้ง เพราะคุณจะเห็นเงินเก็บในบัญชีที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
พฤติกรรมเปลี่ยน การเงินคล่องตัว โอกาสแบบก้าวกระโดด ใช้เงินทำงานแทน
เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ เริ่มสังเกตการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมและการเงินทีดีขึ้น ว่าคุณไม่ติดการช้อปปิ้งออนไลน์แล้ว มีเงินเก็บ ไม่มีหนี้เกิดขึ้นอีกหลังจากการปรับพฤติกรรมมาระยะเวลาหนึ่งตามกำหนด เช่น 3 เดือน , 6 เดือน หรือ 12 เดือน แล้วผลลัพธ์ที่ได้กลับมาอย่างคุ้มค่า คือ มีเงินเก็บที่มากขึ้น ไม่มีหนี้จากบัตรเครดิต หรือเงินกู้เกิดขึ้นแล้ว
ก้าวต่อไป คือ การวางแผนในการเก็บเงินแบบก้าวกระโดด ซึ่งมีหลายวิธีที่คุณสามารถเลือกได้ตามความพอใจและเหมาะสม ซึ่งใช้การเรียนรู้และหาข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ เพื่อสร้างความพร้อมและสอดคล้องกับผลตอบแทนที่จะได้รับ เช่น การฝากเงินประจำเพื่อรับดอกเบี้ยจากธนาคารที่มีผลตอบแทนที่แตกต่างกันตามระยะเวลา ซึ่งวิธีนี้จะมี ความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนที่ได้อาจไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับความพอใจในการตัดสินใจ
สำหรับวิธีการลงทุน เป็นวิธีแบบก้าวกระโดดที่ได้รับผลตอบแทนสูง ระยะเวลาเร็วขึ้น แต่การลงทุนมีความเสี่ยง ได้แก่ หุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ หรือกองทุน รวมต่าง ๆ การลงทุนนั้นมีผลตอบแทนสูงกว่าการออมเงินปกติ แต่ความเสี่ยงสูงกว่า ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมา ต้องเรียนรู้และเข้าใจในการลงทุนอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น