มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ เลือกวิธีการเปลี่ยนงานจากที่เก่าไปที่ใหม่ เพื่อได้รับเงินเดือนที่ดีกว่า แม้จะต้องแลกมากับภาระงานที่หนักขึ้น อย่างไรก็ตามการย้ายงานแล้วได้รับเงินเดือนมากกว่าเดิม อาจเป็นเหตุการณ์ที่จะไม่เกิดขึ้นตลอดไป หากเราทำงานไปสักพักใหญ่ จนถึงวัยกลางคนแล้วนั่นเอง
โดยสาเหตุที่มนุษย์เงินเดือนวัยกลางคนจำนวนมาก สามารถอัพเกรดเงินเดือนจากการย้ายงานได้น้อยลงนั้น ก็มาจากอัตราเงินเดือนที่อยู่ในระดับสูงมากแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการจ้างงานมากขึ้น ต่างจากการรับพนักงานกลุ่ม First Jobber ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มทำงานได้ไม่กี่ปี จึงทำให้มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยไม่สูงนัก
อย่างไรก็ตามในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้ อาจทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องลดภาระในการจ้างพนักงาน จึงทำให้มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง หรือรุ่นเก๋าทั้งหลาย ต่างมีแนวโน้มสูงที่จะกลายเป็นคนตกงาน หรือแม้กระทั่งต้องชิงลาออกก่อนที่บริษัทจะถูกปิดตัว ซึ่งส่งผลให้คนกลุ่มนี้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ และนำไปสู่ภาวะสับสนเมื่อต้องหางานใหม่ เพราะนอกจากจะมีแนวโน้มไม่ได้รับเงินเดือนตามที่เสนอไปแล้ว ยังเป็นไปได้ที่จะได้รับเงินเดือนในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยได้อีกด้วย!
แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี และถ้าไม่เลือกงานก็ไม่ยากจน แต่มันจำเป็นเสมอไปหรือไม่ที่เราจะต้องยอมลดเงินเดือนตัวเองเพื่อให้ได้งานและได้เงิน? ลองมาดูแนวทางไม่กี่ข้อต่อไปนี้ เพื่อเป็นหลักในการตัดสินใจกันดีกว่า
น้อยที่สุดที่รับได้ ไม่เท่ากัน
หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจว่า ควรรับงานที่ให้เงินเดือนในจำนวนนั้นๆ หรือไม่ สามารถเริ่มได้จากการนำบัญชีรายรับ – รายจ่ายในแต่ละเดือนมาพิจารณา ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายประจำอะไรบ้าง และคิดเป็นจำนวนเงินเท่าไร จากนั้นก็ลองดูว่าจำนวนรายรับที่คาดว่าจะได้จากการทำงานประจำนั้นๆ เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนหรือไม่ รวมทั้งเรายังสามารถออมเงินได้อย่างน้อย 10% ของเงินเดือนจำนวนดังกล่าวได้หรือเปล่า นอกจากนี้ก็สามารถพิจารณาให้ครอบคลุมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทเสนอให้ ว่ามีอะไรบ้างและช่วยแบ่งเบาภาระเราได้มากน้อยแค่ไหน
ต่อรอง เพื่อให้ทุกฝ่ายรับได้
แน่นอนว่าในช่วงที่โรคไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง หลายบริษัทเสนอให้พนักงานทำงานที่บ้าน เท่ากับว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงไปได้ด้วย ดังนั้นเราสามารถใช้หลักการดังกล่าว มาเป็นแนวทางเพื่อพิจารณาอัตราเงินเดือนที่ถูกเสนอได้เช่น จำนวนเวลาในการทำงานที่มากขึ้นหรือลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหากเราได้รับการเสนอเงินเดือนต่ำกว่าที่ตั้งไว้ ก็อาจต่อรองชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง เพื่อที่ตัวเองจะได้มีโอกาสในการมองหาทางเลือกในการสร้างรายได้อื่นๆ นั่นเอง