ในช่วงวิกฤตโควิด – 19 ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างทั้งหลายต่างได้รับผลกระทบ รวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้หลายคนมองหาตัวเลือกในการทำงานใหม่ ๆ และเลือกที่จะเปลี่ยนงาน เพื่อให้เหมาะกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า ถ้าหากเราเป็นผู้ประกันตนในกลุ่มประกันสังคม เราสามารถใช้สิทธิขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากการลาออกได้ด้วย
ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่า หากลาออกแล้วจะใช้สิทธิขอเงินชดเชยต้องทำยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง และ จะได้เงินชดเชยประกันสังคมเท่าไร วันนี้เรามาไขข้อสงสัยให้ทุกท่านกันค่ะ
เงื่อนไขในการ รับสิทธิเงินชดเชยประกันสังคมกรณีว่างงานจากการลาออก
สิ่งที่ต้องทราบข้อแรกคือ เงื่อนไขการรับเงินชดเชย โดยผู้ที่จะสามารถขอรับสิทธิรับเงินชดเชยประกันสังคมในช่วงว่างงานได้ ต้องมีการส่งเงินประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนลาออก หากใครเพิ่งเข้าประกันสังคมต่ำกว่า 6 เดือนจะยังไม่ได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้
กรณีว่างงานจากการลาออกจะได้เงินชดเชยประกันสังคมเท่าไร ?
คำถามต่อมาคือแล้วกรณีว่างงานจากการลาออกจะได้เงินชดเชยประกันสังคมเท่าไร คำตอบคือ ในกรณีลาออกจากงานโดยสมัครใจ ไม่ได้ถูกไล่ออก เลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญา จะได้รับเงินทดแทนว่างงาน ไม่เกินปีละ 3 เดือน (90 วันตามปีปฏิทิน) ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย
ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 30,000 บาท รับเงินทดแทน เดือนละ 9,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
กรณีว่างงานจากการลาออกยังได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง ?
หลังจากลาออก เรายังสามารถใช้สิทธิสวัสดิการจากประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องจ่ายเงินประกันสังคมภายในระยะเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ค่าทันตกรรม เป็นต้น
เช็กขั้นตอน รับสิทธิเงินชดเชยประกันสังคมกรณีว่างงานจากการลาออก
หากเราว่างงานจากการลาออกและอยู่ในช่วงที่ไม่มีรายได้ เราต้องไปรายงานตัวผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อขอรับเงินชดเชย โดยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้
- ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน
หลังจากลาออก สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือต้องไปขึ้นทะเบียนว่างงานบนเว็บไซต์ของกรมจัดหางาน https://empui.doe.go.th/auth/index โดยต้องแจ้งภายใน 30 วันหลังจากการลาออกมีผล หากเกินระยะเวลาจะไม่สามารถใช้สิทธิได้
- ลงทะเบียนเข้าใช้งาน โดยทำตามขั้นตอน 3 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการรับสิทธิให้ชัดเจน
2.2 กรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักและข้อมูลส่วนตัวให้เรียบร้อย
2.3 หากสำเร็จแล้วจะได้รับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน ซึ่งสามารถพิมพ์ออกมาได้
- รวบรวมเอกสารเพื่อนำไปยื่นสำนักงานประกันสังคม
หลังจากเราขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานเรียบร้อยแล้ว มีเอกสารที่เราต้องเตรียมเพื่อนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคม ดังนี้
3.1 ใบนัดรายงานตัว
3.2 ใบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
3.3 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3.4 รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป (รูปถ่ายต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน)
3.5 สำเนาสมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ที่มีชื่อตรงกับผู้ประกันตน
- รายงานตัวกับสำนักงานจัดหางาน
หลังจากที่ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนเรียบร้อยแล้ว เราจะต้องรายงานตัวอย่างทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อยืนยันสถานะว่างงาน ผ่านทางเว็บไซต์สำนักจัดหางาน โดยเงินชดเชยจะโอนเข้าบัญชีที่ทำการยื่นเรื่อง ภายใน 7 – 14 วันทำการ นับจากวันที่อนุมัติและรายงานตัวในแต่ละครั้ง