ในช่วงหลังมานี้เราจะได้เห็นกระทู้ในเว็บบอร์ดสาธารณะต่างๆที่มักจะมีทั้งคนหนุ่มสาว นักศึกษาไปจนถึงวัยทำงานเข้ามาถามถึงการวางแผนทางการเงินกันเสมอ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีคนให้ความสนใจกับการวางแผนเพื่ออนาคต โดยคำถามส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการลงทุน จะทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยขึ้นได้อย่างไร
แนะนำวิธีง่ายๆ อย่างมีขั้นตอน
คำถามเหล่านี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการวางแผนทางการเงิน สำหรับอนาคต โดยต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว การที่จะให้เงินทำงานสร้างรายได้ให้กับเราได้นั้นก็คือ การลงทุน แต่ก่อนที่จะถึงขั้นนั้น ก็ต้องอาศัยกลวิธีต่างๆในการเก็บออม ซึ่งวิธีการต่างๆ มีดังนี้
- กำหนดเป้าหมาย
การกำหนดเป้าหมายจะช่วยให้เรารู้ว่าเราจะออมเงินเท่าไหร่และเพื่ออะไร จากการวิจัยพบว่าการตั้งเป้าหมายที่ตื่นเต้น ท้าทาย จะทำให้เรามีแรงผลักดันในการพยายามเก็บหอมรอมริบ เช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะมีเงินล้านภายใน 3 ปี หรือจะมีเงิน 10 ล้าน ภายใน 10 ปี รวมถึงการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณของตัวเอง หรือการติดภาพรถหรือบ้านในฝันที่ต้องการครอบครองเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น
- ออมก่อนใช้ทีหลัง
การออมก่อนใช้เป็นหลักการจัดการการเงินสากลที่ใช้ได้ผลกันมาแล้วทั่วโลก เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ใช้ก่อนเหลือเท่าไหร่ค่อยออม เผื่อมีเรื่องจำเป็น สุดท้ายแล้วจึงมักใช้เงินเกินความจำเป็นเสียทุกเดือน จนเกิดภาวะเงินไม่พอใช้ หรือใช้เงินเดือนชนเดือน ไม่เหลือให้ออมสักที แต่การออมก่อนใช้คือการหักเงินส่วนที่จะออมเก็บเข้าไว้ในบัญชีเลย แล้วจึงนำเงินที่เหลือมาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน
เมื่อถึงต้นเดือน คุณมักจะจัดการการเงินโดยหักเงินค่าใช้จ่ายตายตัวต่างๆออกก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต ค่าน้ำค่าไฟ แล้วเหลือเท่าไหร่ค่อยใช้ ให้เปลี่ยนวิธีเป็นหักเงินจำนวนที่จะออมไปเก็บไว้ในบัญชีเงินฝาก กองทุนรวม หรือซื้อทองคำ แล้วเหลือเท่าไหร่ค่อยใช้ เพียงเท่านี้คุณก็จะเป็นคนที่ออมก่อนใช้ และสานฝันทางการเงินได้เร็วกว่าคนที่ใช้ก่อนออมแล้ว
- เริ่มเร็ว
แน่นอนว่าการเริ่มต้นก่อนย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เริ่มเร็วกว่าก็มีโอกาสรวยเร็วกว่า ซึ่งก็เป็นไปตามหลักดอกเบี้ยทบต้น ดังนั้นเริ่มเร็ว ที่หมายถึงเริ่มเลย ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มอย่างก็เพียงทำตามขั้นตอนที่ให้ไว้ตั้งแต่ต้นเท่านั้นเอง
- ตัดรายจ่าย เพื่อเพิ่มรายได้
แม้จะบอกว่าเพิ่มรายได้ แต่จริงๆก็คือรายได้เท่าเดิม เพียงแต่จัดการใหม่โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง คนจำนวนมากที่รายได้ไม่พอใช้จ่าย มักให้เหตุผลว่ามีรายจ่ายที่จำเป็นอยู่เต็มไปหมด เท่านี้ก็แทบชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว จะเหลือที่ไหนไปออม วิธีการเบื้องต้นคือ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เห็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จะได้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้
ข้อนี้เป็นวิธีที่แนะนำกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่หากคิดว่าไม่มีรายจ่ายใดที่สามารถตัดออกไปได้เลย ลองรวบรวมรายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายตายตัวดู เช่น ค่าสังสรรค์กับเพื่อน ค่านวดผ่อนคลาย ค่าดูหนัง ค่าเดินทางท่องเที่ยว รายจ่ายเหล่านั้นสามารถลดทอนลงได้ทั้งสิ้น เพียงแค่คุณพยายามหักห้ามใจ เช่น หยุดเดินห้าง หยุดท่องเที่ยวสักพัก แล้วคุณจะแปลกใจกับเงินที่เหลือเก็บ
- หาการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง
การลงทุนนั้นมีหลายแบบทั้งแบบความเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง และความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำ โดยพิจารณาว่าการลงทุนแบบใดที่เหมาะกับคุณ หากคุณเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือแทบจะไม่ได้เลย คุณอาจเริ่มต้นด้วยการออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำ หรือพันธบัตร ซึ่งเน้นการคืนเงินต้นเต็มจำนวน พร้อมผลตอบแทนตามที่กำหนด
หากคุณรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง อาจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ และหากคุณรับความเสี่ยงได้สูงมาก ก็มีการลงทุนมากมายให้เลือกทั้งในตลาดหลักทรัพย์ ทองคำ หุ้นกู้ กองทุนรวม ฯลฯ