วิธีรับมือ หนี้ กยศ. สำหรับเด็กจบใหม่ ทำอย่างไร ?
หนี้ กยศ. ถือได้ว่าเป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กจบใหม่มากมาย และต้องเริ่มใช้หนี้ กยศ. จากเมื่อสมัยเรียน ซึ่ง กยศ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มอบโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนด้อยโอกาสมาตั้งแต่ปี 2538 แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจ และการเงินกระทบ แม้กระทั่งนักเรียน นักศึกษา ทำให้มีการออก พ.ร.บ. กยศ. ปรับเปลี่ยนการขอกู้ การใช้หนี้ ให้ตอบรับกับบริบทสังคมปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งเด็กจบใหม่ที่เริ่มก้าวเข้าสู่วงการทำงานแบบเต็มตัว จะมีวิธีรับมือกับ หนี้ กยศ. อย่างไรบ้าง ไปชมกันเลย
พ.ร.บ. กยศ. อัปเดตใหม่ 2566
เป็นพระราชบัญญัติที่ออกมาเพิ่มข้อกำหนดที่ชัดเจนมากขึ้นจาก พ.ร.บ. ฉบับปี 2560 โดยหนึ่งในเหตุผลที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน และเพิ่มเติม พ.ร.บ. กยศ. อย่างรวกเร็วในครั้งนี้ก็ไม่พ้นสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงบุคคลทั่วไปอาจเข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น พร้อมกับเศรษฐกิจโดยรวมทั่วประเทศที่หยุดชะงัก ทำให้หลาย ๆ คนไม่มีทุนทรัพย์ในการจ่ายค่าเรียน จึงได้ออกมาเป็น พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อให้กู้ กยศ. ได้ง่ายขึ้น
How to รับมือ กยศ. สำหรับเด็กจบใหม่
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเป็น หนี้ ก็ย่อมต้อง จ่ายคืน ดังนั้นเมื่อเรากู้ยืมเงินจากทางรัฐบาลเพื่อมาศึกษาเล่าเรียน ครั้งเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ต้องใช้คืน ซึ่งเด็กจบใหม่ทุกคนก็ต้องเริ่มวางแผนทางการเงินไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ชีวิตไม่ติดขัดจนเกินไปนั่นเอง โดยพอจะสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
เช็คยอดเงินที่ต้องชำระรายเดือน/รายปี
เพื่อให้วางแผนจัดสรรเงินชำระหนี้ให้ง่ายขึ้น และรู้ว่าต้องชำระหนี้ในแต่ละงวดเป็นจำนวนเท่าไร โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1% ต่อปี (ยกเว้นปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย) จากยอดเงินกู้คงเหลือ และหากมีการผิดนัดชำระหนี้ จะมีเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งคิดจากยอดเงินที่ค้างชำระในแต่ละปีที่ 7.5% ต่อปี
โดยทาง กยศ. จะคำนวณตารางการชำระหนี้มาให้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องคำนวณเองให้ยุ่งยาก ว่าในแต่ละปีเราต้องจ่ายเท่าไหร่แบบขั้นบันไดจนครบ 15 ปีตามสัญญา โดยจะแจกแจงเงินต้น และดอกเบี้ยไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันก็สะดวกขึ้นด้วยแอปพลิเคชัน กยศ. Connect ทั้งระบบ iOS และ Android ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบ รวมถึงชำระหนี้ได้ผ่านช่องทางออนไลน์
เลือกชำระตามความเหมาะสม
- การชำระหนี้แบบรายเดือน เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกัน เพราะสามารถทำได้ง่ายโดยการจัดสรรเงินจากเงินเดือนหรือรายได้ในแต่ละเดือนเพื่อมาชำระหนี้ แต่ข้อเสีย คือ เราต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจ่ายหนี้ทุกเดือน
- การชำระหนี้แบบรายปี มีข้อดี คือ ไม่เสียค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ข้อเสีย คือ เราต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในแต่ละปี ซึ่งบางคนที่วางแผนการชำระหนี้ไม่ดีพอ อาจไม่มีเงินทุนสำหรับชำระหนี้ก้อนนี้ ทำให้ผิดนัดชำระและต้องเสียค่าปรับในที่สุด
สามารถผ่อนผันได้
หากว่าเกิดเหตุไม่คาดฝัน ติดขัดทางการเงิน ทำให้ขาดรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 8,008 บาท หรือเป็นผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ รวมถึงคนที่มีความจำเป็นต้องดูแลคนในครอบครัวที่ชราภาพ ป่วย หรือพิการ ซึ่งจะสามารถผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 1 ปี ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้จะไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย โดยที่ไม่เสียเบี้ยปรับ และค่าธรรมเนียมในการผิดนัดชำระหนี้
สำหรับ หนี้ กยศ. ถือเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างถูก และอำนวยความสะดวกทั้งด้านการแจกแจงการชำระ ไปจนถึงการจ่ายด้วยช่องทางหลากหลาย เราจึงควรวางแผนในการดำเนินการชำระให้ตรง เพื่อที่เงินในส่วนนี้จะไปช่วยเด็ก ๆ ที่ต้องการในภายภาคหน้าต่อไป