รู้ทันกลโกง หนี้นอกระบบ ก่อนตกเป็นเหยื่อ พร้อมวิธีการรับมือฉบับใช้ได้จริง
ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง สภาพคล่องทางการเงินไม่ค่อยจะดี พ่วงมากับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ธนาคารก็ยิ่งทยอยขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนอย่างหนัก ทำให้หลายคนต้องหาหนทางในการหมุนรายได้ให้ทันตามรายจ่ายซึ่งในบางครั้งก็ไม่พอกับรายรับจึงจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ไม่ว่าจะเงินกู้ หรือสินเชื่อต่าง ๆ ยิ่งคนที่ไม่มีรายได้ประจำยิ่งกู้ธนาคารยากจึงเริ่มหาหนทางที่กู้เงินได้เร็ว อนุมัติไวจนนำไปสู่การเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงซึ่งในวันนี้เราจะช่วยให้คุณ รู้ทันกลโกง หนี้นอกระบบ ซึ่งจะมีอะไรน่ารู้บ้าง และต้องรับมืออย่างไร ไปเริ่มกันเลย
เงินนอกระบบ VS หนี้นอกระบบ
เริ่มต้นสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเงินนอกระบบกับหนี้นอกระบบนั้นไม่เหมือนกันซึ่งเราจะสรุปแบบพอสังเขปเพื่อให้ง่ายต่อคุณผู้อ่านเข้าใจ ดังนี้
หนี้นอกระบบ คือหนึ่งในเงินนอกระบบซึ่งในปัจจุบันมีเงินนอกระบบในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น แชร์ลูกโซ่อย่างคดี Forex หรือแม่มณีที่มีการหลอกลงทุนจากการระดมทุนเป็นทอด ๆ รวมถึงการใช้เงินในการทำธุรกิจที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของทางราชการซึ่งทำให้เป็นช่องทางหนึ่งที่ง่ายต่อมิจฉาชีพแฝงตัวเพื่อเข้าไปหลอกเอาเงิน
รู้ทันกลโกง หนี้นอกระบบ
ต่อมาจะเจาะไปที่การกู้นอกระบบ หรือหนี้นอกระบบที่หลายคนรู้จักกันดีนั่นเอง โดยจะเป็นการกู้ที่มีเงื่อนไขจากเจ้าหนี้เพื่อทำการตกลงกับลูกหนี้ซึ่งจะคลุมเครือและไม่ได้มีการควบคุมจากธนาคารแห่งประเทศไทยจึงทำให้ลูกหนี้มีโอกาสสูงที่จะถูกโกง โดยลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดของเงินกู้นอกระบบได้แก่
- ให้ดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่บอกรายละเอียดของว่าดอกเบี้ย 10% คิดเป็นต่อวัน หรือต่อเดือน หรือต่อปี
- สัญญาคลุมเครือ โดยเฉพาะการจ่ายดอกเบี้ยผู้กู้อาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอกในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ๆ แต่มีการเขียนในสัญญาแบบคลุมเครือ หรือระบุเงื่อนไขไม่ชัดเจน
- ใช้ระบบฝากขาย ผู้กู้จะโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าหนี้ ถ้าจ่ายไม่ทันเจ้าหนี้จะใช้สิทธิ์ตามสัญญาเพื่อยึดทรัพย์
- ทวงหนี้แบบมหาโหด ซึ่งมีได้หลายรูปแบบ ได้แก่ การก่อกวนความสงบ โทรศัพท์ข่มขู่ หรือแม้กระทั่งทำร้ายร่างกาย หรือนำทรัพย์ที่มีอยู่ไปโดยไม่ได้รับอนุญาต
ตัวอย่างการกู้เงินนอกระบบ
นาย B ที่กำลังเดือดร้อนเรื่องเงินต้องการเงินก้อนนำไปหมุนเวียนใช้ในครัวเรือนจึงได้ทำการค้นหาในเว็บไซต์โดยพบว่า นาย A เป็นผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบซึ่งไม่จัดเป็นผู้ให้กู้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่มีการโฆษณาน่าสนใจว่าถ้าหากกู้ 10,000 บาทจะผ่อนเพียงวันละ 150 บาทเท่านั้นทำให้นาย B สนใจและได้ทำสัญญาโดยไม่ได้อ่านรายละเอียดเงื่อนไขทั้งหมดอย่างละเอียดและเข้าใจส่งผลให้หลังจากนาย B ได้รับเงิน นาย A ได้คิดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืม ดังนี้
ยอดเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายคืน = 150×90 = 13,500 บาท ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ย = 13,500-10,000 = 3,500 บาท และอัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อ 3 เดือน = (3,500+10,000)x100 = 35% ต่อ 3 เดือน แต่ถ้าหากคิดเป็นปีอัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อปี = (35/3)x12 = 140% ต่อปี
โดยมีข้อสังเกตก็คือ จำนวนเงินจ่ายคืน หรือดอกเบี้ยที่นายทุนเงินกู้แจ้งต่อผู้กู้นั้นมักจะมาในอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้ผู้กู้รู้สึกว่าจำนวนน้อยกว่าสถาบันการเงิน หรือธนาคาร แต่พอหากนำไปคำนวณจริง ๆ จะพบว่าดอกเบี้ยที่ถูกเรียกเก็บนั้นสูงกว่าสถาบันการเงินและธนาคารที่มีทางการกำกับดูแลเป็นจำนวนมาก
ดังตัวอย่างที่อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายต่อ 3 เดือนสูงถึง 35% และหากคิดเป็นปีดอกเบี้ยสูงถึง 140% ต่อปีซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก
ตัวอย่างสัญญาอำพรางเงินกู้
จะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นายทุนมักจะให้ผู้กู้ใช้บัตรผ่อนสินค้า หรือบัตรเครดิตซื้อาินค้าที่มูลค่าแพงกว่าเงินกู้ เช่น หากต้องการกู้เงิน 20,000 จะให้ซื้อสินค้ามูลค่า 26,000 บาท เมื่อสินค้านายทุนเงินกู้จะให้ผู้กู้นำสินค้านั้นมาแลกกับเงินกู้จำนวน 20,000 บาทแล้ว ผู้กู้จะต้องรับผิดชอบชำระสินค้ากับค่าสินค้ากับบริษัทบัตรผ่อนสินค้า หรือบัตรเครดิตพร้อมทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ โดยนายทุนเงินกู้จะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการปล่อยกู้เงินในครั้งนี้เพราะทันทีที่จ่ายเงินไปให้กับผู้กู้นายทุนเงินกู้จะได้รับสินค้ามูลค่าสูงกว่าเงินที่จ่ายให้ผู้กู้ไป
ป้องกันกลโกงเงินกู้นอกระบบได้อย่างไร
ต่อมาจะเป็นการวิธีการที่จะช่วยให้เราป้องกันกลโกง หรือหยุดวงจรก่อนก่อหนี้โดยมีวิธีการ ดังนี้
- ให้วางแผนรายรับรายจ่ายล่วงหน้าโดยให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างวินัยไม่ให้ก่อปัญหาด้านการเงินที่ไม่พอใช้จนนำไปสู่การก่อหนี้
- จากนั้นให้ประเมินความสามารรถในการชำระเงินก่อนก่อหนี้ โดยอย่าคิดแค่ว่าจ่ายได้แต่ให้เริ่มต้นมาจากการคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะมีเงินเหลือพอจะใช้หนี้ในอนาคตหรือไม่ หากจะมีการก่อหนี้
- จากนั้นศึกษารายละเอียดเงินกู้จากผู้ให้กู้เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินที่อาจเกิดจากสัญญาที่ถูกระบุไว้อย่างคลุมเครือโดยควรตรวจสอบรายละเอียดจำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยที่จะต้องผ่อนว่ามีอัตราเท่าไร คิดแบบรายวัน รายเดือน หรือรายปี
- แนะนำให้กู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่มีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้องในระบบดีกว่าเพราะให้รายละเอียดชัดและมีความเป็นธรรมมากกว่า
สิ่งที่ควรทำหากตกเป็นเหยื่อเงินกู้นอกระบบ
จากข้างต้นหากคุณไม่สามารถกลโกงของเงินกู้นอกระบบจนตกเป็นเหยื่อแล้วกำลังประสบปัญหาที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยสูง ผู้กู้ควรหาแหล่งเงินกู้ในระบบมาชำระคืน แต่หากไม่สามารถทำได้ยอมขายสินทรัพย์บางมาเพื่อชำระหนี้แล้วแต่ยังไม่สามารถคืนได้หมด แนะนำให้เข้ามาขอคำปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ โทร. 1359
- ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร. 0-2575-3344
- ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ตู้ ป.ณ. 1 ปณฝ. มหาดไทย กรุงเทพฯ โทร. 1567
จากข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดก่อนจะรู้ทันกลโกง หนี้นอกระบบก็ต้องเริ่มมาจากการทำความเข้าว่าเงินนอกระบบมันคืออะไรซึ่งได้มีการอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าหนี้นอกระบบคือหนึ่งในเงินนอกระบบที่สามารถสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ที่กู้ยืมได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงจริง รวมไปถึงการติดตามทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง
แม้จะมีวิธีป้องกันกลโกงหลายรูปแบบที่เริ่มได้ง่าย ๆ จากการสร้างวินัยทางการเงินในการบริหารจัดการไม่ให้เป็นหนี้ หรือไปกู้เงินจากในระบบ แต่ก็อาจจะทำได้ยากในคนบางกลุ่มจนนำไปสู่การกู้หนี้นอกระบบที่กำลังส่งผลกระทบตามมามากมายและหลายคนก็อยากหลุดพ้น