คนที่อยู่ตัวคนเดียวนั้นจะบริหารเงินให้เข้าที่เข้าทางก็ว่ายากแล้ว แต่ก็ยังง่ายกว่าคนมีคู่ เพราะคนมีคู่นั้นจะต้อง บริหารเงิน ร่วมกัน เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอในครอบครัว ยิ่งถ้ามีลูกด้วยแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากมีปัญหาเรื่องการเงินควรมีครอบครัวเมื่อสถานะทางการเงินมั่นคงก่อน แต่สำหรับคนที่มีครอบครัวแล้ว เราก็มีวิธีการ บริหารเงิน ฉบับครอบครัวมาฝากกัน
เมื่อมีครอบครัวภาระค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น ทำให้หลายคู่มีปัญหากับการบริหารเงิน เพราะไม่รู้ว่าจะบริหารเงินอย่างไรดีถึงจะทำให้พอใช้พอจ่ายได้ ดังนั้นวิธีการบริหารเงินสำหรับคนมีคู่ ได้แก่
แบ่งเงินออกเป็น 3 บัญชีหลัก
เมื่ออยู่เป็นครอบครัว แน่นอนว่าการใช้จ่ายเงินนั้นจะต้องใช้ร่วมกัน ใครทำงานได้เท่าไหร่ก็ต้องนำเงินเข้ากองกลาง แต่หากจะเก็บเงินไว้ในบัญชีเดียวอาจทำให้ขาดอิสระในการใช้จ่ายเงินไป ทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นเรามาแบ่งเงินออกเป็น 3 บัญชีหลักกันดีกว่า 3 บัญชีดังกล่าวมีอะไรบ้าง มาดูกัน
บัญชี1 : บัญชีฉัน
บัญชีที่ 1 บัญชีของฉัน นี่คือบัญชีเงินส่วนตัวของตัวเราเองนั่นเอง แน่นอนว่าเมื่อหาเงินมาได้ก็ต้องเอาเข้าบัญชีกองกลาง แต่ก็ต้องมีเก็บไว้ในบัญชีส่วนตัวด้วยเหมือนกัน เพราะเราก็ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวบ้าง เผื่ออยากจะซื้ออะไร อยากได้อะไร ก็ได้สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาในภายหลัง แต่ก็ใช่ว่าเราจะเก็บเงินไว้ในบัญชีส่วนตัวมากกว่าบัญชีกองกลางนะ ควรเก็บเงินเข้าบัญชีกองกลางไว้มากกว่า อาจเก็บไว้ในบัญชีส่วนตัว 30% และบัญชีกองกลาง 70% ก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ และยังได้ใช้เงินได้อย่างมีอิสระมากขึ้น
บัญชี 2 : บัญชีเธอ
ในทางกลับกัน คู่ชีวิตของคุณก็ควรมีบัญชีส่วนตัวของเขาหรือเธอ โดยเงินในบัญชีส่วนตัว เป็นเงินส่วนที่เหลือจากการหักเข้าบัญชีกองกลางเช่นกัน
บัญชี 3 : บัญชีกองกลาง
แนะนำให้กำหนดตัวเลขในการหักเข้าบัญชีกองกลางเป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายนึงมีรายได้มากกว่า ก็ต้องนำเงินเข้าบัญชีเป็นจำนวนมากกว่าเพื่อความยุติธรรม โดยเงินบัญชีนี้จะเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าเล่าเรียนของลูกโดยเฉพาะ ห้ามนำออกมาใช้จ่ายส่วนตัวเป็นอันขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาเงินขาดมือและจะนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวได้ ในส่วนของบัญชีกองกลางนี้ก็ควรแบ่งออกเป็น 4 ส่วนเหมือนกัน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายในครอบครัว
ค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็คือเงินที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าน้ำ ค่ากับข้าว ค่าขนมลูก หรือค่าจิปาถะต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในครอบครัว ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมีจำนวนมากที่สุด เพราะเป็นค่าใช้จ่ายประจำนั่นเอง
ส่วนที่ 2 เงินสำรองฉุกเฉิน
สำหรับส่วนนี้จะเป็นเงินส่วนที่เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่าเงินออมนั่นเอง แน่นอนว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอะไรขึ้นกับครอบครัว ดังนั้นการเตรียมเงินฉุกเฉินไว้ก่อนจะดีที่สุด โดยแบ่งเก็บสะสมไว้เรื่อยๆ และห้ามนำออกมาใช้เด็ดขาด หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ
ส่วนที่ 3 ค่าใช้จ่ายเฉพาะ
บัญชีนี้เป็นบัญชีที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องจ่ายแน่นอน เพียงแต่ยังมาไม่ถึง แต่เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโตจึงต้องเก็บแยกไว้ เมื่อถึงวันที่ต้องจ่ายจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องเงินไม่พอ เงินส่วนนี้ได้แก่ ค่างวดบ้าน ค่าเทอมลูก ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายประจำและเป็นเงินก้อน
ส่วนที่ 4 บัญชีเพื่ออนาคต
สำหรับส่วนนี้จะเป้นบัญชีเพื่ออนาคตหรือบัญชีวัยเกษียณ แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว รายได้ย่อมลดลงหรือหมดไป หากไม่ได้เป็นข้าราชการที่จะได้บำเหน็จบำนาญ ดังนั้นจึงควรเก็บเงินในส่วนของวัยเกษียณไว้ เพื่ออนาคตวัยเกษียณที่มั่นคงและสุขสบาย
ที่กล่าวมาเป็นแนวทางการบริหารเงินเพื่อครอบครัว ผู้ที่ประสบปัญหาการเงิน หรือไม่รู้จะบริหารเงินเพื่อใช้จ่ายในครอบครัวอย่างไร ลองนำไปใช้เป็นแนวทางดู แล้วปัญหาค่าใช้จ่ายในครอบครัวจะหมดไป