จ่ายบัตรเครดิตได้ช้าสุดกี่วัน จะโดนดอกเบี้ยเท่าไร ทำยังไงให้ไม่เป็นหนี้เกินตัว
บัตรเครดิต เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ดี ถ้าเราใช้อย่างมีวินัยก็จะช่วยให้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อีกด้วย แต่ปัญหาก็คือหากเราไม่ชำระเงินตามยอดที่ธนาคารแจ้ง หมุนเงินไม่ทัน ก็จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะหนี้บัตรเครดิตในที่สุด หรือบางคนขี้ลืม ก็อาจทำให้บางครั้งก็จ่ายช้ากว่ากำหนดโดยไม่ได้ตั้งใจ วันนี้เราจึงจะขอพาทุกคนไปหาคำตอบกันว่า จ่ายบัตรเครดิตได้ช้าสุดกี่วัน โดนดอกเบี้ยเท่าไร ทำไงให้ไม่เป็นหนี้เกินตัว และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราจ่ายช้ากว่ากำหนด จะแก้หนี้ยังไงดี
จ่ายบัตรเครดิตได้ช้าสุดกี่วัน
การใช้บัตรเครดิตไม่นับว่าเป็นการขอสินเชื่อซะทีเดียว ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการที่เราเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน แล้วค่อยจ่ายคืนให้ธนาคารทีหลังก็ตาม แต่ถ้าเราจ่ายเงินแบบเต็มยอดเมื่อใบแจ้งยอดบัตรเครดิตมาถึง หรือถึงกำหนดเวลาจ่ายเรียบร้อยแล้ว ธนาคารก็จะไม่คิดดอกเบี้ย และไม่นับว่าเป็นหนี้สิน สำหรับคนที่อาจจะมีปัญหาทางการเงิน หรือเป็นคนขี้ลืม คำถามที่น่าสนใจก็คือจ่ายบัตรเครดิตได้ช้าสุดกี่วัน
คำตอบขึ้นอยู่กับว่าตอนที่เราไปสมัครใช้บัตรเครดิต เราได้ขอกำหนดวันชำระค่าใช้จ่ายในวันไหน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัด อย่างเช่น เราจะเงินเดือนออกวันที่ 30 ของทุกเดือน ธนาคารก็จะให้เราเลือกว่าจะตัดยอดบัตรเครดิตวันไหน และกำหนดชำระวันไหน ถ้าเราเลือกตัดยอดบัตรเครดิตวันที่ 20 ของทุกเดือน กำหนดชำระค่าบัตรเครดิตส่วนใหญ่ก็จะไม่เกินวันที่ 5 ของเดือนถัดไป และจะใช้วันเหล่านี้ในการกำหนดการตัดยอด และการชำระบัตรเครดิตเหมือนกันทุกเดือน
กรณีลืมเป็นบางครั้ง
เราขอพูดถึงกรณีของคนขี้ลืมกันก่อน สมมุติว่าเพื่อน ๆ ลืมชำระเงินคืนประมาณ 2-3 วัน โดยปกติแล้วก็จะเริ่มมีพนักงานโทรมาติดต่อสอบถามว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า ลืมชำระบัตรเครดิตหรือไม่ เพื่อเตือนให้เรารีบไปชำระก่อนที่มันจะถูกคำนวณเป็นหนี้สิน ไม่ใช่การติดตั้งทวงถามหนี้ แต่บางเจ้าก็อาจจะโทรมาทวงถามหากเราลืมชำระเงินประมาณ 1 สัปดาห์เหมือนกัน ระยะเวลาการโทรถามของผู้ให้บริการแต่ละเจ้าเลยไม่เหมือนกัน
หากเราชำระเงินคืนช้ากว่าวันที่กำหนดไปประมาณ 2-3 วัน ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะธนาคารจะไม่คิดดอกเบี้ย หรือปรับค่าล่าช้า เท่ากับว่าเรายังไม่เป็นหนี้ ไม่มีการคิดดอกเบี้ย เมื่อชำระเงิน ก็สามารถชำระได้ตามใบแจ้งยอดเลย ยิ่งถ้าเรามีประวัติการชำระเงินดีมาโดยตลอดอยู่แล้ว บางทีเจ้าหน้าที่อาจมีการให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษได้ด้วย
เพราะฉะนั้น เวลาที่เจ้าหน้าที่โทรมา อย่าเพิ่งตกใจ ให้เราแจ้งเหตุผลไปก่อนว่าเพราะอะไรเลยจ่ายเงินคืนช้า อย่างเดินทางไปต่างจังหวัด เดินทางไปต่างประเทศ เงินเดือนยังไม่เข้า เพราะมีการจ่ายล่าช้ากว่าที่กำหนดเอาไว้ ถ้ามันเป็นเหตุผลที่สามารถเข้าใจได้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เจ้าหน้าที่ก็จะมีการช่วยเหลือยกเลิกดอกเบี้ย รวมถึงค่าปรับล่าช้าให้กับเรา
เมื่อขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทันกำหนดจ่าย
แต่ในกรณีของคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่จะแตกต่างออกไปนิดหน่อย ถ้ามีประวัติการชำระเงินคืนล่าช้าตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป โดยส่วนใหญ่ธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ย และมีค่าปรับด้วย ดังนั้นถ้าได้เงินเดือน ค่าจ้างต่าง ๆ มาเรียบร้อยแล้ว ก็ขอแนะนำว่าให้รีบเอาไปจ่ายค่าบัตรเครดิตก่อนเป็นอันดับแรก เพราะยิ่งทิ้งไว้นาน ทั้งดอกเบี้ย ค่าปรับ รับรองว่าจะพุ่งขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ ตามเวลาที่เราทิ้งเอาไว้ รู้ตัวอีกทีอาจกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ก็ได้เหมือนกัน
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราจ่ายบัตรเครดิตช้าเกินกำหนด
เมื่อพูดถึงการจ่ายบัตรเครดิตช้ากว่ากำหนด หลายคนต้องกังวลเรื่องประวัติบนเครดิตบูโรแน่นอน สำหรับคนที่ชำระเงินคืนช้าประมาณ 2-3 วัน หรือว่าช้าไปไม่เกิน 30 วัน บัญชีเครดิตบนฐานข้อมูลเครดิตบูโร สถานะของเราจะยังคงปกติอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราชำระเงินคืนช้าเกิน 30 วันขึ้นไป มันก็จะขึ้นประวัติสถานะคืนเงินล่าช้าตามมา ถ้าเราคืนเงินล่าช้าเกินกว่า 90 วัน มันก็จะกลายเป็นหนี้ NPL หรือหนี้เสียนั่นเอง ตรงจุดนี้จะกลายเป็นความด่างพร้อยในประวัติการชำระหนี้ของเรา เวลาจะขอกู้เงินในอนาคต โอกาสที่ธนาคารจะอนุมัติเงินก็จะน้อยลงกว่าเดิม
นอกจากนี้ มันยังมีประเด็นเรื่องดอกเบี้ยด้วย คนที่ก้าวเข้าสู่วงการบัตรเครดิตมาหมาดๆ อาจประมาทกับดอกเบี้ยบัตรเครดิต แต่ใครที่เคยโดนมาเล่นงานมาก่อนจะรู้ซึ้งดีเลยว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ยังไม่รวมถึงค่าปรับที่เราจ่ายเงินล่าช้าอีกต่างหาก บอกเลยว่าจากเงินหลักพันอาจพุ่งสูงกลายเป็นหลักหมื่นได้ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวกันเลยทีเดียว
ทำไมไม่ควรจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ
ถ้าเราไม่อยากมีประวัติเสียบนเครดิตบูโร หลายคนก็เลือกที่จะจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำไปก่อน เพราะถึงแม้ว่าเงินส่วนที่เหลือจะกลายเป็นหนี้สินที่ถูกนำเอาไปคำนวณดอกเบี้ย แต่อย่างน้อยประวัติบนเครดิตบูโรของเราก็จะขึ้นสถานะปกติดี แถมยังไม่โดนค่าปรับเวลาจ่ายล่าช้าอีกต่างหาก
แต่ความจริงแล้วการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำถือเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะหนี้บัตรเครดิตของหลายๆ คนเหมือนกัน ถึงมันจะดีกว่าการหยุดชำระหนี้ไปเลยดื้อๆ แต่มันก็ไม่ถือว่าเป็นทางออกที่เข้าท่าสักเท่าไหร่ สำหรับใครที่ไม่เห็นภาพ เราขอยกตัวอย่างเป็นตัวเลขชัดๆ อย่างเช่น บัตรเครดิต A ดอกเบี้ย 25% ต่อปี จ่ายขั้นต่ำ 10% จากยอดในแต่ละเดือน
– เดือนที่ 1 ยอดบัตรเครดิต 5,000 บาท จ่ายขั้นต่ำ 500 บาท ยอดหนี้ที่ถูกนำเอาไปคำนวณดอกเบี้ย 4,500 บาท
– เดือนที่ 2 ยอดบัตรเครดิต 7,000 บาท จ่ายขั้นต่ำ 700 บาท ยอดหนี้ที่ถูกนำเอาไปคำนวณดอกเบี้ย 6,300 บาท
– เดือนที่ 3 ยอดบัตรเครดิต 3,000 บาท จ่ายขั้นต่ำ 300 บาท ยอดหนี้ที่ถูกนำเอาไปคำนวณดอกเบี้ย 2,700 บาท
เท่ากับว่าในเดือนที่ 1 เรามีหนี้สินที่ถูกนำเอาไปคำนวณดอกเบี้ยทั้งหมด 4,500 บาท ต่อมาในเดือนที่ 2 ยอดนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 6,300 บาท และเดือนที่ 3 เพิ่มขึ้นไปอีก 2,700 บาท รวมยอดหนี้สินทั้งหมดตลอด 3 เดือนเท่ากับ 13,500 บาท เป็นจำนวนหนี้สินที่ยังไม่ได้รวมดอกเบี้ย ถ้ารวมดอกเบี้ยแล้ว แต่ละเดือนเราจะมีหนี้สินตามนี้
– เดือนที่ 1 4,500 บาท ค้างชำระ 3 เดือน ดอกเบี้ยเป็นเงิน 281.25 บาท
– เดือนที่ 2 7,000 บาท ค้างชำระ 2 เดือน ดอกเบี้ยเป็นเงิน 291.67 บาท
– เดือนที่ 3 2,700 บาท ค้างชำระ 1 เดือน ดอกเบี้ยเป็นเงิน 56.25 บาท
รวมดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 3 เป็นเงิน 629.17 บาท ทำให้ยอดหนี้สินของเราใน 3 เดือนรวมดอกเบี้ยแล้วเท่ากับ 14,129.17 บาท นี่เป็นเพียงแค่การคำนวณดอกเบี้ยของหนี้บัตรเครดิตแค่ 3 เดือนเท่านั้น ลองคิดดูว่าถ้าเราจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ และมียอดใหม่เพิ่มขึ้นทุกเดือน 1 ปีจะกลายเป็นยอดหนี้สินเท่าไหร่ รับรองเลยว่าจากยอดหนี้สินหลักพันในแต่ละเดือน เพียงปีเดียวอาจขึ้นไปถึงหลักแสนได้เลย ยิ่งถ้าเราไม่จ่ายขั้นต่ำแล้วหายไปดื้อๆ ยอดหนี้สินจะยิ่งมากกว่านี้ขึ้นไปอีก
จะเห็นได้ว่า การจ่ายขั้นต่ำจึงไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน แถมมันยังอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมาในภายหลังได้อีกต่างหาก สิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราไม่เป็นหนี้บัตรเครดิต แล้วต้องมานั่งปวดหัวใช้คืนทีหลัง คือการมีระเบียบวินัยทางการเงิน วางแผนการเงินให้ดี ใช้บัตรเครดิตเป็นเพียงอีก 1 วิธีในการจ่ายเงิน อย่าคิดว่าเราได้เงินฟรี หรือเอาเงินจากอนาคตมาใช้สบายๆ เพราะตอนใช้หนี้ รับรองว่าไม่สบายแน่นอน
สรุปแล้ว จ่ายบัตรเครดิตได้ช้าสุดกี่วัน คำตอบก็คือประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีปัญหาทางการเงินจริง เราสามารถจ่ายชำระช้าสุดได้ไม่เกิน 30 วัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อเครดิตบูโร แต่ก็ยังมีผลกระทบเรื่องดอกเบี้ย และค่าปรับการจ่ายบัตรเครดิตล่าช้าอยู่ดี ดังนั้น เราจึงอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ทุกคนวางแผนการเงินให้ดี ใช้บัตรเครดิตอย่างมีสติ เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถใช้บัตรเครดิตได้อย่างคุ้มค่า โดยที่ไม่ก่อให้เกิดหนี้สินตามมาในภายหลังแล้ว