ครม. ยังไม่เคาะขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 2567 ชี้ต้องคำนวณใหม่ และเตรียมยื่นอีกครั้งภายในสิ้นปี
นอกจากประเด็นโครงการเงินดิจิทัล 10000 ก็มีเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีการพูดถึงกันพอสมควร โดยในวันนี้ (12 ธันวาคม 2566) กระทรวงแรงงานได้เสนอที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2567 แต่ถูกตีกลับมาให้พิจารณาใหม่ เป็นเพราะอะไร ทำไมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2567 โดนตีกลับ เราสรุปประเด็นที่น่าสนใจไว้ให้แล้ว
ค่าแรงขั้นต่ำ 2567
ก่อนนี้มีข้อมูลว่าทาง กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอ ครม. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% โดยสูงสุดจะอยู่ที่ 370 บาท/วัน (ภูเก็ต) เพื่อให้ทันกำหนดใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ แต่ในการประชุม ครม. ก็ได้มีการตีกลับ พร้อมเสนอให้คิดสูตรคำนวณใหม่ เนื่องจาก ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ โดยคาดว่าจะมีการประชุมหารือใหม่อีกครั้งภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้
นายกชี้ ให้ทบทวนใหม่ ขึ้นค่าแรงน้อยไป
ก่อนหน้านี้ทางด้านของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว. คลัง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ พร้อมแสดงความไม่พอใจว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เสนอขึ้นมานั้นน้อยเกินไป เทียบกับการซื้อไข่ไก่ยังไม่ได้เลย จึงอยากให้มีการทบทวน และคำนวณใหม่อีกครั้ง โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว. แรงงาน ระบุว่าหากเพิ่มมาเป็น 400 บาท/วันน่าจะเหมาะสมกว่า หลังจากที่ไม่มีการประกาศเพิ่มมากว่า 10 ปี ที่ 300 กว่าบาท/วัน
ข้อดีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- แรงงานมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพิ่มสภาพคล่อง
- ช่วยลดดสัดส่วนแรงงานที่มีฐานะยากจน
- ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่าง ๆ ช่วยให้เศรษฐกิจไม่ติดขัด
ข้อเสียจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- อาจเผชิญภาวะเงินเฟ้อเร็วขึ้น
- ธุรกิจที่มีต้นทุนรายจ่ายเป็นแรงงานค่าจ้างต่ำ จำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะภาพเกษตร
ก่อนหน้านี้ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุไว้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องทยอยเพิ่มทีละนิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากจนเกินไป โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป และทางรัฐบาลควรเพิ่มนโยบายรัฐสวัสดิการ ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ นั่นเอง และสำหรับการขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 2567 หากมีรายละเอียด หรือได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว เราจะนำมารายงานให้ทุกท่านได้ทราบกันอีกึครั้งหนึ่ง